'ซีพี' เดิมพันอาณาจักรล้านล้าน

'ซีพี' เดิมพันอาณาจักรล้านล้าน

รับมือคลื่นเปลี่ยนแปลง เดินเกมรั้งฐานที่มั่นธุรกิจ 2.0 ต่อยอดธุรกิจอนาคต “ไฮสปีดเทรน - ดิจิทัล” ยึดกระเป๋าเงินดิจิทัล อาเซียน

ผ่าวิชั่น เจ้าสัวธนินท์ สานอาณาจักรซีพี วางทายาทกุม 2 ธุรกิจแกร่ง ยุค 2.0 สู่ 4.0 “สุภกิต“ คุมธุรกิจดั้งเดิม ซีพีเอฟ พ่วงค้าปลีกไทย-จีน ขณะ"ศุภชัย"ลุยธุรกิจอนาคต ไฮสปีดเชื่อม3สนามบิน จ่อลงนามก.ค.นี้ ลุยธุรกิจดิจิทัล สู่ผู้นำ"อี-วอลเล็ต“ภูมิภาค ดันองค์กรสู่ปีที่100

2_28

ภายใต้การเปลี่ยนแปลงทางธุรกิจ ที่เคลื่อนที่เร็วใน “ยุค4.0” องค์กรขนาดใหญ่ก็อาจพังพาบหากไม่เตรียมแผนรับมือการเปลี่ยนแปลงอย่างเท่าทัน “กรุงเทพธุรกิจ” ได้จัดทำซีรีย์ตลอดสัปดาห์ “ผ่าแผน 5 อาณาจักรธุรกิจไทย” รับมือความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญนี้ ที่ล้วนมี นักธุรกิจเก๋าเกมกุมบังเหียน เริ่มต้นจาก เครือเจริญโภคภัณฑ์ เป็นตอนแรก

ธุรกิจของเครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือ ซีพี เริ่มต้นเมื่อปี 2464 จากร้านจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ผักบนถนนเยาวราช ที่บิดาของนายธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโส บริษัทเครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด ตั้งขึ้นมาและกลายมาเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ของไทย

\'ซีพี\' เดิมพันอาณาจักรล้านล้าน

\'ซีพี\' เดิมพันอาณาจักรล้านล้าน

\'ซีพี\' เดิมพันอาณาจักรล้านล้าน

เครือเจริญโภคภัณฑ์ มีบริษัทเครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด เป็นบริษัทแม่ทำหน้าที่เป็นโฮลดิ้ง คอมพานี ถือหุ้นบริษัทในประเทศและต่างประเทศรวม 21 ประเทศ โดยมีรายได้ปี 2560 อยู่ที่ 1.74 ล้านล้านบาท มีพนักงาน 306,695 คน

การดำเนินธุรกิจของเครือเจริญโภคภัณฑ์หลายปีที่ผ่านมาวางกลยุทธ์เพื่อเข้าสู่ปีที่ 100 ในอีก 2 ปี ข้างหน้า หรือปี 2564 โดยในปี 2558 นายธนินท์ ประกาศนโยบายความยั่งยืน และนำเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (17 SDGs) มาเป็นมาตรฐานในการดำเนินธุรกิจ
“หัวใจของความยั่งยืนจะทำให้ธุรกิจและสังคมเติบโตไปพร้อมกัน และจะเป็นส่วนสำคัญที่นำพาให้เครือเจริญโภคภัณฑ์ก้าวขึ้นสู่การเป็นองค์กรที่มีอายุ 100 ปี ด้วยความภาคภูมิใจ" นายธนินท์ ระบุในรายงานความยั่งยืนประจำปี 2560

โจทย์สำคัญอีกส่วนในการสร้างความยั่งยืนทางธุรกิจ คือ การพัฒนาบุคลากรขึ้นมาเป็นผู้บริหารในระดับต่างๆ ด้วยการตั้งสถาบันพัฒนาผู้นำ CPLI รวมถึงการที่นายธนินท์ลุกออกจากตำแหน่งสำคัญในเครือเจริญโภคภัณฑ์ เพื่อผลักดันทายาทรุ่นที่ 3

“สุภกิต”คุมค้าปลีกไทย-จีน

วันที่ 25 เม.ย.ที่ผ่านมา มีการแต่งตั้งนายสุภกิต เจียรวนนท์ ลูกชายคนโตของนายธนินท์ เป็นประธานกรรมการบริษัทเจริญโภคภัณฑ์ อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ ซึ่งแกนหลักในธุรกิจอาหาร แทนนายธนินท์ที่ลาออกด้วยเหตุต้องการไปผลักดันภารกิจด้านอื่น
ถัดจากนั้นไม่นาน วันที่ 9 พ.ค.ที่ผ่านมา นายธนินท์ ลาออกจากบริษัท ซีพีออลล์ จํากัด (มหาชน) ซึ่งเป็นเรือธงในธุรกิจค้าปลีก และแต่งตั้งนายสุภกิตดำรงตำแหน่งแทน

ก่อนหน้านี้ นายสุภกิต ขึ้นมาเป็นประธานกรรมการบริษัทเจริญโภคภัณฑ์ แทนนายธนินท์ ที่ขยับไปเป็นประธานอาวุโส รวมทั้งมีบทบาทดูแลธุรกิจในจีนทั้งค้าปลีกและอุตสาหกรรม เช่น Chia Tai Enterprises International Limited , C.P.Lotus Corporation ,Shanghai Kinghill ,Super Brand Mall และการได้ดูแลซีพีออล์ด้วยทำให้ได้ดูแลธุรกิจค้าปลีกทั้งในไทยและจีน

หากดูงาน 2 ตำแหน่งใหม่ของนายสุภกิตถือว่ามีบทบาทสำคัญเมื่อดูจากรายได้ โดยปี 2561 ซีพีเอฟมีรายได้ 541,937 ล้านบาท ในขณะที่ซีพีออล์มีรายได้ 527,860 ล้านบาท รวมแล้วเกินครึ่งของเครือเจริญโภคภัณฑ์

มั่นใจ“สุภกิต-ศุภชัย”รับมือวิกฤติ

ในขณะที่นายศุภชัย เจียรวนนท์ ลูกชายคนที่ 3 ที่รับหน้าที่ดูแลบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ในกลุ่มธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคมมาก่อน มีบทบาทเพิ่มมากขึ้นเมื่อถูกแต่งตั้งเป็นประธานคณะผู้บริหารบริษัทเครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด เมื่อปี 2560 และมีบทบาทสำคัญในการดูแลธุรกิจใหม่ของเครือ

เดิมทีนายธนินท์ มีเป้าหมายจะปรับโครงสร้างผู้บริหารมานานแล้ว โดยนายธนินท์ให้สัมภาษณ์เนชั่นทีวีเมื่อปี 2560 ว่าเริ่มปรับโครงสร้างช้าไป 10 ปี แต่ช่วงนั้นเพิ่งเกิดวิกฤติเศรษฐกิจที่ตัดสินใจเหลือเฉพาะธุรกิจค้าปลีกกับโทรศัพท์ แต่ผ่านวิกฤติมา 20 ปี แล้ว ทำให้นายสุภกิตและนายศุภชัยมีประสบการณ์ และถ้าไม่มีวิกฤตเศรษฐกิจก็คงไม่ทำให้ทั้งคู่มีความรู้ด้านการเงินเท่าปัจจุบัน มาถึงวันนี้เชื่อว่าทั้ง 2 คน มีความพร้อมหากเจอวิกฤตครั้งใหม่

โครงสร้างไม่ยึดธรรมเนียมจีน

นายธนินท์ อธิบายว่า ความแตกต่างของลูกชาย 2 คน คือ นายสุภกิตที่รับหน้าที่ประธานกลุ่มเป็นคนที่มีเพื่อนฝูงสร้างคอนเนคชั่น ในขณะที่นายศุภชัย เป็นซีอีโอกลุ่มก็จะเป็นคนลงรายละเอียดของงาน

“โครงสร้างผู้บริหารใหม่ของซีพี หลังจากนี้จะไม่ยึดตามวัฒนธรรมจีนเดิมที่ให้ลูกชายคนโตเป็นผู้สืบทอด แต่จะเปลี่ยนเป็นการคัดเลือกจากผู้มีความสามารถ เพื่อให้บริษัทเติบโตไม่มีที่สิ้นสุด คนในครอบครัวอาจจะดูแลระบบบัญชี และหาคนเก่งมาบริหาร ซึ่งเป็นระบบของซีพีในปัจจุบันที่มีคุณสุภกิต และคุณศุภชัย เป็นซีอีโออยู่ด้านบน” นายธนินท์ กล่าว

3_15

ในขณะที่ลูกชายอีกคน คือ นายณรงค์ เจียรวนนท์ ได้รับหน้าที่รองประธานอาวุโส เครือเจริญโภคภัณฑ์ รวมทั้งเป็นกรรมการในบริษัทสำคัญของเครือ เช่น ซีพีออลล์ ซีพีเอฟ ทรูคอร์ปอเรชั่น บริษัทสยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) รวมถึงบริษัทซีพีพีซี จำกัด (มหาชน) ที่ทำธุรกิจบรรจุภัณฑ์ให้กับเครือ

ลุย“ธุรกิจใหม่”ลงทุนไฮสปีด

ช่วงรอยต่อที่จะก้าวข้ามองค์กร 100 ปี ได้หาโอกาสในธุรกิจใหม่ โดยประมูล 2 โครงการสำคัญในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) คือ 1.ชนะประมูลรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา) ซึ่งนายศุภชัย เป็นผู้มายื่นซองประมูลด้วยตัวเอง และจะลงนามกับการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เดือน ก.ค.นี้ ช้ากว่ากำหนดเดิมวันที่ 15 มิ.ย.นี้ เพราะติดปัญหาแผนส่งมอบที่ดินและอีไอเอ

2.ยื่นประมูลพัฒนาสนามบินอู่เภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ซึ่งเครือซีพีได้ยื่นศาลปกครองกลางกรณีกองทัพเรือไม่รับพิจารณาเอกสาร 2 กล่องที่ยื่นหลังกำหนดรับซองประมูล

การประมูลรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ใช้บริษัทเจริญโภคภัณฑ์ โฮลดิ้ง จำกัด เป็นแกนหลักของกิจการร่วมค้าในการยื่นประมูล ในขณะที่โครงการอู่ตะเภาใช้บริษัทธนโฮลดิ้ง จำกัด เป็นแกนหลักของกิจการค้าร่วม ซึ่งนายธนินท์มีบทบาทสำคัญทั้ง 2 บริษัท
จุดเสี่ยงหากพลาดอู่ตะเภา

เครือเจริญโภคภัณฑ์ซื้อซองประมูลโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก 3 โครงการ แต่อีก 1 โครงการที่ไม่ยื่นประมูล คือ การพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 โดยเหตุผลที่เลือกยื่นประมูลรถไฟความเร็วสูงและอู่ตะเภา เพราะทั้ง 2 โครงการมีความเชื่อมโยงกัน โดยการที่ยื่นกล่องเอกสารไม่ทันกำหนดเวลา 2 กล่อง อาจะเป็นเหตุให้พ้นจากการประมูล ซึ่งทำให้มีการร้องศาลปกครองกลางเพื่อขอให้กองทัพเรือพิจารณารับกล่องเอกสารทั้งหมด

พันธมิตรเครือเจริญโภคภัณฑ์ที่ร่วมยื่นประมูลรถไฟความเร็วสูง ระบุว่า หากได้สิทธิพัฒนาทั้ง 2 โครงการ จะทำให้การลงทุนมีโอกาสสำเร็จมากขึ้น เนื่องจากทำแผนพัฒนาธุรกิจร่วมกันได้ เช่น แผนการเพิ่มจำนวนผู้โดยสารรถไฟความเร็วสูง ซึ่งเชื่อมต่อผู้โดยสารจากสนามบินอู่ตะเภา

เปิดทางขอแก้สัญญาไฮสปีด

พันธมิตรเครือเจริญโภคภัณฑ์ ระบุอีกว่า หากประมูลได้เฉพาะรถไฟความเร็วสูงจะมีความเสี่ยงทางธุรกิจ เพราะเป็นธุรกิจที่มีจุดคุ้มทุนใช้เวลาถึง 15 ปี รวมทั้งเทคโนโลยีรถไฟความเร็วสูงจะมีความก้าวหน้าเพิ่มมากขึ้น โดยเมื่อลงทุนไปแล้ว 20 ปี จะต้องมีการลงทุนเพื่อรองรับเทคโนโลยีใหม่

ทั้งนี้ ความเสี่ยงทางจากการลงทุนรถไฟความเร็วสูงทำให้ต้องมีการวางแผนรองรับ รวมถึงช่องทางในการแก้ไขสัญญาผ่านกลไกคณะกรรมการกำกับดูแลโครงการรถไฟความเร็วสูง ซึ่งผู้แทนของเครือเจริญโภคภัณฑ์เข้าไปเป็นกรรมการด้วย โดยการแก้ไขสัญญาจะทำได้กรณีมีสถานการณ์ฉุกเฉินหรือสถานการณ์ที่กระทบกับโครงการ เช่น วิกฤติเศรษฐกิจ ภาวะเงินเฟ้อปรับตัวขึ้นรุนแรง ภัยธรรมชาติที่กระทบโครงการ ซึ่งในช่วงสัญญา 50 ปี มีโอกาสเกิดขึ้นแน่นอน

หวัง“ไฮสปีด”เปิดพื้นที่เมืองใหม่

นายศุภชัย บรรยายในงานสัมมนาเครือเจริญโภคภัณฑ์ ที่สถาบันพัฒนาผู้นำเครือเจริญโภคภัณฑ์ เมื่อเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา ว่า รถไฟความเร็วสูงเป็นการลงทุนที่เสี่ยงและผลตอบแทนไม่สูง แต่เป็นหัวใจสำคัญให้เกิดการพัฒนาเมืองที่กระจายความเจริญด้านเศรษฐกิจ สังคมสู่ชุมชน

นอกจากนี้ เข้าไปซื้อที่ดินในอีอีซีแล้ว มีโครงการลงทุนอสังหาริมทรัพย์ที่ชัดเจนเพื่อรองรับอีอีซี คือ การลงทุนของบริษัท ซี.พี.แลนด์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งมีนายธนินท์เข้ามาร่วมดูแลมีชื่อในกรรมการด้วย โดยได้ลงทุนนิคมอุตสาหกรรมซีพีจีซี 3,068ไร่ รองรับการลงทุนอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ การแพทย์ครบวงจร เปิดดำเนินงาน 2563

รวมทั้งลงทุนธุรกิจโรงแรมโรงแรม ฟอร์จูน ซี วิว ต.ปากน้ำ อ.เมือง จ.ระยอง ห้องพัก109 ห้อง มีกำหนดเปิดในปี 2562-2563

“ฟินเทค”ธุรกิจแห่งอนาคต

กลุ่ม“ฟินเทค“เป็นอีก 1 ธุรกิจแห่งอนาคตที่เป็นความหวังของเครือเจริญโภคภัณฑ์เพื่อก้าวสู่ผู้เล่นระดับเอเชีย โดยปี 2559 เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญเมื่อ บริษัทแอสเซนด์ มันนี่ ผู้ให้บริการอี-วอลเล็ตภายใต้ “ทรูมันนี่” ของเครือเจริญโภคภัณฑ์ ประกาศเป็นพันธมิตรกับบริษัทแอนท์ ไฟแนนเชียล เซอร์วิสเซส กรุ๊ป ผู้ให้บริการอี-วอลเล็ต ของกลุ่มอาลีบาบา

ครั้งนั้นนายธนินท์ นั่งเจ็ตส่วนตัวไปจับมือกับแจ็ค หม่า ประธานบริหารอาลีบาบา กรุ๊ป ที่ฮ่องกง ประกาศเป้าหมายเป็นผู้นำฟินเทค และดิจิทัล เซอร์วิส ในเอเชีย และเข้าถึงผู้ใช้กว่า 2 พันล้านคนใน 10 ปี โดยปรับจากฟินเทคไปสู่ฟินไลฟ์ เพื่อบริการชำระค่าสินค้าและบริการต่างๆ

หวังผู้นำ“อีวอลเลต”อาเซียน

นางสาวมณสินี นาคปนันท์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ (ร่วม) บริษัทแอสเซนด์ มันนี่ จำกัด กล่าวว่า ทรูมันนี่เป็นแอพพลิเคชั่นอีวอลเล็ตเบอร์ 1 ในอาเซียนเปิดบริการ 6 ประเทศ คือ อินโดนีเซีย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ กัมพูชา เมียนมาและไทย ยอดธุรกรรมทั้ง 6 ในประเทศ ณ เดือน พ.ค.ที่ผ่านมา มากกว่า 3 แสนล้านบาท มียอดผู้ใช้งานรวม 40 ล้านราย มีพันธมิตรตัวแทนรับชำระเงินมากกว่า 65,000 ราย ส่วนในไทยมีผู้ใช้งาน 10 ล้านราย และตั้งเป้าสิ้นปีนี้จะเพิ่มขึ้นเป็น 14 ล้านราย

นายธัญญพงศ์ ธรรมาวรานุคุปต์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ (ร่วม) บริษัท แอสเซนด์ มันนี่ จำกัด กล่าวว่า ทรูมันนี่วอลเล็ตจะมุ่งสู่กลยุทธ์ออนไลน์ทูออฟไลน์ (โอทูโอ) เน้นขยายฐานสู่บริการออฟไลน์มากขึ้น และจับมือร้านค้าเพื่อรองรับไลฟ์สไตล์การใช้จ่ายยุคสังคมไร้เงินสด ขยายจุดรับชำระเงินในตลาดให้ครอบคลุมมากที่สุด ปัจจุบัน มีจุดรับชำระเงินในตลาดไทยมากกว่า 2 แสนจุด

โมเดลไฮบริดเพย์เม้นท์

นางสาวมนสินี กล่าวว่า ปัจจุบันมีจุดบริการเติมเงินมากกว่า 5 แสนจุดทั่วประเทศทั้งผ่านธนาคาร ร้านสะดวกซื้อ และตู้คีออส จุดเด่นที่ทำให้ครองอันดับ 1 มาจากความง่ายในการใช้งานบริการและมีร้านพันธมิตรรับชำระเงินจำนวนมาก เช่น จ่ายบิล ซื้อของออนไลน์ และที่สำคัญเป็นบริการที่มีอีโคซิสเต็มส์แข็งแรง เฉลี่ยลูกค้าใช้จ่าย 200 บาทต่อทรานแซคชั่น ต่อเดือนเฉลี่ย 7.2 ครั้ง

อย่างไรก็ตาม “แอสเซนด์ มันนี่” นับเป็นธุรกิจใหม่ที่เพิ่งตั้งขึ้นภายใต้ “แอสเซนด์ กรุ๊ป” เป็นบริษัทที่ตั้งเมื่อต้นปี 2558 แยกตัวออกจากกลุ่มทรู หนึ่งในสามผู้ให้บริการโทรคมนาคมรายใหญ่ของไทย และถูกวางสถานะให้แอสเซนด์เป็นบริษัทที่รุกธุรกิจใหม่ในกลุ่มการเงินและอีคอมเมิร์ซ