‘Leadership’ ไม่มีไม่สำเร็จ ‘ธีรีสา มัทวพันธุ์’

‘Leadership’ ไม่มีไม่สำเร็จ  ‘ธีรีสา มัทวพันธุ์’

ภาวะผู้นำ ( Leadership)มีความสำคัญมากในโลกยุคใหม่ แต่กลับพบว่ามีคนจำนวนไม่น้อย “เฟล” ในเรื่องนี้

มีความเป็นผู้นำไม่มากพอ สิ่งที่ตั้งใจทำสุดท้ายจึงไม่สำเร็จ เมื่อล้มเหลวแล้วก็ยังลุกขึ้นมาใหม่ได้ยาก สุดท้ายก็ยอมจำนน ล้มเลิก


แม้ว่ารากฐานจะเป็นเรื่องของ “เทคนิคอล” เนื่องจากเรียนจบระดับปริญญาตรีและโท “วิศวะไฟฟ้า” ที่มหาวิทยาลัยจอร์จ วอชิงตัน สหรัฐอเมริกา แต่เพราะประสบการณ์การทำงานตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาของ "ธีรีสา มัทวพันธุ์" รองผู้อำนวยการด้านยุทธศาสตร์องค์กร สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA ว่าด้วยเรื่องของการบริหารจัดการทั้งสิ้น


ธีรีสา เป็นนักเรียนทุนของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) พอเรียนจบก็บินกลับมาทำงานใช้ทุนจนหมด จากนั้นก็ตัดสินใจกระโจนสู่ภาคเอกชน เพราะเป็นคนที่ชอบการเปลี่ยนแปลง มีความสนใจอยากเรียนรู้ถึงวิธีการทำงานของเอกชน อีกมุมหนึ่งยังถือเป็นการท้าทายตัวเอง ต้องการทำอะไรที่ไม่เคยทำมาก่อน และเธอก็มีโอกาสได้ทำงานในหลากหลายธุรกิจและเป็นงานด้านการบริหารจัดการเช่นกัน


กระทั่งล่าสุดก็วกกลับมาทำงานให้กับ NIA ซึ่งเป็นหน่วยงานภาครัฐอีกครั้ง เพราะมองว่าเป็นองค์กรระดับประเทศที่ทำหน้าที่ผลักดันขับเคลื่อนนวัตกรรม ซึ่งนวัตกรรมถือเป็นหัวใจสำคัญที่จะสร้างผลกระทบและความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นกับประเทศไทย


"ถ้าถามถึงหลักที่ใช้ในการตัดสินใจทำให้กลับมา ต้องบอกว่าจะดูสองส่วน เรื่องแรกคือ ดูว่าตัวเรามีส่วนช่วยสร้างอะไรได้บ้างกับองค์กร สามารถนำเอาประสบการณ์ที่มีมาใช้ทำงานให้ที่ใหม่ได้อย่างไร เพราะตัวเองก็ทำงานมายาวนานเป็น 20 ปี ถึงจุดนี้ก็คงไม่ใช่แค่อยากเรียนรู้อย่างเดียว แต่ต้องอยากสร้างอิมแพ็คด้วย ขณะที่อีกส่วนก็คือเราจะได้อะไร เช่นจะได้ทำอะไรในสิ่งที่ไม่เคยได้ทำหรือเปล่า เราจะเติบโตมากขึ้นอย่างไร ซึ่งไม่ใช่เชิงตัวเงินแน่ ๆไม่เช่นนั้นคงอยู่กับภาคเอกชนต่อ สรุปว่าทุกฝ่ายจะต้องวินวิน"


หน้าที่ความรับผิดชอบใน NIA ของธีรีสา ครอบคลุมทั้งเรื่องหน้าบ้านและหลังบ้าน เป็นทั้งงานด้านกลยุทธ์และโอเปอเรชั่น ถ้าหากเปิดเข้าไปในเว็บไซต์ของ NIA ก็จะได้พบกับวิสัยทัศน์ของเธอซึ่งบอกว่าสิ่งที่อยากเห็นก็คือ สนช.จะต้องเป็นองค์กรที่ Modernize และ Digitize ด้วยการปรับเปลี่ยนตั้งแต่โครงสร้างการทำงานและการบริหารจัดการภายในให้มีนวัตกรรมมากขึ้น รวมถึงเรื่องการทำงานเป็นทีมเวิร์ค ผ่านการสร้างเครือข่ายกับองค์กรและบุคคลภายนอกทั้งต่างประเทศและในประเทศ


เธอเชื่อว่าการทำให้องค์กรเดินหรือเติบโตได้หนีไม่พ้น “ภาวะผู้นำ” เริ่มจากตัวผู้นำที่ถือธงนำก่อน ซึ่งถ้าเป็นบริษัทเอกชนก็คือซีอีโอ หรือกรรมการผู้จัดการทั้งหลายที่เป็นคนคอยกำหนดไดเร็คชั่นจององค์กร อย่างไรก็ดีทุก ๆองค์กรคงไม่อาจฝากชีวิตไว้กับผู้นำแค่คนเดียวได้ แต่ต้องหมายรวมถึงกลุ่มผู้นำ และทีมงานทั้งหมด


"ในมุมของตัวเองก็คือ ผู้นำต้องมีการปรับตัวเองก่อน ต้องเป็นลีดเดอร์ที่ดีก่อน แต่ผู้นำคงทำความสำเร็จเพียงลำพังไม่ได้ต้องมีทีม แต่ตัวผู้นำต้องเป็นคนนำทีมเพื่อทำให้เกิดความสำเร็จ ดังนั้นผู้นำจึงต้องปรับปรุงตัวเองเป็นลำดับแรก ในการทำงานโดยส่วนตัวจะค่อนข้างโฟกัสเรื่องของการสร้างทีม เน้นการสร้างผู้นำทุกเลเวลให้เติบโตขึ้นเป็น Successor เราต้องสร้างองค์กรให้อยู่ได้โดยไม่พึ่งพาคน ๆเดียว รวมถึงต้องสร้างคนที่มาสืบทอดแต่ละตำแหน่ง"


จากประสบการณ์ที่ผ่านมาของเธอ ได้พบว่า “Middle management” เป็นประเด็นร้อนที่มีความสำคัญ เนื่องจากผู้บริหารระดับนี้หลายต่อหลายคนเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่กลับโตต่อไม่ได้ และเหตุผลหลักก็มักมาจากภาวะผู้นำของพวกเขาเติบโตตามไม่ทันกับตำแหน่ง


" ที่จริงเขาเป็นคนเก่ง คนฉลาด ทำงานด้วยตัวเองได้ แต่เขานำทีมไม่ได้ นี่คือปัญหาที่ได้เห็นมา และภาวะผู้นำก็ไม่ใช่แค่การเก่งคนอย่างเดียวแต่มีหลายองค์ประกอบ ทั้งเรื่องของการบริหาร เรื่องของคาแร็คเตอร์ส่วนตัว และไม่เกี่ยวกับอายุด้วย เพราะผู้บริหารบางท่านที่เป็นผู้ใหญ่แล้ว มีความสามารถ มีคนนับถือยกย่อง พูดเก่งแต่กลับบริหารไม่ได้ หรือมีคาแร็คเตอร์บางอย่างที่ทำให้คนที่ได้มาสัมผัสรู้สึกว่าไม่น่าเชื่อถือหรือนำคนไม่ได้ แม้ว่าเขาจะมีตำแหน่งใหญ่โตก็ตาม"


แต่มั่นใจว่าภาวะผู้นำสร้างขึ้นได้ ไม่ว่าจากการศึกษาซึ่งก็มีศาสตร์และทฤษฏีที่ว่าด้วยผู้นำอยู่เป็นจำนวนมาก เธอบอกว่าทุก ๆทฤษฏีก็ล้วนถูกต้องทั้งสิ้น นอกจากนี้ยังมาจากประสบการณ์การทำงาน จากการโค้ช ฯลฯ อย่างไรก็ตามเรื่องนี้ไม่มีสูตรสำเร็จ ใจความสำคัญมันอยู่ที่การ “หยิบจับมาใช้” ได้อย่างถูกต้องและเหมาะสมต่างหาก


"ภาวะผู้นำต้องอาศัยทั้งศาสตร์และศิลป์ในการแก้ปัญหาต่าง ๆ และนำทีม แต่ในความเป็นจริงนั้น ตัวผู้นำก็ต้องมีหน้าที่รับผิดชอบมากมาย จึงควรต้องบาลานซ์และจัดลำดับความสำคัญให้ได้ทั้งเรื่องงาน ทีมและเงิน ไหนจะต้องแก้ปัญหารายวันที่เกิดขึ้น ต้องผลักดันเป้าหมายให้สำเร็จบรรลุ ภาวะผู้นำจึงต้องเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ ไม่ใช่ถึงเวลาหรือพอได้เจอสถานการณ์ต่างๆ กลับคิดไม่ออกว่าจะต้องใช้ทฤษฏีอะไร ต้องทำอย่างไร"


เมื่อให้นิยามของการเป็นผู้นำที่ดี เธอบอกว่า คือผู้ที่มีความรู้ ต้องมีใจ คือมีใจที่จะเปลี่ยนแปลง มีใจต่อผู้คน มีใจที่จะทำงาน มีแพชชั่น จึงจะทำให้งานต่าง ๆขับเคลื่อนต่อไปได้ รวมไปถึงคาแร็คเตอร์ความเป็นตัวตนว่าเป็นคนอย่างไร มีวิสัยทัศน์ กล้าตัดสินใจ น่าเชื่อถือ ไม่มีอคติ ฯลฯ


นอกจากนี้ยังหมายรวมถึง การ “ถ่อมตัว” (Humble) ซึ่งเห็นชัดว่าในวงการสตาร์ทอัพค่อนข้างโฟกัสกับคำ ๆนี้ค่อนข้างมาก ธีรีสา อธิบายว่า มันหมายถึงการลดอัตตาความเป็นตัวตน แม้เป็นซีอีโอหรือเป็นผู้บริหารเบอร์หนึ่ง เบอร์สอง มีเงินเดือนหลักแสน หลักล้านบาท ก็จำเป็นต้องมีเรื่องนี้เพราะมันเปรียบเหมือนน้ำที่ไม่เต็มแก้ว ทำให้เกิดการ “เปิดรับ” เข้าถึงได้ง่ายและถ่อมตัวในเชิงความรู้ ซึ่งถ้าไม่มีคำนี้สตาร์ทอัพก็คงสร้างธุรกิจไม่ได้อย่างแน่นอน เพราะสตาร์ทอัพจำเป็นต้องเรียนรู้อะไรใหม่ๆตลอดเวลา ต้องฟังคำแนะนำจากเมนเทอร์ ฟังวีซี เพระถ้าไม่ฟังคนอื่น ๆก็คงไม่สามารถช่วยได้สุดท้ายก็ไม่สำเร็จ


ความเป็นผู้หญิงมีผลต่อภาวะผู้นำหรือไม่? เธอมองเรื่องนี้ในหลายประเด็น เรื่องแรก โลกการทำงานในเวลานี้เปิดรับผู้นำที่เป็นผู้หญิง ภาพรวมไม่ได้มีการปิดกั้น จะเป็นผู้ชายหรือผู้หญิงก็เป็นผู้นำได้ ขณะที่ความเป็นผู้หญิงก็จะมีคาแร็คเตอร์และจิตใจที่ดูซอฟท์ แตกต่างจากผู้ชายที่ดูแล้วมีความเข้มแข็งกว่า ทำให้ผู้ชายมีภาพว่าน่าจะเป็นผู้นำที่ดีได้


"แต่ถ้ามองผู้หญิงในแง่ของการเป็นแม่คน การดูแลลูกก็จะได้เห็นถึงมิติของความเข้มแข็ง ซึ่งถ้าเอามาใช้กับการทำงานก็จะเป็นผู้นำที่ดีได้ คาแร็คเตอร์ผู้หญิงอาจดูไม่เด็ดขาดเท่าผู้ชาย มีความอ่อนโยนแต่ก็เป็นข้อดี ถ้าเราใช้ให้เป็นคือต้องไม่ใช่อ่อนแอในเวลาที่ต้องเข้มแข็ง หรือเข้มแข็งในเวลาที่ควรต้องซอฟท์ลงมา แต่ในภาพรวมจำนวนผู้หญิงที่เป็นผู้นำยังมีไม่เยอะทำให้การรับรู้ของผู้คนจึงอาจยังมองว่าผู้หญิงยังต้องไปมุ่งด้านครอบครัวมากกว่า แต่จากที่ตัวเองได้เห็นมาก็คือผู้หญิงเก่ง ๆก็ล้วนดูแลได้ดีทั้งงานและครอบครัว"


สำหรับธีรีสานั้น การเป็นผู้นำที่ดี ก็คือความสามารถในการจัด “สมดุล” การเป็นผู้นำไม่แค่เก่งหรือมุ่งเรื่องของงานเพียงอย่างเดียว ในเวลาเดียวกันต้องทำหน้าที่เป็นผู้นำครอบครัว ดูแลคนในครอบครัวให้ดีด้วย การเป็นซีอีโอบริษัทระดับพันล้านแต่หากสร้างสมดุลไม่ได้ เมื่อพบเจอกับปัญหาหลายๆด้านก็อาจรับมือไม่ไหวกระทั่งเป็นโรคซึมเศร้า และมีหลายๆเคสที่ลงเอยด้วยการฆ่าตัวตาย..แทนที่จะสร้างความจดจำในฐานะผู้นำที่ดีกลับกลายเป็นผู้แพ้ที่ต้องจากไป