“เอ-ไทม์” ต่อยอดคอนเทนท์ ยึดทุกแพลตฟอร์มปั๊มรายได้

“เอ-ไทม์” ต่อยอดคอนเทนท์ ยึดทุกแพลตฟอร์มปั๊มรายได้

แม้อุตสาหกรรม “วิทยุ” จะเผชิญรายได้เม็ดเงินโฆษณาที่ “ลดลง” ต่อเนื่อง จากการที่ลูกค้าแบรนด์ยักษ์หั่นงบโฆษณาลงหลากหลายช่องทาง แต่ในมุมของผู้ประกอบการเชื่อว่า การปรับตัวฝ่ามรสุมต่างๆได้ ธุรกิจก็ยังขยายตัวได้ 

โดยผู้ที่คร่ำหวอดในแวดวงวิทยุมานานร่วม 3 ทศวรรษ ทั้ง สมโรจน์ วสุพงศ์โสธร กรรมการผู้จัดการ, สุธาสีสุขพรสินชัย รองกรรมการผู้อำนวยการด้านการตลาด และศิริกาญจน์ วินัยพานิช รองกรรมการผู้อำนวยการด้านการผลิต บริษัท จีเอ็มเอ็ม มีเดีย จำกัด (มหาชน) บริหาร 3 คลื่นวิทยุดังทั้ง กรีนเวฟ 106.5 เอฟเอ็ม , อีเอฟเอ็ม 94 และชิล ออกมาผนึกกำลังการันตีว่าธุรกิจ วิทยุไม่มีวันตาย โดยยกเหตุผลที่ทำให้ผู้บริโภคยังคงฟังเพลงผ่านวิทยุเต็มไปด้วยเสน่ห์ ได้แก่ เพลง” และตามติด ดีเจ” ในดวงใจ

ถ้าคนยังฟังเพลง ยังไงก็ยังฟังวิทยุ และแม้ว่าสตรีมมิ่งหรือการฟังเพลงผ่านออนไลน์ แต่บางครั้งฟังแค่เพลย์ลิสต์อย่างเดียว ก็เหงา ไม่มีคนคุยด้วย การมีดีเจ ถือว่าเป็นเพื่อนคุยกับคนฟัง รวมทั้งวิทยุมีการำเสนอข่าวคราวใหม่ๆ อัพเดทเร็วทุกต้นชั่วโมง สมโรจน์ ย้ำพฤติกรรมการฟังวิทยุของคนไทย

ขณะเดียวกันวิเคราะห์ว่า พฤติกรรมการรับฟังวิทยุ จากเดิมผ่านเครื่องรับ ได้เปลี่ยนแพลตฟอร์มไปยังอุปกรณ์ใหม่ๆมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นคอมพิวเตอร์ มือถือ และสื่อออนไลน์ โดยการรับฟังวิทยุเฉลี่ยอยู่ที่ 52 นาทีต่อคนต่อวัน เพิ่มขึ้นจาก 48 นาทีต่อคนต่อวัน

สถานการณ์ตลาดเปลี่ยน เอ-ไทม์ ต้องปรับตัว เพื่อหาทางสร้างการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยทิศทางจากนี้ไป คือการลุยกลยุทธ์ 360 Media Solutions หรือองศาที่เป็นมากกว่าวิทยุ ด้วยการขยายธุรกิจสู่ 6 เสาหลัก ประกอบด้วย วิทยุ, โชว์บิส และคอนเสิร์ตและอีเวนท์, เว็บไซต์ ออนไลน์, แอพลิเคชั่น, โซเชียลมีเดีย และธุรกิจใหม่ (New Business) เช่น ผู้พัฒนาคอนเทนท์หรือคอนเทนท์ ครีเอเตอร์ เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้า ที่ปัจจุบันจะซื้อสื่อโฆษณาไม่ได้มองแค่ขายสินค้าบนช่องทางเดียวอีกต่อไป แต่มองภาพรวมให้มีความครบเครื่อง เข้าถึงลูกค้ากลุ่มเป้าหมายให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น

“เราต้องการต่อยอดคอนเทนท์จากรายการวิทยุที่มี ไม่ว่าจะเป็นคอนเสิร์ต แพลตฟอร์มออนไลน์ ทำได้หมด อนาคตมีสื่ออะไรใหม่ที่น่าสนใจเราก็จะไป ซึ่งการปรับตัวเข้าสู่ดิจิทัล เราไม่ได้เพิ่งเริ่มทำ แต่ทำมานานแล้ว เนื่องจากมองเห็นพฤติกรรมผู้ฟังวิทยุเปลี่ยนไป เราก็ปรับตัวตาม เช่น ตั้งโจทย์คนฟังเพลงเวลาทำงานผ่านทางไหน พอรู้อินไซต์ว่าฟังผ่านคอมพิวเตอร์ เราก็เริ่มทำการบรอดแคสต์ผ่านสื่อออนไลน์ เป็นต้น”

ทั้งนี้ เสาหลักใหม่ๆที่น่าสนใจ คือต่อยอดแบรนด์และคอนเทนท์ของคลื่นวิทยุรายการฮิตติดลมบน เช่น แฉแต่เช้า, พุธทอล์ค พุธโทร และ อังคารคลุมโปง ฯ มาผลิตเป็นซีรี่ส์ โดยต้องการผลักดันให้เป็น “โปรดักท์ฮีโร่” ตัวใหม่ เพื่อออกอากาศผ่านทางโทรทัศน์ ในรสชาติใหม่ๆ แทน “คลับฟรายเดย์ เดอะ ซีรีส์” ซึ่งถูกโยกไปอยู่ที่ “เช้นจ์ 2561”

รวมถึงนำเสนอรายการผ่านพอดแคสต์ ตอบโจทย์คนผู้ฟังที่ไม่มีเวลาดูภาพ และโซเชียลมีเดีย เช่น ยูทูป เฟซบุ๊คฯ ขณะที่ ดีเจ ยังต่อยอดเป็นผู้ทรงอิทธิพลทางความคิดหรืออินฟลูเอ็นเซอร์ ที่ช่วยให้ลูกค้ามีความคุ้มค่าในการสร้างแบรนด์และศซื้อโฆษณาด้วย

“เราจะนำเรื่องเล่าจากผู้ฟังทางบ้าน มาสร้างเป็นซีรีส์ แล้วออกอากาศทางโทรทัศน์ รวมถึงแพลตฟอร์มอื่นๆ ส่วนการป้อนคอนเทนท์ จะกระจายสู่บริษัทในเครือและนอกเครือในทิศทางอย่างไร ยังเป็นเรื่องบริษัทอยู่ระหว่างการหารือ”

สำหรับภาพรวมเม็ดเงินโฆษณาผ่านวิทยุ 5 เดือนแรก อยู่ที่ 1,758 ล้านบาท ลดลง 4.87% แต่บริษัทยังคาดหวังว่าทั้งปีอุตสาหกรรมจะปรับตัวดีขึ้น แม้ว่าจะมีปัจจัยที่น่าห่วงคือการเมือง กระทบการใช้จ่ายเงินของลูกค้า

อย่างไรก็ตาม จากแผนดังกล่าว บริษัทยังตั้งเป้ารายได้ปีนี้เติบโต 10% จากปีก่อนปิดรายได้ราว 700 ล้านบาท โดยสัดส่วนรายได้จากวิทยุ 70% และไม่ใช่วิทยุ (Non-radio) 30% ขณะที่การรุกสื่อใหม่ๆ คาดว่าจะส่งผลให้สัดส่วนรายได้ใน 3 ปีข้างหน้า วิทยุอยู่ที่ 60% และไม่ใช่วิทยุ 40% ปัจจุบันฐานผู้ฟังวิทยุเครือเอ-ไทม์ผ่านออนไลน์ มีมากถึง 16 ล้านไอดีต่อเดือน มียอดดาวน์โหลดแอพลิเคชั่นเอ-ไทม์ ออนไลน์ 5.5 ล้านดาวน์โหลด เติบโต 20% และมีเป้าหมายเพิ่มยอดดาวน์โหลดไว้ที่ 10 ล้านดาวน์โหลดในอนาคต

“ธุรกิจวิทยุ ยังสามารถเติบโตได้ เพราะจากสถานการณ์แข่งขันในตลาด ยังพบว่ามีผู้เล่นรายใหญ่ราว 10ราย ที่ยังขับเคลื่อนธุรกิจได้รวมถึงมีผู้เล่นหน้าใหม่กำลังฟอร์มทีมเข้ามาทำตลาด ขณะที่การฟังวิทยุในยุคปัจจุบันสามารถฟังได้ทุกที่ ส่วนลูกค้าก็ยังใช้จ่ายเงินเพื่อทำตลาดและโฆษณา ไม่ว่าจะเป็นสินค้าอุปโภคบริโภค ยานยนต์ รวมถึงผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม(เอสเอ็มอี)”