ปตท.ชงบอร์ด 20 มิ.ย.นี้ เคาะเพิ่มงบลงทุน 5 ปี

ปตท.ชงบอร์ด 20 มิ.ย.นี้ เคาะเพิ่มงบลงทุน 5 ปี

ปตท.ชงบอร์ด 20 มิ.ย.นี้ เคาะเพิ่มงบลงทุน 5 ปี จากเดิมตั้งไว้ 1.67 แสนล้านบาท ยังรอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานคนใหม่ กำหนดนโยบายดูแลราคาก๊าซ NGV รับปั๊มนอกแนวท่อหากขาดทุนอาจต้องทยอยปิดกิจการ

นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด(มหาชน) หรือ PTT เปิดเผยว่า ปตท.เตรียมนำเสนอที่ประชุมคณะกรรมการ(บอร์ด)บริษัท ปตท.ในวันที่ 20 มิ.ย.2562 อนุมัติแผนการลงทุนช่วง 5ปี(2562-2566) ของ ปตท.ใหม่ หลังจากได้ประชุม PTT Group Strategic Thinking Session STS 2019 CHANGE for the sustainable future เมื่อวันที่ 14 มิ.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งในส่วนของงบลงทุน 5 ปี เดิมตั้งไว้ที่ 167,114 ล้านบาท (ไม่รวมงบลงทุนระยะยาวในอนาคต หรือ Provision) มีแนวโน้มที่จะต้องปรับงบลงทุนเพิ่มขึ้น หลังจากปีนี้ได้ดำเนินงานมา 6 เดือนแล้ว

“การประชุม STS ยังไม่ได้ข้อสรุป และจะต้องนำข้อมูลเสนอต่อบอร์ด ปตท.อนุมัติรายละเอียดก่อนจึงจะสามารถเปิดเผยได้ รวมถึงการแต่งตั้งโยกย้ายผู้บริหารในเครือปตท.ด้วย ซึ่งจะมีข้อมูลและเหตุผลรองรับอย่างชัดเจน”

ก่อนหน้านี้ นางสาวพรรณพร ศาสนนันท์ ผู้จัดการฝ่ายผู้ลงทุนสัมพันธ์ บริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน)หรือ PTT ระบุว่า ปกติ ปตท.จะมีการทบทวนงบลงทุนเป็นปกติในทุกกลางปี ซึ่งงบลงทุนส่วนใหญ่ มาจากการใช้ลงทุนจริงโดนราว 45 % เป็นการลงทุนธุรกิจก๊าซธรรมชาติ ท่อเส้นที่ 5 และลงทุน LNG เทอร์มินอล แห่งที่ 2

สำหรับงบลงทุนระยะยาวในอนาคต(Provision) ของ ปตท. ตั้งไว้อยู่ที่ 187,616 ล้านบาท สำหรับขยายการลงทุนในธุรกิจหลัก สายโซ่ธุรกิจ LNG และธุรกิจใหม่ New S-Curve เป็นต้น

นายชาญศิลป์ ยังกล่าวถึงสถานการณ์ราคาก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์(NGV)ว่า ปตท.ยังยึดตามมติคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน(กบง.) เห็นชอบให้ ปตท. ทยอยปรับขึ้นราคา NGV กับกลุ่มรถโดยสารสาธารณะ รวม 3 บาทต่อกิโลกรัม(กก.) ซึ่งหลังจากนั้น จะดูแลราคา NGV ให้กับกลุ่มรถโดยสารสาธารณะต่อไปอย่างไรนั้น ก็ขึ้นอยู่กับนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานคนใหม่ด้วย

โดย มองว่า ราคา NGV กลุ่มรถทั่วไป ที่ภาครัฐประกาศลอยตัวราคา และมีแนวโน้มจะขึ้นไปแตะ 16.34 บาทต่อกิโลกรัมตามต้นทุนที่แท้จริงนั้น ถือเป็นระดับราคาที่เหมาะสม

“น้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศต้องปล่อยให้แข่งขันอย่างเสรี ใช้ผู้บริโภคเป็นคนเลือก ซึ่ง NGV มีประโยชน์ต่อรถเมล์ รถขนส่ง รถบรรทุกขนาดใหญ่ การส่งเสริมในส่วนนี้จะโอเคกว่า และจะทำให้เกิดสมดุลในการใช้”

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของสถานีบริการ(ปั๊ม) NGV นั้น ปตท.จะส่งเสริมตามแนวท่อก๊าซ เนื่องจากไม่มีภาระต้นทุนขนส่งและปลอดภัย ส่วนปั๊มนอกแนวท่อก๊าซ ต้องยอมรับว่าหากปั๊มไหนขาดทุนและไม่คุ้มค่าต่อการลงทุนก็อาจต้องปิดตัวลง ซึ่งที่ผ่านมาปั๊ม NGV ได้มีการเสริมธุรกิจอื่นที่ไม่ใช่น้ำมัน(Non-Oil) เพื่อความอยู่รอด

สำหรับมติ กบง. เมื่อวันที่ 19 เม.ย. 2562 เห็นชอบให้ ปตท. ทยอยปรับขึ้นราคา NGV กับกลุ่มรถโดยสารสาธารณะ ได้แก่ รถแท็กซี่ รถตู้ รถโดยสารสาธารณะร่วม ขสมก. และรถโดยสารสาธารณะร่วม บขส. รวม 3 บาทต่อกิโลกรัม(กก.) ซึ่งเป็นการทยอยปรับในอัตรา 1 บาทต่อกก.ทุกๆ 4 เดือน เริ่มตั้งแต่วันที่ 16 พ.ค. 2562 หรือ ไปสิ้นสุด 16 ม.ค.2563 จะส่งผลให้ราคา NGV ปรับขึ้นจาก จาก 10.62 บาทต่อกก. เป็นอยู่ที่ 13.62 บาทต่อกก. ซึ่งยังต่ำกว่าราคา NGV กลุ่มรถทั่วไป ที่ปัจจุบันจำหน่ายอยู่ที่ 15.88 บาทต่อกก.

ทั้งนี้ ข้อมูล ณ 31 ธ.ค. 2561 ปตท. มีสถานีบริการ NGV 430 แห่ง แบ่งเป็นของ ปตท. ลงทุนเอง 326 แห่ง และ เอกชน ลงทุน 104 แห่ง โดย ใน 430 แห่ง เป็นสถานีแนวท่อก๊าซฯ 121 แห่ง

นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า กรณีที่มีผู้ประกอบการNGV เรียกร้องให้ภาครัฐทบทวนนโยบายลอยตัวราคาก๊าซ NGV นั้น มองว่า นโยบายอุดหนุนราคา NGV ไม่ควรมีต่อไป รวมถึงการที่ ปตท.ยังอุดหนุนราคา NGV ให้กับกลุ่มรถโดยสาธารณะด้วย เพราะที่ผ่านประเทศไทยได้ส่งเสริมการใช้มา 20 ปี ในช่วงที่ราคาน้ำมันแพง และก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยยังมีปริมาณสูง แต่ขณะนี้สถานการณ์เปลี่ยนแปลงไป ราคาน้ำมันถูกลง ปริมาณก๊าซฯลดน้อยลงต้องนำเข้าเช่นกัน

“การอุดหนุนราคาดีเซลบี 20 และบี 10 นั้น เกิดจากกองทุนน้ำมันฯ ที่มีการจัดเก็บเงินจากผู้ใช้น้ำมันมาดูแลกัน แต่กรณี NGV ไม่มีการจัดเก็บเงินเข้า ฉะนั้นการนำเงินจากกองทุนน้ำมันฯไปอุดหนุน ก็คงจะทำได้ยาก และการใช้ บี 20 สำหรับรถบรรทุกทั่วไป ยังช่วยให้ต้นทุนค่าความร้อนและค่าใช้จ่ายต่อกิโลเมตรถูกลง”