มทภ.4เชื่อ 'บิ๊กตู่' ควบเก้าอี้กลาโหม เสริมงานดับไฟใต้

มทภ.4เชื่อ 'บิ๊กตู่' ควบเก้าอี้กลาโหม เสริมงานดับไฟใต้

มทภ.4 เชื่อ "บิ๊กตู่" ควบเก้าอี้กลาโหม ช่วยส่งเสริมงานดับไฟใต้ พร้อมเดินสายคุยนักการเมือง แจงนโยบายปิดท่าข้าม ป้องผู้ก่อเหตุ เตรียมเปิดแบบสอบถามชาวบ้าน แย้ง ยูเอ็น-องกรสิทธิมนุษยชน ปมแยกดินแดน

เมื่อวันที่ 18 มิ.ย.62 ที่ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ค่ายสิรินธร จ.ยะลา พล.ท.พรศักดิ์ พูลสวัสดิ์ แม่ทัพภาคที่ 4 กล่าวถึง กรณีกระแสข่าว พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะควบตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ว่า ถือเป็นเรื่องดี เพราะทำให้การขับเคลื่อนงานในภาคใต้รวดเร็วขึ้น ซึ่งท่านเคยเป็นผู้บัญชาการทหาบกมาก่อน ทราบปัญหาในพื้นที่ ในขณะเดียวกันท่านให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติงานมาโดนตลอด หากได้อดีตทหารมานั่งตำแหน่ง รมว.กลาโหม เป็นเรื่องดีแน่นอน

พล.ท.พรศักดิ์ กล่าวต่อว่า การดำเนินการแก้ปัญหาภาคใต้ ในขณะนี้จะใช้กำลังทหารอย่างเข้มข้น โดยการจัดตั้ง ชุดปฏิบัติการกลยุทธ์หมู่บ้านคลุมพื้นที่ เพื่อไม่ให้ ผู้ก่อความไม่สงบปฏิบัติการตอบโต้เจ้าหน้าที่ได้และต้องจัดการไล่ล่ามือฆ่าให้หมดจากหมู่บ้าน ผู้ต้องหาตาม ป.วิอาญา ต้องนำออกมาดำเนินการตามกฎหมาย โดยทำหมู่บ้านสีแดงให้เป็นหมู่บ้านสีขาว ลดความหวาดกลัวกับผู้บริสุทธิ์เพื่อที่จะได้เข้ามาร่วมมือกับรัฐมากขึ้น

สำหรับ นโยบายปิดท่าข้ามบริเวณชายแดนไทยมาเลเซีย ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ก่อการร้ายข้ามเข้ามาก่อเหตุ ในฝั่งประเทศไทยเนื่องจากที่ผ่านมา มีการตรวจพบว่า ผู้ก่อเหตุเดินทางผ่านท่าข้ามเข้ามาก่อเหตุจริง โดยระหว่างนี้จะจัดชุดปฏิบัติการกลยุทธ์ ชุดละ 3-6 คนเฝ้าตรวจ 24 ชั่วโมง ป้องกัน การลักลอบข้ามเข้ามา ซึ่งต้องแลกกันกับการอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนเพียงไม่กี่คนที่ข้ามไปข้ามมาที่อาจจะต้องได้รับผลกระทบกับบูรณภาพแห่งดินแดน ความปลอดภัยของผู้บริสุทธิ์และเจ้าหน้าที่ ส่วนคนที่ต่อต้านส่วนใหญ่อาจจะมีส่วนร่วม กระทำผิดกฎหมาย

ยืนยันว่า การปิดท่าข้ามจะทำในช่วงระยะเวลาหนึ่งไม่ได้ปิดตลอดไป ทั้งนี้ในภาพรวมของยุทธวิธีจะต้องมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบตลอดต้องมีความอ่อนตัวเพราะผู้ก่อเหตุมีความเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา

"ในส่วนของนักการเมือง เชื่อมั่นว่า ว่านโยบายของทุกภาคการเมืองต้องการสันติสุข ผมอยากไปพบทานข้าวกับพรรคการเมืองเพื่อไปคุยกัน โดย จะได้ชี้แจงเกี่ยวกับนโยบายการปิดท่าข้ามบริเวณชายแดน เมื่อตอนนี้มีส.ส.เราก็อยากให้เขามีบทบาท และผมก็อยากคุยกับเขาด้วย เพราะเป็นเพื่อนกัน สิ่งที่สำคัญที่สุดคือประเทศไทยไม่ได้อยู่ แค่ประเทศเดียวเรายังมีองค์กรนานาชาติ มียูเอ็น องค์กรสิทธิมนุษยชนต่างๆ ขณะนี้ยืนยันได้ว่าเราไม่มีการซ้อมทรมาน ขอยืนยันด้วยว่าในการปิดล้อมตรวจค้นจะต้องมีขั้นตอน ไม่ใช่เข้าไปยิงเลย " มทภ.4 กล่าว

พล.ท.พรศักดิ์ กล่าวอีกว่า ได้ให้ศูนย์สันติวิธี กอ.รมน. ภาค 4 ส่วนหน้า ไปจัดเวทีรับฟังความคิดเห็น รวมถึงออกแบบสอบถามให้กับประชาชนในพื้นที่ เพื่อรับฟังความคิดเห็น ว่าต้องการการปกครองแบบไหน ซึ่งจะสะท้อนความคิดเห็นที่แท้จริงของคนในพื้นทีประมาณ 2ล้านคน เมื่อผลออกมาแล้ว จะพูดคุยกับองค์กรระหว่างประเทศทั้ง องค์กรสหประชาชาติ(ยูเอ็น)คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนหรือองค์กรนานาชาติต่างๆ ที่ระบุว่าความต้องการของประชาชนในพื้นที่จังหวัดภาคใต้แบ่งแยกดินแดนนั้นที่แท้จริงแล้วความต้องการของเขาเป็นอย่างไรซึ่งผลสรุปจะแล้วเสร็จประมาณสิ้นเดือนมิถุนายนนี้และจะเปิดเผยให้สาธารณชนได้รับทราบด้วย

"เราเป็นตัวเชื่อมนำข้อมูลเหล่านั้นไปสู่ประธานกรรมการกลางอิสลามทุกคน ตัวแทนภาคประชาชน จากนั้นจะส่งผ่านข้อมูลไปยังองค์กรระหว่างประเทศเช่น ยูเอ็น นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย พูโล บีอาร์เอ็น และส่งไปให้ ดร. ตันสรี อับดุล ราฮีม ผู้อำนวยความสะดวก ทั้งนี้ ท่านได้คุยกับมาราปัตตานี ที่เป็นตัวจริง ลงเป็นบันทึกข้อความและ1 แผ่นดิสก์ ผมก็ได้ส่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและพล.อ.อุดมชัย ธรรมโสรารัชต์ หัวหน้าคณะพูดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็หมดหน้าที่ตน " มทภ.4 กล่าว