เคาะงบบริหารไฮสปีด4พันล้าน

เคาะงบบริหารไฮสปีด4พันล้าน

ร.ฟ.ท.หารือสกพอ. เตรียมลงนามรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน เล็งตั้งหน่วยงานติดตาม-กำกับดูแลไฮสปีดเทรน คาดเริ่มงานภายใน ก.ค.นี้ กพอ. เคาะงบบริหารโครงการตลอดสัญญา 4 พันล้านบาท เฉพาะงบจ้างที่ปรึกษา 1.7 พันล้านบาท

รายงานข่าวจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผยว่า ร.ฟ.ท.เตรียมที่จะลงนามสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา) ในเดือน ก.ค.นี้ หลังจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบร่างสัญญาแล้ว และรอคณะกรรมการนโยบายสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ที่มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน พิจารณารายงานผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ในวันที่ 24 มิ.ย.นี้

เคาะงบบริหารไฮสปีด4พันล้าน

ทั้งนี้ ร.ฟ.ท.อยู่ระหว่างหารือสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เพื่อเตรียมการหลังจาก ครม.เห็นชอบร่างสัญญา โดยหลังจาก ร.ฟ.ท.ลงนามสัญญาร่วมกับกลุ่มกิจการร่วมค้าบริษัทเจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร (กลุ่มซีพี) จะมีการตั้งคณะกรรมการกำกับดูแลโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน และตั้งหน่วยงานเพื่อติดตามและกำกับดูแลโครงการรถไฟความเร็วสูงฯ เพื่อทำหน้าที่สนับสนุนคณะกรรมการกำกับดูแล โดยเริ่มทำงานทันทีที่สัญญาร่วมลงทุนมีผลในเดือน ก.ค.2562

คุมการพัฒนาพื้นที่“ทีโอดี”

สำหรับหน่วยงานดังกล่าวมีหน้าที่รับผิดชอบใน 5 ฝ่าย คือ 1.ฝ่ายก่อสร้างและเดินรถ มีหน้าที่กำกับดูแลการก่อสร้าง การติดตั้งระบบ การทดสอบ และตรวจสอบระบบของโครงการฯ และการดำเนินงานโครงการเกี่ยวกับรถไฟของเอกชน ระดับการให้บริการ และความปลอดภัย ประสานงานการเชื่อมต่อของโครงการฯ กับโครงการสนามบินนานาชาติอู่ตะเภา และดูแลความสอดคล้องของโครงการฯ กับโครงข่ายคมนาคมอื่นที่เกี่ยวข้อง

2.ฝ่ายกำกับดูแลการส่งมอบโครงการแอร์พอร์ต เรล ลิงค์ มีหน้าที่กำกับดูแล และบริหารจัดการการส่งมอบ และโอนสิทธิการดำเนินการโครงการแอร์พอร์ต เรล ลิงค์ ให้แก่เอกชน

3.ฝ่ายกำกับดูแลการพัฒนาพื้นที่เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟและบริการผู้โดยสาร และพื้นที่เชิงพาณิชย์ (TOD) มีหน้าที่กำกับดูแลการก่อสร้างและการดำเนินงาน TOD ของเอกชนให้เป็นไปตามสัญญาร่วมลงทุน เช่น การจ่ายค่าเช่าที่ดินเพื่อพัฒนา TOD การก่อสร้างทางเข้าออกพื้นที่ TOD การประสานงานหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องกับงาน TOD

ดูแลส่งมอบพื้นที่“ซีพี”

4.ฝ่ายกำกับดูแลสัญญา มีหน้าที่กำกับดูแลให้เอกชนปฏิบัติตามสัญญาร่วมลงทุน และสัญญาที่เกี่ยวข้อง รวมถึงหน้าที่ของ ร.ฟ.ท.ตามสัญญา เช่น การกำหนดค่าโดยสาร การจ่ายเงินร่วมลงทุน การแบ่งรายได้เอกชนต่อโครงการ

5.ฝ่ายบริหารจัดการโครงการ มีหน้าที่บริหารจัดการโครงการในภาพรวม ประสานงานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้การดำเนินโครงการฯ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เช่น การส่งมอบพื้นที่โครงการให้กลุ่มซีพี การติดตามผลกระทบสิ่งแวดล้อม การคัดเลือกและจัดจ้างที่ปรึกษาโครงการฯ และการบริหารจัดการภายในหน่วยงานฯ

โดยอำนาจในการบริการและกำกับการทำงานของทั้ง 5 ฝ่าย อยู่ภายใต้การดูแลของผู้อำนวยการโครงการ ซึ่งเป็นผู้แทน สกพอ. (กรรมการและเลขานุการคณะกรรมการบริการสัญญา) รวมทั้งหน่วยงานฯ จำเป็นต้องมีที่ปรึกษาประจำที่มีความเชี่ยวชาญในการกำกับดูแลและบริหารสัญญาอย่างน้อยต้องประกอบด้วย ที่ปรึกษาควบคุมการก่อสร้าง ที่ปรึกษาตรวจสอบ ที่ปรึกษาด้านกฎหมาย และที่ปรึกษาด้านการเงิน โดยให้ สกพอ. และ/หรือ ร.ฟ.ท ร่วมดำเนินการว่าจ้างที่ปรึกษาดังกล่าว

ร.ฟ.ท.นั่งประธานบริหารสัญญา

สำหรับองค์ประกอบการของหน่วยงานฯ ประกอบไปด้วย คณะกรรมการบริหารสัญญา 5 คน คือ 1.ผู้แทน ร.ฟ.ท. (ระดับไม่ต่ำกว่ารองผู้ว่าการ) เป็นประธานกรรมการ 2.ผู้แทน สกพอ.(เลขาธิการ สกพอ.แต่งตั้ง) เป็นรองประธานกรรมการ 3.ผู้แทนกระทรวงคมนาคม เป็นกรรมการ 4.ผู้ทรงคุณวุฒิที่แต่งตั้งโดย สกพอ.เป็นกรรมการ และ 5.ผู้แทน สกพอ.(เลขาธิการ กพอ.แต่งตั้ง) เป็นกรรมการและเลขานุการ

โดยอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการบริการสัญญา มีดังนี้ 1.กำหนดนโยบายของหน่วยงานฯ ในการติดตามและกำกับสัญญาร่วมลงทุน 2.กำหนดแผนการประสานงานกับ ร.ฟ.ท.ในส่วนหน้าที่ของ ร.ฟ.ท.ตามสัญญาร่วมลงทุน 3.กำหนดแผนงานในการกำกับดูแลและตรวจสอบเอกชนคู่สัญญา 4.กำหนดให้ ร.ฟ.ท.เปิดเผยข้อมูลของโครงการฯ และข้อมูลของเอกชนคู่สัญญาให้คณะกรรมการบริหารสัญญา

จ้างที่ปรึกษาบริหารสัญญา

5.จัดจ้างและกำกับดูแลที่ปรึกษาโครงการฯ 6.พิจารณาให้ความเห็นการแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนแก่คณะกรรมการกำกับดูแล 7.รายงานความคืบหน้าหรือปัญหา ข้อพิพาทที่เกิดขึ้นในโครงการฯ ต่อคณะกรรมการกำกับดูแลและ สกพอ. 8.ให้ความเห็นเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในโครงการฯ แก่ ร.ฟ.ท.และ สกพอ. และ 9. ปฏิบัติการอื่นใดเพื่อให้การดำเนินโครงการฯ สำเร็จเป็นไปตามกรอบนโยบายของ กพอ.และสัญญาร่วมลงทุน

นอกจากนี้ ในหน่วยงานฯ ยังกำหนดให้มีเจ้าหน้าที่ 30 คน ประกอบด้วยบุคลากรจาก ร.ฟ.ท.และบุคลากรจาก สกพอ.แบ่งเป็น อัตราประจำ 15 อัตรา ประกอบด้วย เจ้าหน้าที่จาก ร.ฟ.ท. 10 อัตรา เป็นระดับหัวหน้าฝ่าย 5 อัตรา และระดับผู้ช่วยหัวหน้าฝ่าย 5 อัตรา
รวมทั้งมีเจ้าหน้าที่จาก สกพอ. 5 อัตรา ประกอบด้วย ระดับผู้อำนวยการ 1 อัตรา และระดับผู้ช่วยผู้อำนวยการ 4 อัตรา นอกจากนี้ ต้องมีอัตราว่าจ้างชั่วคราวอีก 15 อัตรา

งบจ้างที่ปรึกษา1.7พันล้าน

สำหรับการจัดตั้งหน่วยงานฯ มีกรอบวงเงินค่าใช้จ่ายสำหรับบุคลากรประมาณ 44 ล้านบาทต่อปี รวมทั้งมีอัตราค่าจ้างที่ปรึกษาประจำที่มีความเชี่ยวชาญในการกำกับดูแลและบริหารสัญญา รวม 190 ล้านบาทต่อปี แบ่งเป็น ค่าจ้างที่ปรึกษาในช่วงก่อสร้างระหว่างการถ่ายโอนกรรมสิทธิ์โครงการแอร์พอร์ต เรล ลิงค์ กรอบวงเงิน 100 ล้านบาทต่อปี ช่วงก่อสร้างหลังจากถ่ายโอนกรรมสิทธิ์ 60 ล้านบาทต่อปี และช่วงดำเนินงานรถไฟ กรอบวงเงิน 30 ล้านบาทต่อปี

ทั้งนี้ รวมค่าใช้จ่ายหน่วยงานฯ ข้างต้น หากแบ่งออกเป็นระยะเวลา 50 ปี จะมีค่าใช้จ่ายเกิดขึ้น คือ 1. ช่วงการก่อสร้างโครงการฯ ระหว่างการถ่ายโอนกรรมสิทธิ์โครงการแอร์พอร์ต เรล ลิงค์ (ปีที่ 1-2) กรอบวงเงินประมาณ 150 ล้านบาทต่อปี 2.ช่วงก่อสร้างโครงการฯ หลังการถ่ายโอนกรรมสิทธิ์ (ปีที่ 3-5) แล้วเสร็จ วงเงินประมาณ 110 ล้านบาทต่อปี และ 3.ช่วงการดำเนินโครงการฯ (ปีที่ 6-50) วงเงินประมาณ 80 ล้านบาทต่อปี รวมแล้วเป็นเงิน 4,230 ล้านบาท ถ้าพิจารณาเฉพาะค่าจ้างที่ปรึกษาบริหารสัญญาจะอยู่ที่ 1,730 ล้านบาท