'พลังประชารัฐ' เสือหลายตัวอยู่ในถ้ำเดียวกัน

'พลังประชารัฐ' เสือหลายตัวอยู่ในถ้ำเดียวกัน

กลายเป็นไฟลามทุ่งไปเรียบร้อย สำหรับการเรียกร้องขอเก้าอี้รัฐมนตรี ภายใน “พรรคพลังประชารัฐ” กันเอง หลังมีบางกลุ่มบางก๊วนในพรรคที่มีอำนาจต่อรอง

พยามเดินเกมเพื่อให้ได้ตำแหน่งที่หมายตาไว้ สถานการณ์ในพรรคเลยฝุ่นตลบอบอวล ทั้งที่ บิ๊กตู่ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ลงไปเคลียร์ด้วยการนั่งหัวโต๊ะ ไล่ถามแกนนำแต่ละคนในพรรคแล้วว่า แบบนี้จบไหม แบบนี้จบไหม ตั้งแต่ คืน 11 มิ.ย. ที่ผ่านมา

แต่ที่ไหนได้ คล้อยหลังไปไม่เท่าไหร่ กลับมีการปล่อยข่าว โหมกระพือว่าคนนี้ไม่ดีอย่างนั้น คนนั้นไม่ดีอย่างนี้

จนเลยเถิดกลายเป็นว่าคนที่มองจากภายนอก ต่างเข้าใจไปว่า ใน “พรรคพลังประชารัฐ” เอง ขัดแย้ง แย่งเก้าอี้กันอย่างหนักหน่วง

นั่นก็ไม่รู้ว่าบางคนอกหักจากเก้าอี้หนึ่ง แล้วไปลงตัวที่อีกเก้าอี้หนึ่งหรือไม่ เหตุการณ์เลยออกมาอย่างที่เห็น

เมื่อศึกในของแกนนำในการช่วงชิงเก้าอี้ดูมีทีท่าจะสงบลง คิวถัดมาก็เป็นของขุนพลในแต่ละหัวเมือง ทั้ง อีสานและใต้ ที่ต่างมีเพาเวอร์ในพื้นที่ของตัวเองทั้งสิ้น ออกมาบีบผู้ใหญ่ใน “พลังประชารัฐ” เกลี่ยเก้าอี้ให้คนในโควตามีส่วนบริหารงานบ้าง

สะท้อนได้เป็นอย่างดีถึงการก่อกำเนิดพรรคการเมืองพรรคนี้ ที่มาพร้อมคำว่า “พลังดูด” ที่รวมเอานักการเมืองกลุ่มก้อนต่างๆ มาอยู่ด้วยกัน และนานวันเข้า แต่ละกลุ่มยิ่งค่อยๆ เผยให้เห็นถึงอำนาจและบารมี และอาจมีบางกลุ่มพยามข่มอีกกลุ่มกันเองหรือไม่อย่างไร หรืออาจจะเป็นไปได้หรือไม่ว่า บางกลุ่มกำลังคิดว่าตัวเองกำลังจะใหญ่ในพรรค กำลังจะผงาดมีตำแหน่งตรงโน้นตรงนี้ เลยต้องแสดงอิทธิฤทธิ์ของกลุ่มตัวเองดูสักตั้ง

โดยเฉพาะในช่วงของการจัดสรร โควตารัฐมนตรี อะไรๆ เลยดูจะได้ข้อยุติยากเย็นเสียเหลือเกิน

หรือบริบทภายในพรรคเวลานี้ ภาพที่ปรากฏไม่ต่างกับสุภาษิตคำพังเพยที่ว่า “เสือสองตัวอยู่ในถ้ำเดียวกันไม่ได้” การขบเหลี่ยมเฉือนคมจึงมีให้ได้ยินเป็นระยะ

แต่ในพรรคนั้นคงมีมากกว่าสอง เพราะหากพิจารณาภาพรวมในพรรค แต่ละกลุ่มก้อนล้วนมีแกนนำที่มีศักยภาพด้วยกันทั้งสิ้น มีบริวารว่านเครือ เสบียงกรังก็ใช่จะน้อยหน้าใครที่ไหน จะต่างกันนิดเดียว คงมีข้อติดขัดก็ตรงที่การเข้าถึงผู้ใหญ่

ดังนั้น ตามที่มีข่าวว่า “บิ๊กตู่” จะมาควบตำแหน่งหัวหน้าพรรค โจทย์สำคัญคือจะทำอย่างไรในสภาวะที่พรรคมีแต่ผู้ยิ่งใหญ่จากทุกสารทิศ คอยแผ่บารมีรัศมีอยู่อย่างนี้ จนสภาพการณ์เดินกันไปคนละทิศละทาง

โดยเฉพาะโจทย์ใหญ่ที่สำคัญที่สุดสองข้อ คือ การมีพรรคร่วมมาช่วยบริหารงาน จะส่งผลหรือลดทอนคะแนนนิยมของ “พลังประชารัฐ” หรือไม่อย่างไร เพราะสิ่งที่ได้หาเสียงดูท่าแล้วอาจจะไม่ได้ถูกนำมาใช้ในหลายเรื่อง

และอีกข้อสำคัญ หากมีเหตุให้ต้องเลือกตั้งใหม่ “พลังประชารัฐ” จะมีจุดขายใหม่อะไร กลุ่มก๊วนต่างๆ จะยังอยู่กันครบถ้วนหรือไม่ และจะมีกลยุทธ์ใดที่สามารถโกยคะแนนเสียง ที่อย่างน้อยๆ คงต้องไม่น้อยกว่ารอบนี้ที่ได้ 116 ที่นั่งในสภา