‘เอเอสเอฟ’ ระบาดหนักดันเงินเฟ้อตลาดเกิดใหม่

‘เอเอสเอฟ’ ระบาดหนักดันเงินเฟ้อตลาดเกิดใหม่

“แคปิตัล อีโคโนมิกส์” บริษัทวิจัยระดับโลก คาดการณ์ว่า โรคอหิวาต์สุกรแอฟริกัน (เอเอสเอฟ) ซึ่งทำให้เกิดการกำจัดหมูจำนวนมากในจีนและดันราคาเนื้อหมูในตลาดท้องถิ่นขณะนี้ อาจส่งผลกระทบลุกลามโดยกระตุ้นให้เกิดเงินเฟ้อในตลาดเกิดใหม่แห่งอื่น ๆ

ปัจจุบัน นอกจากไวรัสเอเอสเอฟจะแพร่ระบาดในจีนแล้ว ยังถูกพบในหลายพื้นที่ทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย โปแลนด์ และรัสเซีย

เมื่อเดือนเม.ย. ที่ผ่านมา รัฐบาลจีน แถลงว่า ได้กำจัดหมูไปกว่า 1 ล้านตัว ในความพยายามเพื่อควบคุมการแพร่ระบาด แต่บริษัทผู้เชี่ยวชาญบางส่วน เช่น “ราโบแบงก์” และ “ทีเอส ลอมบาร์ด” คาดว่า จำนวนหมูที่ถูกฆ่าทิ้งในแดนมังกรอาจมากกว่า 100 ล้านตัว

“เงินเฟ้อที่สูงขึ้นจะเป็นผลกระทบที่ชัดเจนที่สุดต่อบรรดาตลาดเกิดใหม่จากสถานการณ์นี้” เจมส์ สวอนสตัน ผู้ช่วยนักเศรษฐศาสตร์ของแคปิตัล อีโคโนมิกส์ระบุในรายงานเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว

สวอนสตัน เสริมว่า หากโรคเอเอสเอฟแพร่กระจายและสร้างความเสียหายรุนแรงขึ้น ก็อาจจะหนุนให้เกิดเงินเฟ้อในหลายพื้นที่ของเอเชียและยุโรปตะวันออก

ผู้เชี่ยวชาญรายนี้ ยกตัวอย่างถึงไต้หวัน กัมพูชา เวียดนาม รัสเซีย โปแลนด์ และโรมาเนียเพราะเนื้อหมูเป็นสัดส่วนค่อนข้างใหญ่ในตะกร้าดัชนีราคาผู้บริโภคในประเทศเหล่านี้อยู่ที่ราว 2% เทียบกับไม่ถึง 1% ในตลาดเกิดใหม่ที่เหลือส่วนใหญ่ และราว 3.5% ในจีน

ข้อมูลจากสำนักสถิติแห่งชาติจีน รายงานเมื่อวันพุธ (12 มิ.ย.) ที่ผ่านมาว่า ราคาอาหารในประเทศทะยาน 7.7% ในเดือนพ.ค. เทียบกับเมื่อปีที่แล้ว เนื่องจากราคาเนื้อหมูเพิ่มขึ้น 18.2% ในช่วงเดียวกัน

แคปิตัล อีโคโนมิกส์ ระบุว่า เงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นในจีนอาจยังดำเนินต่อไป ขณะที่ราคาผู้บริโภคในตลาดเกิดใหม่แห่งอื่น ๆ จะเพิ่มขึ้นอีกราว 0.3% หากราคาเนื้อหมูเฟ้อเพิ่มขึ้นเป็น 15%

“ราคาที่พุ่งขึ้นเมื่อเร็ว ๆ นี้ส่งผลให้ราคาเนื้อหมูในเศรษฐกิจเกิดใหม่เฟ้อขึ้นอีกมากถึง 15%” สวอนสตันระบุ

ขณะเดียวกัน การลดลงของประชากรหมูจะส่งผลกระทบต่อความต้องการถั่วเหลือง ซึ่งเป็นพืชน้ำมันที่ใช้เป็นอาหารสำหรับหมู

สวอนสตัน เตือนว่า “ความเสี่ยงใหญ่กว่า” สำหรับตลาดเกิดใหม่คือ บรรดาผู้ส่งออกถั่วเหลืองอาจเผชิญกับความต้องการที่ลดลงอย่างถาวรสำหรับพืชน้ำมัน เนื่องจากจีนหันมาบริโภคเนื้อหมูน้อยลง

บรรดาผู้เชี่ยวชาญชี้ว่า เนื้อหมูเป็นอาหารหลักในจีน ซึ่งบริโภคเนื้อหมูราวครึ่งหนึ่งของตลาดโลก แต่จำนวนเนื้อหมูที่ลดลงอาจกระตุ้นให้ผู้บริโภคเปลี่ยนไปบริโภคเนื้อสัตว์อื่นแทน

รายงานเมื่อเดือนมี.ค. ที่ผ่านมาของแคปิตัล อีโคโนมิกส์ ระบุว่า การบริโภคเนื้อสัตว์ปีกและเนื้อวัวของจีน เพิ่มขึ้น 2 เท่าตั้งแต่ปี 2513 และมีแนวโน้มที่จะเติบโตขึ้นอีก

“ในอนาคต จีนน่าจะเริ่มบริโภคเนื้อสัตว์ปีกเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกัน อาหารเลี้ยงไก่มีโปรตีนน้อยกว่าอาหารเลี้ยงหมู ดังนั้น หากจีนบริโภคสัตว์ปีกเพิ่มขึ้น ความต้องการถั่วเหลืองและข้าวโพดก็อาจลดลงเรื่อย ๆ” แคปิตัล อีโนมิกส์ระบุในรายงานเมื่อเดือนมี.ค.

มิหนำซ้ำ สงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีนยังส่งผลให้การนำเข้าถั่วเหลืองจากยักษ์ใหญ่เอเชียร่วงลงด้วย

เมื่อปีที่แล้ว การนำเข้าถั่วเหลืองจากสหรัฐของจีนแตะระดับต่ำที่สุดในรอบ 10 ปี นอกจากนั้น ข้อมูลสำนักศุลกากรระบุว่า การนำเข้าถั่วเหลืองรายเดือนเมื่อเดือนก.พ. ที่ผ่านมา ยังลดลงแตะระดับต่ำที่สุดในรอบ 4 ปี หรือร่วง 17% จากปีก่อนหน้า ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการปรับขึ้นภาษีครั้งใหญ่ต่อถั่วเหลืองอเมริกัน