กรมชลฯ พร้อมรับมือฝนตกหนัก หลังอุตุฯเตือน

กรมชลฯ พร้อมรับมือฝนตกหนัก หลังอุตุฯเตือน

กรมชลประทาน ติดตามสถานการณ์ฝนและสภาพน้ำท่าในแม่น้ำสายหลักต่างๆ เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำเป็นไปตามแผนที่วางไว้ พร้อมเตรียมเครื่องจักร-เครื่องมือตามจุดเสี่ยงภัยทั่วประเทศ ให้สามารถใช้งานได้ตลอดเวลา

ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า จากการพยากรณ์สภาพอากาศของกรมอุตุนิยมวิทยาว่าในช่วงวันที่ 16 – 22 มิถุนายน 2562 ประเทศไทยจะมีฝนเพิ่มมากขึ้นและมีฝนตกหนักบางแห่ง บริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ นั้น กรมชลประทาน ได้ติดตามสภาวะอากาศและสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด เพื่อนำข้อมูลมาวิเคราะห์ คาดการณ์สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำและสภาพน้ำท่าในแม่น้ำสายหลักและแม่น้ำสาขาต่างๆ

สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลาง ปัจจุบัน(17 มิ.ย. 62) มีปริมาณน้ำในอ่างฯ รวมกันทั้งสิ้น 38,534 ล้านลูกบาศก์เมตร(ล้าน ลบ.ม.)คิดเป็นร้อยละ 51 ของความจุอ่างฯรวมกันทั้งหมด มีปริมาณน้ำใช้การได้ 14,608 ล้าน ลบ.ม. จะเห็นได้ว่าอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั้งประเทศ ยังสามารถรองรับน้ำได้รวมกันมากกว่า 37,500 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลัก(เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกัน 9,670 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 39 ของความจุอ่างฯรวมกัน มีปริมาณน้ำใช้การได้ 2,974 ล้าน ลบ.ม. ซึ่ง 4 เขื่อนหลัก ยังสามารถรองรับน้ำได้อีกกว่า 15,200 ล้าน ลบ.ม.

ทางด้านแม่น้ำสายหลักต่างๆทั่วประเทศ ยังอยู่ในเกณฑ์ปกติ เฉพาะแม่น้ำเจ้าพระยา ปัจจุบันมีปริมาณน้ำไหลผ่านที่สถานี C.2 อ.เมืองนครสวรรค์ 282 ลบ.ม./วินาที ระดับน้ำต่ำกว่าตลิ่งประมาณ 8 เมตร มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเล็กน้อย และยังคงการระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยาในอัตรา 70 ลบ.ม./วินาที เพื่อรักษาระบบนิเวศ ทั้งในลุ่มน้ำเจ้าพระยาและลุ่มน้ำแม่กลองให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ ส่วนที่ อ.บางไทร มีปริมาณน้ำไหลผ่านประมาณ 79 ลบ.ม./วินาที

ทั้งนี้ กรมชลประทาน ได้ให้โครงการชลประทานทุกแห่งโดยเฉพาะในพื้นที่เสี่ยงภัยน้ำท่วมเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำที่อาจจะเกิดขึ้น ด้วยการกำชับเจ้าหน้าที่ให้เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์น้ำในพื้นที่ของตนอย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งให้ตรวจสอบระบบและอาคารชลประทาน ให้สามารถรองรับสถานการณ์น้ำได้อย่างเต็มศักยภาพ รวมไปถึงการกำจัดวัชพืชไม่ให้กีดขวางทางน้ำ และบริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำต่างๆให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม สอดคล้องกับสภาวการณ์ที่เกิดขึ้นตามแต่ละช่วงเวลา ที่สำคัญได้กำชับให้เตรียมพร้อมทางด้านเครื่องจักรเครื่องมือ และกำลังเจ้าหน้าที่ประจำไว้ตามจุดเสี่ยงภัยน้ำท่วมทั่วประเทศ ที่พร้อมจะเข้าไปปฏิบัติงานได้ตลอดเวลา จึงขอให้ประชาชนติดตามสถานการณ์น้ำในพื้นที่ของตนอย่างใกล้ชิดต่อไปด้วย