สุวิทย์ พฤกษ์วัฒนานนท์ ‘มิว สเปซ’ ไม่หลุดวงโคจร

แม้ว่าโลกของการสื่อสารจะพัฒนาไปไกล สามารถเติมเต็มการใช้ชีวิตยุคดิจิทัลได้หลากหลายมิติ ทว่าการเข้าถึงเทคโนโลยียังคงมีขอบเขตจำกัด และไม่ใช่ทุกคนที่จะหยิบฉวยมาใช้งานได้
สุวิทย์ พฤกษ์วัฒนานนท์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายพัฒนาธุรกิจ บริษัท มิว สเปซ คอร์ป สตาร์ทอัพด้านอวกาศสัญชาติไทย แสดงทัศนะว่า วันนี้โอกาสทางการตลาดของธุรกิจให้บริการด้านดาวเทียมยังคงมีช่องทาง
ไม่ว่าจะเป็นการให้บริการสำหรับพื้นที่ห่างไกล หมู่เกาะ เหมือง การใช้งานเฉพาะทางของธุรกิจการเดินเรือ พลังงาน รวมถึงในพื้นที่อื่นๆ ที่สายเคเบิล หรือไฟเบอร์ยังเข้าไปไม่ถึง
+++ต้องกล้า ‘ลองผิดลองถูก’
สำหรับมิวสเปซ แนวทางธุรกิจหลักๆ ยังคงวางตำแหน่งเป็นผู้ให้บริการด้านเทคโนโลยีอวกาศ ดาวเทียม ธุรกิจการท่องเที่ยวอวกาศ เครือข่ายการสื่อสารไร้สาย(บรอดแบนด์) และบรอดแคสติ้งผ่านดาวเทียม โดยปีนี้ที่จะให้ความสำคัญมากขึ้นคือการนำนวัตกรรมเทคโนโลยีและบริการใหม่ๆ เข้ามาเสริม เพื่อว่าการให้บริการลูกค้าจะทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถเพิ่มความแข็งแรงของสัญญาณ คาปาซิตี้ และบริหารจัดการได้ยืดหยุ่นมากขึ้น
นอกจากนี้ เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาอินฟราสตรักเจอร์โทรคมนาคม รองรับการมาของ 5จี ขณะนี้เริ่มเข้าไปพูดคุยกับทางคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) แล้วว่า จะขออนุญาตทำแซนด์บ็อกซ์นำ 5จีมาปรับใช้สำหรับการพัฒนาเทคโนโลยีภายในยวดยานอัจฉริยะ เช่น ระบบการรักษาความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน กระบวนการขณะนี้อยู่ระหว่างขออนุญาตใช้คลื่นความถี่สำหรับทดลองใช้งาน
ด้านกลุ่มลูกค้าที่โฟกัสประกอบด้วย บริษัทเดินเรือ พลังงาน ผู้ที่ต้องการใช้งานภาพถ่ายดาวเทียม พื้นที่การเกษตร หน่วยงานภาครัฐ และการวางแผนฟื้นฟูหลังจากเกิดเหตุการณ์ภัยพิบัติ
เขาเผยว่า ภาพรวมธุรกิจมิวสเปซมีแนวโน้มเติบโตได้ต่อเนื่อง ปัจจุบันได้รับความไว้วางใจจากลูกค้าที่เป็นองค์กรระดับโลกเช่น นาซ่า ที่เป็นเช่นนี้เนื่องจากมีจุดแข็งสำคัญคือการมีพันธมิตรที่ดีที่ทำให้สามารถเติบโต เข้าถึงตลาด มีทีมงานที่มีความเชี่ยวชาญ และมีความสามารถในการทำวิจัยและพัฒนาภายในองค์กรเองได้
ขณะเดียวกัน มีความกล้าที่จะ “ลองผิดลองถูก” โดยมองว่าหากไม่เริ่มลงมือทำก็คงไม่อาจทราบได้ว่าจะไปได้ไกลมากน้อยแค่ไหน
ส่วนของความท้าทายที่ต้องเผชิญอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ยอมรับว่าคือปัจจัยด้านราคาและต้นทุนที่สูง จึงหวังว่าทางรัฐบาลจะเล็งเห็นถึงความสำคัญในส่วนนี้และเข้ามาช่วยสนับสนุนให้เกิดการแข่งขันอย่างเสรี เพื่อว่าผู้เล่นรายเล็ก รายย่อยต่างๆ จะเข้าไปแข่งขันและแจ้งเกิดได้
+++หวังรัฐเปิดทางแข่งขันเสรี
สุวิทย์ เล่าว่า เริ่มปูทางแผนงานเพื่อการเติบโตในระยะยาวไว้แล้ว อนาคตอันใกล้ภายในปี 2565 จะส่งดาวเทียมของตนเองขึ้นไปในอวกาศ กระบวนการขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจาทำงานร่วมกับผู้ผลิตและผู้ร่วมลงทุน
“หากทำได้สำเร็จจะมีส่วนสำคัญทำให้ต้นทุนของเราถูกลง ควบคุมราคาได้ดีขึ้น สามารถแข่งขันได้ดีขึ้น แน่นอนว่าการให้บริการจะทำได้อย่างเต็มประสิทธิภาพและมีความยืดหยุ่นสามารถปรับเปลี่ยนได้ตามโจทย์ธุรกิจของลูกค้า”
นอกจากนี้ จากปัจจุบันที่มีฐานตลาดอยู่ที่ไทยเป็นหลัก เมื่อมีดาวเทียมเป็นของตัวเองจะสามารถให้บริการในระดับภูมิภาคอาเซียนได้ โดยที่มองไว้มีประเทศฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ด้านรูปแบบธุรกิจคาดว่าน่าจะเป็นการทำตลาดร่วมกับพันธมิตร
อย่างไรก็ตาม แม้จะเริ่มมีฐานลูกค้าในไทยและระดับโลกให้ความสนใจใช้งาน โครงการร่วมกับพันธมิตรมีอยู่ต่อเนื่อง ทว่าระยะเวลา 2 ปีที่ก่อตั้งบริษัทมายังมองตนเองว่า เป็นเพียงช่วงของการเริ่มต้น หลังจากนี้ยังต้องเพิ่มการรับรู้ให้กับตลาด โดยการเข้าร่วมงานอีเวนท์ เทรดโชว์ต่างๆ ล่าสุด ได้รับเชิญให้ร่วมอภิปรายเปิดมุมมองเรื่องการใช้คลื่นความถี่ที่มีอยู่อย่างจำกัดให้มีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุดต่อเศรษฐกิจและสังคม ในงานคอนเนคเทคเอเชีย 2019 ซึ่งจะจัดขึ้นที่สิงคโปร์เร็วๆ นี้
“ตลาดจะเติบโตได้ต้องมีการพัฒนาไปทั้งอีโคซิสเต็มส์ ซึ่งประกอบไปด้วยผู้ประกอบการ ผู้ใช้งาน และผู้ผลิตคอนเทนท์ สำคัญภาครัฐต้องเข้ามาสนับสนุน กำกับดูแลให้เกิดการแข่งขันอย่างเสรี การจัดสรรคลื่นความถี่นอกจากประเด็นการนำเงินเข้ารัฐ ควรคำนึงถึงการสร้างอีโคซิสเต็มส์ ทำให้เทคโนโลยีถูกนำมาใช้และเกิดประโยชน์ได้แบบสูงสุด”
บริษัทตั้งเป้าไว้ด้วยว่า จะทำให้ประเทศไทยมีการรับรู้ในเรื่องของเทคโนโลยีอวกาศมากขึ้น เชื่อว่าความเป็นไปได้มีอยู่สูง ประเมินจากประสบการณ์การรับสมัครงานของบริษัทเองซี่งมีผู้สนใจเข้ามาหลักพันคน
'คนละครึ่ง' ลงทะเบียน 20 ม.ค.นี้ ใครไม่มีสิทธิ์รับเงิน 3,500 บาทบ้าง?
‘เราชนะ’ วันนี้ลุ้น! ครม. อนุมัติหลักเกณฑ์จ่าย 'เงินเยียวยา' 31 ล้านคน
'คนละครึ่งเฟส 2' รอบเก็บตก เคยถูกตัดสิทธิ 14 วัน ลงได้อีกหรือไม่?
'ทรัมป์' ร่วง รีพับลิกันล่ม ประชาธิปไตยรุ่ง
"Weekly Oil" report 18 January 2021
'ตลาดหุ้น' ที่ไหนจะรุ่ง ที่ไหนจะร่วง ในปี 2021