'ทวี' ถามหาความรับผิดชอบ 'กกต.' รับรองส.ส.ถือหุ้นสื่อ

'ทวี' ถามหาความรับผิดชอบ 'กกต.' รับรองส.ส.ถือหุ้นสื่อ

"พ.ต.ท.ทวี" เลขาฯพรรคประชาชาติ ถามหาความรับผิดชอบ "กกต." รับรองส.ส.ถือหุ้นสื่อ

พ.ต.ท.ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ โพสต์ดฟซบุ๊ก มีใจความว่า ตามที่ประธานสภาผู้แทนราษฏรได้ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย 41 ส.ส.ฝั่งรัฐบาล ถือหุ้นสื่อ และมีข่าวว่าพรรคพลังประชารัฐ เตรียมยื่นประธานสภาฯ ส่งศาล รธน. สอบคุณสมบัติ ส.ส. ฝ่ายค้านถือหุ้นสื่อ ประมาณ 20 คนขึ้นไป

จึงต้องเรียกร้องความรับผิดชอบการปฏิบัติหน้าที่ของ กกต. ซึ่งเป็นผู้มีหน้าที่โดยตรงในการจัดการเลือกตั้ง ในการคัดกรองคุณสมบัติ ตรวจสอบผู้สมัครรับเลือกตั้ง ว่ามีลักษณะเป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้ง เป็น ส.ส.หรือไม่ ในกรณี “เป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใด ๆ” ทั้งๆที่หลักฐานจะปรากฏหรือตรวจสอบได้ง่ายจากกระทรวงพาณิชย์ กกต.กลับปล่อยปละละเลยและมิได้มีการวินิจฉัย แต่กลับรับรองให้บุคคลผู้มีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครได้ เป็น ส.ส.และต่อมาได้เข้าไปใช้สิทธ์สำคัญในการเลือกประธานสภาผู้แทนราษฏร รองประธานฯ และ นายกรัฐมนตรี ทั้งที่เป็นผู้มีลักษณะต้องห้ามหรือขาดคุณสมบัติ ถือเป็นโมฆะมาตั้งแต่ต้น ส่งผลให้เกิดความเสียหายและความเชื่อถือของประชาชนต่อการเลือกตั้ง รวมทั้งนำมาซึ่งความขัดแย้งทางสังคม

ทั้งนี้ ประเด็นเรื่อง คุณลักษณะต้องห้ามเป็นผู้สมัคร ส.ส.กรณีเป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นสื่อ ตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 98 (3)
ได้มีคำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งได้พิพากษาคดีกับผู้สมัครไว้เป็นบรรทัดฐาน ตั้งแต่ก่อน วันที่ 24 มีนาคม 2562 ซึ่ง กกต ที่เป็นคู่ความทราบเรื่องดีมาแต่ต้น อาทิ ตาม คำพิพากษาศาลฎีกาเลขที่ 1064/2562,1111/2562,1143/2562 ,1220/2562,1228/2562 ,1234/2562,1322/2562,1356/2562 และ1706/2562 (รวม 9 คำพิพากษา) สรุปว่า
“ในประเด็นการถือหุ้นดังกล่าว แต่เพียงว่า เมื่อผู้สมัครเข้ารับสมัครเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทที่มีวัตถุประสงค์ประกอบกิจการโรงพิมพ์รับพิมพ์หนังสือพิมพ์หนังสือจำหน่ายและจำหน่ายหนังสือพิมพ์ก็ถือว่าขาดคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญ 98 (3) แล้ว”

แม้ผู้สมัคร ไม่ได้ประกอบกิจการโรงพิมพ์ รับหนังสือพิมพ์ พิมพ์ หรือจำหน่ายและออกหนังสือพิมพ์เลยและไม่ว่าจะได้รับใบอนุญาตให้เปิดสถานีวิทยุชุมชนแล้วหรือไม่ก็ตาม เมื่อยังไม่จดทะเบียนเลิกกิจการและยังเป็นผู้ถือหุ้นหรือหุ้นส่วนผู้จัดการอยู่ ย่อมขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามแล้วเช่นกัน”

จึงขอตั้งคำถามถึงความรับผิดชอบต่อหน้าที่ในการจัดการเลือกตั้ง ของ กกต.ว่าชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ในการเลือกตั้งครั้งนี้ กกต.ได้ใช้งบประมาณที่เป็นเงินที่มาจากภาษีอากรของประชาชนมหาศาล เมื่อรวมงบประมาณค่าใช้จ่ายทุกรายการแล้วมีมากกว่า 8,414 พันล้านบาท

ในส่วนของพรรคการเมืองนั้น ตาม พ.ร.บ.พรรคการเมือง ให้มีกิจกรรมส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐและการดำเนินงานขององค์กรอิสระ ซึ่งรวมทั้ง กกต ว่าได้ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายและควบคุมดูแลการเลือกตั้งให้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม หรือไม่อย่างไรด้วย