เผยผู้ป่วย 84 %ยังต้องจ่ายเงินโครงการรักษาฉุกเฉินฟรี

เผยผู้ป่วย 84 %ยังต้องจ่ายเงินโครงการรักษาฉุกเฉินฟรี

มพบ.ร้องสอดขอเป็นจำเลยร่วมกับพณ.กรณีสมาคมรพ.เอกชนฯ ฟ้องศาลปกครองยกเลิกประกาศคุมค่ารักษาแพง ระบุพาณิชย์ต้องกำหนดเพดานราคาสูงสุด ขอร้องสธ.หุบปากอย่าพูดเรื่องราคา ไม่ใช่หน้าที่ คุมแค่มาตรฐานการรักษา

น.ส.สารี อ๋องสมหวัง ผู้จัดการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค(มพบ.) กล่าวภายหลังการเข้ายื่นร้องสอดตามคำฟ้องของสมาคมรพ.เอกชนแห่งประเทศไทยและรพ.เอกชน 42 แห่งที่ขอให้ศาลปกครองให้เพิกถอนประกาศที่กระทรวงพาณิชย์ออกมาในเรื่องการควบคุมค่ารักษาพยาบาลว่า การยื่นร้องสอดเพื่อให้มพบ.และเครือข่ายเข้าเป็นจำเลยร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ เพราะเห็นว่าหากศาลปกครองสูงสุดมีคำตัดสินให้ประกาศเรื่องถูกยกเลิก จะส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคจำนวนมาก เนื่องจากประกาศนี้ในปัจจุบันหากประชาชนพบว่ารพ.เอกชนมีการเก็บค่ารักษาแพงเกินไปสามารถร้องเรียนต่อกระทรวงพาณิชย์ได้ มีโทษปรับถึง 1 แสนบาท อย่างกรณีการนอนรักษาในรพ. 2 คืน ราคา 3 หมื่นแล้วเขาถูกปรับ 1.4 แสนบาทก็จะไม่กล้าคิดแพงอีก

“รพ.ธงฟ้าเป็นมาตรการสมัครใจ ไม่ได้บังคับ ใครจะทำก็ได้ไม่ทำก็ได้ เพราะฉะนั้นไม่ใช่มาตรการแก้ปัญหาราคาแพงทั้งหมด เพราะฉะนั้นอยากเป็นกระทรวงพาณิชย์ทำในภาพรวมด้วย ก็คืออย่างน้อยต้องมีราคาสูงสุด ที่เป็นเพดานห้ามรพ.เอกชนคิดราคาเกินเท่านั้นเท่านี้ไว้ไว้ให้ชัดเจน และอยากเห็นกระทรวงสาธารณสุข(สธ.)ทำหน้าที่เป็นกลาง เพราะการที่รีบออกมาพูดก่อนว่าราคาไม่แพง ทำให้พาณิชย์ไม่กล้าขัดแย้งกับสธ.ชัดเจน และแทนที่พาณิชย์จะเปรียบเทียบปรับได้เองเพราะเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ก็เลือกที่จะส่งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ มันก็บานปลายไปอีกผู้บริโภคก็ไม่มีที่พึ่ง เพราะฉะนั้นสธ.ไม่ควรออกมาให้ความเห็นว่าราคาแพงหรือไม่ แต่ควรบอกเหมือนกรณีรพ.พระราม 2 ว่าห้ามเอาที่จอดรถมาทำอาคารผู้ป่วยนอก หรือรพ.ควรมีมาตรฐานการรักษาอย่างไร ส่วนเรื่องราคาเป็นหน้าที่ของพาณิชย์”น.ส.สารีกล่าว

น.ส.สารี กล่าวอีกว่า ปัจจุบันโรงพยาบาลเอกชนมีการรักษาเกินความจำเป็นและเรียกเก็บเงิน อย่างเช่น กรณีการรักษาในตามนโยบายเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่ หรือยูเซ็ป(Universal Coverage for Emergency Patients :UCEP)ที่มีการดำเนินการมา 1 ปีกว่า ซึ่งควรจะฟรี แต่ พบว่า 84 % ถูกเรียกเก็บเงินด้วยเหตุผลว่าไม่เข้าข่ายกรณีฉุกเฉิน เพราะฉะนั้นคนที่ไปใช้บริการโครงการนี้ราว 3 แสนคน แต่ 256,000 คนถูกบอกว่าไม่ฉุกเฉินจึงต้องเสียเงิน ข้อเรียกร้องของเราที่มีต่อกระทรวงพาณิชย์ คือ ขอให้รพ.เอกชนเรียกเก็บเงินกรณีที่ประชาชนไปใช้กรณีฉุกเฉิน.เรียกเก็บเงินเท่ากับอัตราที่สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ(สพฉ.)จ่าย หรือ 3 กองทุนประกันสุขภาพร่วมกันจ่าย