Frontier Research กำหนดอนาคตประเทศไทย

Frontier Research กำหนดอนาคตประเทศไทย

ดร.อดิสร สวทช. ทำความรู้จักงาน “วิจัยขั้นแนวหน้า” หรือที่เรียกว่า Frontier Research เครื่องมือสำคัญที่ช่วยเตรียมความพร้อมรับมือการมาของอนาคต ผ่าน 4 โจทย์หลักที่กำหนดโดยสภานโยบายการอุดมศึกษาฯ ตอบโจทย์ความมั่นคงทางอาหาร พลังงานและสุขภาพ

ท่ามกลางการแข่งขันทางธุรกิจที่รุนแรง เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืนไปสู่การเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจฐานความรู้และนวัตกรรม เพื่อช่วยให้หลุดพ้นจากกับดักประเทศรายได้ปานกลาง การที่ประเทศจะสร้างเทคโนโลยีของตนเองให้เกิดขึ้นได้ ก็ต่อเมื่อมีความรู้พื้นฐานทางวิทยาศาสตร์เพียงพอและมีความคิดสร้างสรรค์ที่จะแปลงความรู้นั้นมาเป็นเทคโนโลยี ดังนั้น ประเทศไทยจึงจำเป็นต้องยกระดับความรู้ทางวิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะในสาขาที่เป็นจุดแข็งของประเทศ เพื่อก้าวไปเป็นประเทศที่สามารถสร้างและเป็นเจ้าของเทคโนโลยีเองได้ สามารถตอบสนองความจำเป็นของประเทศและความต้องการของตลาดโลก


ที่ผ่านมา ประเทศไทยยังไม่เคยกำหนดทิศทางและไม่มีแผนงาน “วิจัยขั้นแนวหน้า” หรือที่เรียกว่า Frontier Research ที่มีความเป็นเลิศในระดับโลก การลงทุนด้านนี้จึงมีความจำเป็นเพื่อพัฒนาองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่เหมาะสมกับลักษณะเฉพาะของคนไทย และเพิ่มศักยภาพในการรับมือภัยคุกคามอันเกิดจากการพัฒนาเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลัน รวมทั้งสามารถพึ่งพาตัวเองได้ในยุคที่มีการเชื่อมโยงระหว่างประเทศในทุกมิติทางเศรษฐกิจและสังคม


สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) จึงได้กำหนดยุทธศาสตร์การวิจัยขั้นก้าวหน้าเป็น 4 ด้านได้แก่ 1.อาหารเพื่ออนาคต (Food for the future) 2.การแพทย์และสาธารณสุขขั้นก้าวหน้า (Health Frontier) 3.พลังงานแห่งอนาคต (Future Energy) และ 4. การป้องกันภัยคุกคามและรับมือความเสี่ยงและโอกาสในอนาคต (Future threats and opportunities) โดยมุ่งหวังความเป็นเลิศด้านวิทยาศาสตร์ การค้นพบสิ่งใหม่และการพัฒนาเทคโนโลยีที่ดีที่สุด งานวิจัยที่มีคุณภาพและส่งผลกระทบสูง ซึ่งจำเป็นต้องกล้าฝันและมุ่งมั่นที่จะไปยืนอยู่แถวหน้าของโลกให้ได้ เพื่อตอบโจทย์ว่าจะทำอย่างไรถึงจะมีความมั่นคงทางอาหาร พลังงานและสุขภาพ ทำอย่างไรจึงจะแปลงความมั่งคั่งทางทรัพยากรให้มันเป็นความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ และทำอย่างไรจึงจะเกิดการพัฒนาให้เกิดสังคมที่เป็นธรรมและยั่งยืน


แม้ว่างานวิจัยขั้นแนวหน้าไม่สามารถสร้างให้เกิดขึ้นในระยะเวลาอันสั้น มีความเสี่ยงสูง มีการแข่งขันสูง ต้องใช้งบประมาณมากและใช้เวลานาน แต่ก็มีความจำเป็น ถ้าไม่เริ่มทำในวันนี้ ในอนาคตเราอาจจะไม่มีเทคโนโลยีของตัวเองและต้องพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างประเทศ 100% ด้วยทรัพยากรทั้งเงินและเวลา และบุคลากรวิจัยที่จำกัด


เราคงต้องช่วยกันหางานวิจัยขั้นแนวหน้าที่เหมาะสมกับประเทศไทย ทั้งองค์ความรู้ที่สั่งสมมาอยู่แล้วเป็นพลังขับดันตอนออกตัว และการคาดการณ์อนาคตของเทคโนโลยีที่แม่นยำ รวมทั้งกลไกการบริหารที่คล่องตัวและพร้อมจะปรับเปลี่ยนทิศทางงานวิจัยอย่างรวดเร็ว เมื่อสถานการณ์โลกและเทคโนโลยีเปลี่ยนไป เอาใจช่วยให้เรามีงานวิจัยขั้นแนวหน้าของไทยสักทีครับ

บทความโดย *ดร.อดิสร เตือนตรานนท์ ศูนย์เทคโนโลยีเพื่อความมั่นคงของประเทศและการประยุกต์เชิงพาณิชย์ สวทช.