แกะสูตรแจ้งเกิด"เพจดัง"

แกะสูตรแจ้งเกิด"เพจดัง"

ในวันที่สื่อสังคมออนไลน์ หรือ Social Media เบ่งบาน และกลายเป็นพื้นที่ส่วนกลางให้ผู้บริโภคใช้สื่อสารสองทาง(Two way communication)กับเพื่อนฝูง ศิลปิน คนดัง ตลอดจนแบรนด์สินค้าและบริการมากมายมายแบบไร้พรมแดน 

ความทรงพลังของแพลตฟอร์มสื่อออนไลน์ดังกล่าว ยังทำให้แบรนด์ ผู้บริโภค ผันตัวเองแจ้งเกิดเปิด แฟนเพจ(Fan Page)จนกลายเป็นคนดัง เป็น Influencer กันข้ามคืน

แต่ถ้าคุณไม่ใช่คนดังล่ะ? แล้ววันนี้อยากลุกขึ้นมาทำแฟนเพจสักเพจ ช้าไปไหม?..หรือยังดีกว่าไม่ได้เริ่มต้นลงมือทำ แล้วถ้าอยากทำ หนทางที่จะพบความสำเร็จยังมีพื้นที่ “ว่าง” ให้เพจเกิดใหม่ได้ยืนประดับโซเชียลมีเดีย และครองใจผู้บริโภคที่จะมาเป็นแฟน หรือสาวกติดตามอยู่หรือไม่? 

กรุงเทพธุรกิจ Bizweek พาไปถอดสูตรลึกแต่ไม่ลับ ของบรรดาเพจดังในหมวดหมู่ต่างๆ ว่าอะไรเป็นเคล็ดแห่งความสำเร็จ “ยืนหนึ่ง” บนแพลตฟอร์ม Facebook !!

15 ปีที่แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียผงาดเป็นแพลตฟอร์มสื่อสารอันดับ 1 ของโลก มีผู้ใช้งานมากกว่า 2,200 ล้านคนทั่วโลก และเป็นตัวเลขเกิน 50% ของผู้บริโภคที่ใช้โซเชียลมีเดียทั่วโลก 3,484 ล้านคน(ผลสำรวจ “Global Digital 2019” : We Are Social และ Hootsuite) และแน่นอนว่า “แฟนเพจ” อันดับ 1 ของโลก ก็คือ เฟซบุ๊ค มียอดผู้ติดตามกว่า 214 ล้านราย ตามด้วย ซัมซุงกว่า 159 ล้านราย คริสเตียโน่ โรนัลโด นักฟุตบอลทีมชาติโฟรตุเกส กว่า 122 ล้านราย

กลับมามองที่ไทย Wisesight ซึ่งเกาะติดเก็บข้อมูลโซเชียลมีเดียต่างๆ เผยข้อมูลจำนวนแฟนเพจทั้งแบรนด์ Influencer ในปัจจุบันมีมากถึง 320,000 เพจ เป็นตัวเลขไม่น้อยเลย เมื่อเทียบกับประชากรไทยที่ใช้เฟซบุ๊คราว 53 ล้านราย แต่การเติบโตลดลง 2% กระนั้น การทำเพจก็ยังน่าสนใจ จะเพื่อตอบสนอง Passion ของตัวเอง หรือเพื่อหา “รายได้” ก็ตาม

“การทำแฟนเพจเฟซบุ๊คยุคนี้ไม่ง่ายเหมือนในอดีต แต่ก็ไม่ยาก” มุมมองจาก รัฐธนินท์ ศักดิ์ดำรงรัตน์ บรรณาธิการ และ ผู้ก่อตั้ง เว็บไซต์และเพจ Brand Buffet เพจและเว็บไซต์ข่าวสารการตลาด Top 3

เหตุผลมันก็ดูยาก เพราะปัจจุบันจำนวนแฟนเพจเฟสบุ๊คมีท่วมท้น(Flood) แพลตฟอร์ม แต่ที่ง่าย เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่ายังเห็นเพจหน้าใหม่ “แจ้งเกิด” ได้ ด้วยโมเดล คอนเซ็ปต์ ที่แตกต่าง สามารถสร้างสรรค์เนื้อหาหรือคอนเทนท์แปลกใหม่โดนใจคนอ่าน เช่น เพจทำอาหาร จะต้องทำให้ถึงขั้นสุด เพจข่าวจะต้องเน้นข้อมูลเชิงลึก เป็นต้น

สร้างเพจให้เกิด ทำได้ แต่ต้องควานหาคอนเซ็ปต์ให้เจอ ตรงนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย

ขณะที่เว็บไซต์และเพจ BrandBuffet เสิร์ฟข่าวสารด้านการตลาด งานครีเอทีฟเข้าสู่ปีที่ 7 มีผู้ติดตามเกือบ 5 แสนราย และยืนอยู่แถวหน้าในเพจหมวดหมู่เดียวกัน คนเข้าเว็บไซต์หลัก “ล้านวิว” ต่อเดือน ถือว่าประสบความสำเร็จระดับหนึ่ง แต่กว่าจะมาถึงจุดนี้ ก็ลุ้นและใช้พลังปลุกปั้นไม่น้อย

การเลือกทำเพจข่าวสารการตลาด เริ่มจากมองเห็นช่องว่างและโอกาสทางการตลาด เพราะในยุคที่สื่ออนไลน์ โซเชียลมีเดียคืบคลานเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของผู้บริโภค จึงผลัก Passion ของตัวเอง ประจวบกับความชื่นชอบเสพข่าวสาร งานข่าว จึงผุดเว็บไซต์และแฟนเพจพร้อมกัน

ระยะตั้งไข่เป็นช่วงที่ต้องเรียนรู้เยอะมาก เราทำเว็บไซต์ไม่เป็น ก็ไปเรียนรู้เพิ่มเติมด้วยตัวเอง และไม่หยุดการพัฒนา ศึกษาสิ่งรอบตัว ติดตามเทรนด์ อัพเดทเทคโนโลยี เฟซบุ๊ค ตลอดจน แอพพลิเคชั่นอื่น ตลอดจนสถานการณ์โลกว่าเป็นอย่างไร เขาย้ำการไม่ยอมตกขบวนธุรกิจ

โมเดลธุรกิจเป็นรูปเป็นร่าง สิ่งสำคัญมากคือการรู้เขารู้เรา ตั้งแต่ Positioning รวมถึงคาแรคเตอร์ของเพจจะนำเสนอข้อมูลข่าวสาร คอนเทนท์ด้านไหน การมีแนวทางที่ชัด ทำให้เจอคู่แข่งจะได้ไม่เป๋ หรือทำเนื้อหาสะเปะสะปะหลุดจากการเป็นตัวเอง ที่ขาดไม่ได้คือการรู้จักและเข้าใจ ฐานคนอ่าน ซึ่งเป็นแฟนเพจมีลักษณะประชากรศาสตร์อย่างไร อย่างของ BrandBuffet กลุ่มเป้าหมายหลักเป็นผู้หญิง 54% ผู้ชาย 45% อายุระหว่าง 25-35 ปีมากสุด ตามด้วย 35-44 ปี เป็นต้น

“องค์ประกอบหนึ่งของการทำเพจให้สำเร็จ เราต้องรู้จักฐานคนอ่าน ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายของเรา เพื่อพัฒนาคอนเทนท์ซึ่งเปรียบเสมือนสินค้าไปในทิศทางของแบรนด์ เพื่อเสิร์ฟสินค้าให้ตรงความต้องการ ไม่ใช่แบรนด์ไปทางนี้ คอนเทนท์ไปอีกทาง สุดท้ายเราจะหลุดโฟกัสตำแหน่งทางการตลาดของตัวเอง และปัจจุบันเริ่มเห็นมากขึ้นว่า เราเดินทางนี้แล้วคนอ่านสนใจ คู่แข่งก็จะเลียนแบบเรา บางครั้งอาจไม่ใช่แนวทางออริจินัลของเขา กลับกันหากเราทำตามคู่แข่งก็จะเป็นการไปทับพื้นกัน อาจได้ฐานคนอ่านใหม่แต่อาจเสียฐานคนอ่านเดิม เพราะคนอ่านจะคิดว่า..อ้าว เพจเราเป็นแบบนี้สิ”

หลังจับทิศถูก แม่นกลุ่มเป้าหมาย ราว 1 ปี BrandBuffet เริ่มได้รับความนิยมจากคนอ่าน มีผู้ติดตาม 7-8 หมื่นราย และเติบโตต่อเนื่องตลอด 7 ปีที่ผ่านมา

ปัจจุบันการแข่งขันเพจข่าวสารการตลาดเรียกว่าเป็น Red Ocean ทั้งจำนวนเพจล้นหลาม เนื้อหาที่คล้ายๆกันเต็มไปหมด ดังนั้นสูตรที่ตกผลึกได้ รัฐธนินท์ ยกให้ คอนเทนท์” สำคัญสุด เพราะคือโปรดักท์ตอบสนองกลุ่มเป้าหมาย การโพสต์เนื้อหาไม่เน้นความถี่มากนัก ประมาณ 3-4 ชิ้นต่อวัน เพราะการ Feed คอนเทนท์ถี่ยิบ สุดท้ายอัลกอริธึ่ม จะจำกัดอัตราการมองเห็น และยอด Engagement ทั้ง Like comment share ก็จะแย่งกันเอง

 “ไม่ห่วงช่วงเวลาการโพสต์ แต่ห่วงคอนเทนท์และความสนใจของคนอ่านมากกว่า หากประเด็นคอนเทนท์ดี จะโพสต์กี่โมง ก็ดึงความสนใจคนอ่านได้ เขาบอกและขยายความว่า อย่าเผลอไปโพสต์คอนเทนท์เวลานอนล่ะ เพราะอัตราการเห็นไม่มีอยู่แล้ว

ปัจจุบัน BrandBuffet เป็นที่รู้จักในแวดวงเพจข่าวสารการตลาด แต่เส้นทางธุรกิจ มีสิ่งที่ต้องทำต่อ โดยเป้าหมายของ “รัฐธนินท์” ต้องการเป็นกระบอกเสียง เป็นหนึ่งในพื้นที่สื่อที่ให้ข้อมูล ความรู้ด้านการตลาด งานครีเอทีฟ โฆษณาต่างๆแก่ประชาชนชาวไทยให้นำไปใช้ประโยชน์ได้จริง

อยากส่งเสริมให้คนไทยมีความรู้เยอะๆ ขณะที่ตัวเราเองก็ต้องเรียนรู้และพัฒนาข้อมูล ข่าวสารให้ดียิ่งขึ้นไปเรื่อยๆแบบไม่มีที่สิ้นสุด เป็น Infinity เพื่อให้ฐานแฟนๆที่เข้ามาอ่านรักเราเหนียวแน่น

จากอาชีพสปานิก และเป็นเพียงลูกเพจเกิดใหม่ทั่วไป แล้วคิดมุก 5 บาท 10 บาท ระบายลงบนเฟซบุ๊ค วันดีคืนดี Admin ซึ่งเป็นเพื่อนฝูงคนกันเอง ชวนมาทำแฟนเพจมียอด Like หลัก 1,000 กว่าราย กระทั่ง 3-4 ปีผ่านไป เพจ Buffalo Gags ที่มีคอนเทนท์มุกตลก มุกไม่ฮาพาเพื่อนเครียด สามารถเติบโต 9 ปี มียอดลูกเพจติดตามกว่า 1.1 ล้านราย จักรกฤษณ์ กุสุมาพรรณโญเจ้าของเพจ Buffalo gag เท้าความอดีตโดยย่อ

ฐานแฟนเพจหลัก “ล้าน” กับเวลาเกือบทศวรรษ ในมุมความสำเร็จ จักรกฤษณ์ ถือว่า “ช้า” เพราะอดีตเฟซบุ๊คไม่ได้บูมขนาดนี้ แต่ผลลัพธ์ในฐานะผู้ฟูมฟักเพจ “พอใจเกินคาด”

การทำเพจเล่า เล่น “มุกควายๆ” สำหรับเขาไม่ง่าย เพราะมุกแนวนี้คือความตลกที่ไม่ตลก! เอาซะเลย ช่วงแรกของการ Feed มุกลงบนเพจ เริ่มจากคิดอะไรได้ ก็ปล่อยลงบนเฟซบุ๊ค เล่นคนเดียวไม่ตลก ก็ต้องหาเพื่อนมาช่วยกันเล่น ขบคิดความฮาเรื่อยๆ เพิ่มความกลมกล่อมและ Impact กับสาวก เพราะต้องทำให้มุก มีความตลก จึงกลายเป็นโจทย์ในการทำเพจให้ปังยากขึ้นไปอีก

นอกจากนี้ เวลาตั้งใจ กลั่นกรอง คิดเยอะก่อนคลอดมุกตลกออกมา แต่หลายคราที่ผลลัพธ์กลับไม่ตลก ทำให้ต้องปรับสูตร “ทำไมต้องคิดเยอะ” และหันสังเกตเรื่องราวรอบข้างใกล้ตัว เรื่องง่ายๆ มาเล่น เช่น มุกภาษาท้องถิ่นเพื่อ Localize กับฐานแฟนบางภูมิภาค และที่ผ่านมา ความเป็นโลคัลสร้างความปังกระจายอย่างรวดเร็ว

คนทำมุกตลกมันเครียดนะ..เพราะปัญหาหลักๆคือ คิดมุกไม่ออก ยิ่งเป็นเรื่องมุกแป้ก มุกตลก ล้วนมีข้อจำกัด ถ้าคนอื่นรู้ มุกนั้นจะไม่ตลกแล้ว แต่ถ้ามุกไม่มีอ้างอิงอะไรเลย คิดขึ้นมาคนเดียว รู้สึกคนเดียว แต่คนอ่านก็ไม่ Get ไม่เข้าใจ ทำให้เพจต้องมีการพาตัวเองไปเกาะและอยู่ในกระแส เช่น ช่วงภาพยนตร์ Avengers : End Game มาแรง จึงสรรหามุกมาเกาะแสจนโกยยอด Like comment Share แต่ถ้าอยู่นอกวงโคจรเมื่อไหร่ Engagement ก็หลุดลอยไปด้วย

คิดภาพตามอาจดูดี แต่วิถีของคนทำเพจของ จักรกฤษณ์ ยังเจออุปสรรคมากกว่านั้น โดยเฉพาะการตื่นนอน หากสายเพียงนิดเดียว จะทำให้ตกขบวนทั้งกระแสข่าว การไม่ดูละคร เกาะกระแสไม่เก่ง ยังทำให้พลาดเรื่องราวบางมุมที่กำลังฮิตในสังคม ที่สำคัญไม่ทันเกมแข่งขันด้วย เพราะเพจดังอื่นๆเล่นไปหมดแล้ว

“วิธีแก้ของผมคือคิดมุกใหม่ๆเลย และผมเกาะกระแสน้อยมาก หากกลัวความคิดตัน ก็ต้องคิดมุกสำรองเผื่อไว้ด้วย”

ส่วนการ Feed มุกป้อนคนอ่าน สูตรที่เขาใช้ คือปล่อยคอนเทนท์ไม่บ่อยจนเกินไป โดยเฉลี่ยจะอยู่ประมาณ 1-2 คอนเทนท์ต่อวัน แล้วปล่อยให้ยอด Engagement ต่างๆ ไต่ขึ้นเอง โดยไม่มีการแย่ง Feed กันเอง

เวลาคิด 1 มุกเพื่อโพสต์ จะต้องคิดให้มี Impact แล้วปล่อยให้ยอดการมีส่วนร่วมมันเดิน”  

นาทีนี้ เพจหลักล้านอย่าง Buffalo Gags ถือว่าประสบความสำเร็จพอตัว โดยสูตรลับของเขาคือ มุกจะตลกหรือไม่ตลก ยังไงมันก็ตลกเพราะมันไม่ตลกนี่แหละ” คำตอบสมกับเจ้าของเพจมุก Buffalo จริงๆ  

อย่างไรก็ตาม แม้จะเป็นเพจตลก แต่กฎเหล็กของเพจต้องมี เพื่อการอยู่ร่วมกันในกรอบของสังคม สิ่งที่เขาตระหนักเสมอเวลาทำงานคือ การไม่คิดมุกตลกที่ทำร้ายผู้คน ทั้งแขวะ bully เปราะบาง ละเอียดอ่อนต่อความรู้สึกผู้อื่น เป็นสิ่งต้องห้าม! คำด่าแรงๆ ถึงบุพการี ต้องมี “สอนลูกเพจ” กันบ้าง เพราะฐานแฟนเพจของ Buffalo Gags เป็นเด็กๆวัยรุ่นเสียส่วนใหญ่ ขณะเดียวกันหากมีการพูกถึงสถาบันในเชิงลบ จะมีมาตรการขั้นสุดคือ “Block” แบนลูกเพจ

ปัจจุบัน Buffalo Gags มียอดผู้ติดตามจำนวนมาก แน่นอนต้องเข้าตาแบรนด์ต่างๆเอเยนซีใช้พื้นที่โฆษณาสินค้า สร้างการรับรู้แบรนด์และยอดขาย สร้างรายได้ให้เพจ และจุดนี้ทำให้ “จักรกฤษณ์” ต้องปรับเปลี่ยนแนวทางการสร้างคอนเทนท์เป็นภาพ และวิดีโอมากขึ้น ขณะเดียวกันยังต้องการต่อยอดเพจ ขยับไปสู่การเป็นโปรดักชั่น เฮ้าส์ เติบโตเป็นเอเยนซี่ต่อไปด้วย เพื่อรองรับความต้องการของลูกค้า ด้วยการวิ่งเข้าไปหาลูกค้ามากกว่าจะนั่งรอให้ลูกค้าเข้ามาเอง

อมรลาภ พรหมสุวรรณ เจ้าของเพจจ๊อด 8 ริ้ว(Jod 8riew) มีผู้ติดตามกว่า 1.6 ล้านราย เคยอยู่เบื้องหลังการ์ตูนแอนิเมชั่นเบิร์ดแลนด์ เชลดอนฯ แต่ได้รับแนะให้นำผลงานวาดรูปมาเผยแพร่บนเฟซบุ๊ค ขยายไปสู่การวาดเรื่องราวที่ตนเองชอบ เรื่องใกล้ตัวในชีวิตประจำวัน ก่อนจะจับจุดได้ในการเป็น “นักวาดการ์ตูนเสียดสี” สังคม กลายเป็นแนวทางที่ชัดเจนของการนำเสนอคอนเทนท์บนเพจ

“เราวาดสิ่งที่ชอบ เจอในชีวิตจประจำวัน เดิมคนไม่เห็น แต่พอโพสต์ลงเฟซบุ๊ค มีคนที่คิดและเห็นเหมือนเราเยอะ เลยขยายยอด Like share จากหลักสิบเป็นร้อยและล้านไลค์ในปัจจุบัน”

เมื่อคนเสพการ์ตูน 4 ช่องบนโซเชียล คือ บรรณาธิการ(บก.) การอ่านการ์ตูน 4 ช่องผานเฟซบุ๊คเข้าถึงง่าย เข้าใจง่าย จบในตัว ถือเป็นกุญแจสร้างการเติบโตให้เพจอย่างดี

เพราะความสำเร็จเกิดจากการลงมือทำ และนั่นทำให้แซงหน้าคนที่ “คิดอยากทำ”  ReviewHere วางบทบาทเป็น จักรวาลของการรีวิว ตรงกับสโลแกนของเพจ “เพราะใดๆในโลกล้วนเป็นสิ่งที่รีวิวได้” เป็นสิ่งที่ อดิศักดิ์ น้อยแจ่ม เจ้าของเพจ ReviewHere ปลุกปั้นจนมีลูกเพจติดตามกว่า 5 แสนรายแล้ว

คนอยากเปิดเพจหารายได้มีมาก แต่ทำเพจตอนนี้ เขาฟันธงว่า การสร้างแฟนเพจเฟซบุ๊คตอนนนี้มันยากมาก เกิดยากมาก

แต่ในฐานที่เพจฮิตติดลมบน จึงเล่าเส้นทางการทำงานให้รับรู้ ก่อนทำเพจ อดิศักดิ์ ขลุกตัวเป็นนักรีวิวสิ่งต่างๆแบ่งปันลงบน pantip.com เว็บไซต์ยอดนิยมของเมืองไทย ที่มียอดแชร์ผลงานหลัก 6 หมื่นแชร์ แต่พอย้ายแพลตฟอร์มมาอยู่บนเฟซบุ๊ค ทุกอย่างเริ่มจากศูนย์ และทำทุกอย่างคนเดียว แถมผลิตคอนเทนท์ผ่าน “มือถือ” ด้วย

แรกเริ่มก่อนรีวิวทุกสิ่งครอบจักรวาล ได้วางคอนเซ็ปต์จะรีวิวสินค้าทั่วไป ทั้งเครื่องสำอาง ขนม ภาพยนตร์ แต่ค้นพบว่าตัวเองไม่เก่งขั้นเทพ ดูหนังปกติ ไม่รู้จักผู้กำกับ แต่กลับบังเอิญ “ดื่มน้ำ” ขวดเดียวแล้วสงสัย จึงไขความอยากรู้ด้วยการรีวิวน้ำดื่ม บอกรสชาติ คุณสมบัติดับกระหาย ตลอดจนช่องทางจำหน่าย

 อดิศักดิ์ คิดจะรีวิว Feed คอนเทนท์ทุกวัน เพื่อสร้างยอด Engagement 300-400 Likes ได้ 10 Share บ้าง ทว่า ความพยายามมักส่งความสำเร็จมาให้ เพราะช่วงที่เฟซบุ๊ค เมสเซ็นเจอร์ มี ฟีเจอร์ใหม่ มีโหมดกลางคืนด้วยการส่งพระจันทร์ แต่ตนทำไม่ได้ เลยหยิบประเด็นนี้มารีวิวซะเลย ปรากฎว่ามีคนใช้งานเฟซบุ๊ค ที่เจอปัญหาเดียวกันเยอะมาก พอโพสต์เสร็จ Refresh คอนเทนท์ใน 10 นาที ยอดแชร์ทะลักถึง 5,000 แชร์

 เพื่อการันตีว่าเพจรีวิวทุกอย่างจริงๆ ที่ผ่านมาจึงเห็นการรีวิวแดดเมืองไททยร้อนเบอร์ไหน รีวิวเพลง รีวิวมนุษย์จับติ่งหู รีวิวการนั่งขัดสมาธิ รีวิวความอึดอัดที่พูดไม่ได้ รีวิวเปิดเทอมวันแรก รีวิวผ้าอนามัยไข่เค็ม เป็นต้น

เพจดังติดตลาด สปอนเซอร์วิ่งเข้าหา โอกาสทำเงินมา แต่เรื่องเหล่านี้คนทำเพจคนเดียว ควรรู้ อดิศักดิ์ จึงแบ่งปันการทำใบเสนอราคารีวิวสินค้าให้ลูกค้าจำเป็น เพื่อเป็นเกณฑ์มาตรฐาน และราคาที่ชัดช่วยให้ลูกค้าตัดสินใจซื้อได้ง่าย การวางบิล เครดิตเทอมต่างๆ ต้องรู้ไว้

ยอดลูกเพจเท่านี้ การรีวิว ไม่มีคำว่าฟรี แต่สิ่งสำคัญในการหาลูกค้า เราต้องเริ่มจากทำคอนเทนท์ให้ดีก่อน”  

หนึ่งในแฟนเพจที่จำนวนมาก ต้องยกให้สาย ท่องเที่ยว” ซึ่ง กล้ายุทธ ช่างยันต์ เจ้าของเพจลาพักเที่ยว บอกว่าหมวดหมู่นี้ มี 300-400 เพจเห็นจะได้

การทำเพจท่องเที่ยวถือว่ามี “ต้นทุนสูง” เพราะคนทำเพจจะต้องเดินทางขึ้นเหนือล่องใต้ ไปทั้งในและต่างประเทศ เพื่อนำเสนอภาพ คลิปวิดีโอเกี่ยวกับ Destination ต่างๆ ดึงดูดให้คนเดินตามรอย ด้วย กล้ายุทธ วางแผนจะลาออกจากงานภายใน 1 ปี เพื่อไปเที่ยว แต่ยังมีรายได้อื่นหล่อเลี้ยงชีพ จึงเดินตามฝัน

พอเที่ยว จึงทำเพจไปด้วย ผ่านไป 7 ปี ยอดผู้ติดตามกว่า 7.9 แสนราย ไม่ธรรมดา มุมมองการทำเพจของเขา คือการป้อนคอนเทนท์สม่ำเสมอ เช่น 3 วัน 1 โพสต์ แต่ละคอนเทนท์ต้องมี “คุณภาพ” เพื่อให้เตะตาสปอนเซอร์ หนุนรายได้ให้ต่อยอดการเดินทางสร้างเพจยาวๆและคอนเทนท์ต้องบาลานซ์ระหว่าง “เที่ยวเอง” กับ “รับจ้างรีวิว” เพื่อรักษาฐานแฟนคลับ

การทำเพจท่องเที่ยว คาแร็กเตอร์ต้องชัดเจน ต่อให้ลูกค้าเป็นสปอนเซอร์รีวิว จะต้องไม่หลุดวามเป็นตัวเอง การถ่ายภาพต้องวางกรอบไว้ให้แตกต่างจากเพจคู่แข่ง เว้นแต่ “มุมมหาชน” เลี่ยงยากต้องมี การเกาะกระแสจำเป็น บนโลกที่ข้อมูลข่าวสารล้นหลาม ละคร หรือสิ่งที่เป็นกระแสอิงแหล่งท่องเที่ยวที่เคยไปเยือน สามารถนำมาโพสต์ แบ่งปันซ้ำได้ เช่น กรงกรรม ทำให้อ.ชุมแสง จ.นครสวรรค์ฮิต ลาพักเที่ยว” ไม่พลาดสนองลูกเพจ ส่วนกระแสที่เปราะบางต้องเลี่ยง เพราะอาจทำให้เพจ “ดับ” ลูกเพจ Unlike ด้วยปลายนิ้ว