BRR ยกเครื่องธุรกิจ ดัน 3 โครงการสร้างการเติบโต

BRR ยกเครื่องธุรกิจ ดัน 3 โครงการสร้างการเติบโต

'ขาลง' สินค้าโภคภัณฑ์ สารพันปัญหาถาโถม กดดันยอดขาย 'น้ำตาลบุรีรัมย์' ไม่สดใส หลังราคาอ้อยตกต่ำ 'อนันต์ ตั้งตรงเวชกิจ' นายใหญ่ เร่งปรับทัพใหญ่ ผลักดัน 3 โครงการ เพื่อต่อยอดธุรกิจเกี่ยวเนื่อง หวังสร้างการเติบโตครั้งใหม่ !!

2 ปี 'ดี' อีก 2 ปี 'แย่' จากทิศทาง 'ขาลง' ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ (Commodities) ตาม 'อุปสงค์' (Demand) หรือความต้องการตามสภาวะเศรษฐกิจ และ 'อุปทาน' (Supply) หรือความสามารถในการผลิต ซึ่งมีผลต่อการกำหนด 'ราคา' และหนึ่งในอุตสาหกรรมที่อยู่ในวัฏจักร คือ 'อุตสาหกรรมน้ำตาล'

สะท้อนผ่านเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา (2560-2561) ราคาน้ำตาลปรับตัว 'ลดลง' สอดคล้องกับปริมาณ 'ความต้องการ' (ดีมานด์) เกินดุลน้ำตาลอยู่ที่ '15-16 ล้านตัน' ทว่า ในปี 2562 ปริมาณผลผลิตน้ำตาลออกสู่ตลาดลดลงค่อนข้างมากแล้ว ดังนั้น ชัดเจนว่าในปี2563 ผลผลิตน้ำตาลเริ่มไม่เพียงพอต่อความต้องการแล้ว...!!

ฉะนั้น 'ปัจจัยบวก' ดังกล่าวกำลังจะส่งผลดีต่อ บมจ.น้ำตาลบุรีรัมย์ หรือ BRR บริษัทดำเนินธุรกิจลงทุนในบริษัทอื่น (Holding Company) มีธุรกิจหลักเป็นธุรกิจผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทราย และอุตสาหกรรมต่อเนื่อง โดยลงทุนในบริษัทย่อยที่ถือหุ้น 99.99% ซึ่งดำเนินธุรกิจ ได้แก่ 1.ธุรกิจผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทราย โดยมีบริษัท โรงงานน้ำตาลบุรีรัมย์ จำกัด เป็นบริษัทแกน

2.ธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าจากพลังงานชีวมวล โดยบริษัท บุรีรัมย์พลังงาน จำกัด, บริษัท บุรีรัมย์เพาเวอร์ จำกัด และ บริษัท บุรีรัมย์เพาเวอร์พลัส จำกัด 3.ธุรกิจผลิตและจำหน่ายปุ๋ยอินทรีย์ โดยบริษัท ปุ๋ยตรากุญแจ จำกัด 4.ธุรกิจสนับสนุนด้านการวิจัยและพัฒนา โดยบริษัท บุรีรัมย์วิจัยและพัฒนาอ้อย จำกัด และ 5.ธุรกิจผลิตบรรจุภัณฑ์ เครื่องใช้ และอุปกรณ์ต่าง ๆ จากชานอ้อย และเยื่อพืชธรรมชาติชนิดอื่น โดย บริษัท ชูการ์เคน อีโคแวร์ จำกัด

'อนันต์ ตั้งตรงเวชกิจ' ประธานกรรมการบริหาร บมจ.น้ำตาลบุรีรัมย์ หรือ BRR เล่าให้ฟังว่า ในปีที่ผ่านมาราคาน้ำตาลลดลงค่อนข้างมาก เนื่องจากว่าผลผลิตอ้อยทั่วโลกมีปริมาณมาก ซึ่งก็เป็นวัฎจักรของพืชผลทางการเกษตร สะท้อนภาพจากเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา ตลาดมีปริมาณน้ำตาลทั่วโลกออกมาค่อนข้างมาก โดยเฉพาะประเทศ ไทย , อินเดีย และบราซิล เนื่องจากสภาพอากาศมีฝนค่อนข้างดี

หากดูตัวเลขผลประกอบการย้อนหลัง 2 ปี (2560-2561) พบว่า บริษัทมี 'กำไรสุทธิ' ลดลงอยู่ที่ 524.73 ล้านบาท และ 271.62 ล้านบาท ขณะที่ 'รายได้' อยู่ที่ 5,928.18 ล้านบาท และ 5,916.67 ล้านบาท ตามลำดับ

ฉะนั้น ในแผนธุรกิจของ 'น้ำตาลบุรีรัมย์' จึงจำเป็นต้องปรับโมเดลธุรกิจใหม่ ด้วยการพยายามปรับตัวให้หนีจากสินค้าประเภท 'คอมมูนิตี้' (Commodities) บ่งชี้จากในช่วงที่ผ่านมาสัดส่วนรายได้หลักๆ ของบริษัทจะอยู่ที่ผลิตภัณฑ์น้ำตาลราว 70-80% (แล้วแต่ราคาน้ำตาล)

'นายใหญ่' แจกแจงว่า บริษัทจัดตั้ง 'กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานกลุ่มน้ำตาลบุรีรัมย์' โดยโอนสิทธิรายได้จากโรงไฟฟ้าในเครือ 2 แห่ง ประกอบด้วย บริษัท บุรีรัมย์พลังงาน (BEC) และ บริษัทบุรีรัมย์เพาเวอร์ (BPC) เข้ากองทุนรวมกำลังการผลิตรวม 19.8 เมกกะวัตต์ และมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าในเชิงพาณิชย์ (COD) กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) เพื่อนำเงินทุนไปพัฒนาต่อยอดจากธุรกิจหลักจำนวน 3 โครงการ

'โครงการโรงงานผลิตน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์' คือเปลี่ยนน้ำตาลทรายดิบให้เป็นน้ำตาลคุณภาพให้เข้าสู่โรงงานอุตสาหกรรม โดยบริษัทเริ่มดำเนินการทดลองเดินเครื่องผลิตแล้วเมื่อช่วงกลางเดือนที่ผ่านมา คาดว่าจะเริ่มจำหน่ายในช่วงไตรมาส 3 ปี 2562 เป็นต้นไป ซึ่งปกติบริษัทจะจำหน่ายน้ำตาลทราบดิบอยู่ที่ 60-90 ดอลลาร์ต่อตัน ในตลาดคอมมูนิตี้ของประเทศสหรัฐ แต่น้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์จะจำหน่ายเข้าไปในตลาดลอนดอน ประเทศอังกฤษ ซึ่งบริษัทจะมีรายได้ดังกล่าวเพิ่มขึ้น

'โครงการประหยัดพลังงาน' เพื่อต้องการลดการใช้พลังงานในโรงงานน้ำตาล เพื่อให้มีปริมาณเหลือกากอ้อยมากขึ้น ตามแผนของเราจะมีกากอ้อยเหลือราว 'แสนกว่าตัน' ซึ่งเริ่มดำเนินการแล้ว คาดว่าหีบอ้อยต่อไปจะเข้าสู่กระบวนการได้อย่างสมบูรณ์แบบ ก็จะทำให้มีปริมาณกากอ้อยมากขึ้น เพื่อที่จะไปซับพอร์ตธุรกิจโรงไฟฟ้า

และ 'โครงการโรงงานผลิตภาชนะทดแทนโฟม-พลาสติก' ซึ่งผลิตจากชานอ้อย เช่น จาน , ชาม , แก้วน้ำ เป็นต้น โดยจะเริ่มผลิตออกมาช่วงเดือนส.ค.นี้ ซึ่งในช่วงเฟสแรกจะมี 14 ไลน์ผลิต จำนวนผลิตได้ 850,000-1,000,000 ชิ้นต่อวัน มูลค่าการลงทุนประมาณ 300-400 ล้านบาท ซึ่งจะรับรู้รายได้ชัดเจนไตรมาส 4 ปี 2562

โดยปัจจุบันมี 'คำสั่งซื้อ' (ออเดอร์) เข้ามาแล้วจากลูกค้าต่างชาติประมาณ 80-90% แล้ว ซึ่งมีราคาต่อหน่วยอยู่ที่ประมาณ 0.10-0.11 บาทต่อกรัม ทั้งนี้โครงการดังกล่าวมีทั้งหมด 4 เฟส หรือผลิตได้ประมาณ 4 ล้านชิ้นต่อวัน โดยเฟสที่ 2 คาดว่าจะเริ่มได้ในปี 2563 เบื้องต้นใช้เงินลงทุนเพิ่มอีกจำนวน 100 ล้านบาท

'เราพยายามเร่งติดตั้งเครื่องจักร ซึ่งมีตลาดหลักๆ ในต่างประเทศโดยเฉพาะ สหรัฐและสหภาพยุโรป และต้องการขายในประเทศ 10% โดยมีเป้าหมายอยากเป็นผู้นำในธุรกิจดังกล่าวซึ่งเชื่อว่าเราทำได้เพราะว่าเรามีวัสดุต้นน้ำ (กากอ้อย) ฉะนั้น ต้นทุนการผลิตเราต่ำกว่าคู่แข่งมากเราขีดความสามารถในการแข่งขันเราสู้ได้อยู่แล้ว' 

เขา บอกต่อว่า คาดภาพรวมกำไรสุทธิปีนี้จะดีกว่าปีก่อนที่ทำได้ 271.62 ล้านบาท เนื่องจากปีนี้จะรับรู้กำไรจากโครงการใหม่ 3 แห่ง ได้แก่ โรงงานผลิตน้ำตาลทรายขาว , โครงการประหยัดพลังงาน และโรงงานผลิตภาชนะทดแทนโฟม-พลาสติก

โดยปีนี้บริษัทตั้งเป้าปริมาณการขายน้ำตาลรวมไว้ที่ 350,000 ตัน ใกล้เคียงปีก่อน ปัจจุบันบริษัทมีสัญญาการขายน้ำตาลแล้วประมาณ 90% หรือคิดเป็นประมาณ 300,000 ตัน โดยสัดส่วนการขายน้ำตาล แบ่งเป็นน้ำตาลทรายดิบประมาณ 200,000 ตัน , น้ำตาลประเภทบราวน์ชูการ์ประมาณ 30,000 ตัน และน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ประมาณ 40,000-50,000 ตัน ซึ่ง 2 ประเภทหลังมี 'มาร์จินสูง' ซึ่งช่วยหนุนผลการดำเนินงานบริษัทเติบโต

สำหรับ แนวโน้มราคาน้ำตาลของบริษัทปีนี้คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 14-15 เซนต์ต่อปอนด์ ซึ่งหลังเดือนต.ค. นี้ ราคาน้ำตาลอาจปรับตัวเพิ่มขึ้นตามความต้องการ และประเทศที่เป็นผู้ส่งออกน้ำตาลรายใหญ่เริ่มเข้าสู่ภัยแล้ง จากปัจจุบันราคาน้ำตาลอยู่ที่ระดับ 12-14 เซนต์ต่อปอนด์ เนื่องจากเกษตรกรในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ปลูกอ้อยลดลงและหันไปปลูกพืชชนิดอื่นที่ให้ผลตอบแทนดีกว่าส่งผลให้ผลผลิตน้ำตาลลดลง

ทั้งนี้ปี 2561/2562 บริษัทมีพื้นที่การปลูกอ้อยจำนวน 238,000 ไร่ สามารถปลูกอ้อยได้จำนวน 2,931,277 ล้านตัน ซึ่งผลิตน้ำตาลได้ในปริมาณ 353,349 ตัน และขายเป็นน้ำตาลทรายดิบได้ 137,443ตัน ส่วนในปี 2562/2563 มีพื้นที่การปลูกอ้อยจำนวน 238,000 ไร่ สามารถปลูกอ้อยได้จำนวน 3,100,000 ล้านตัน ผลิตน้ำตาลได้ในปริมาณ 350,000 ตัน และจะขายเป็นน้ำตาลทรายดิบได้ 140,000 ตัน

ส่วนการลงทุนปัจจุบันบริษัทอยู่ระหว่างพิจารณาลงทุนก่อสร้างโรงงานผลิตน้ำตาลแห่งใหม่กับพาร์ทเนอร์จำนวน 2-3 ราย ใช้งบลงทุนประมาณ 5,000-6,000 ล้านบาท ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) คาดจะได้ข้อสรุปในปี 2563

สำหรับ ในปี 2562 'นายใหญ่' บอกว่า สถานการณ์อุตสาหกรรมน้ำตาลทั่วโลก 'ปรับตัวดีขึ้น' ซึ่งตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาเริ่มมีสภาวะแห้งแล้งแล้วทั่วโลกแล้ว ซึ่งไทยก็ได้รับผลกระทบด้วย โดยใยช่วงที่ผ่านมาจากราคาน้ำตาลที่ตกต่ำมากว่า 2 ปี ทำให้ปริมาณอ้อยทั่วโลกก็จะลดลง ดังนั้นในปีนี้คาดว่าราคาน้ำตาลก็จะปรับตัวเพิ่มขึ้น ประกอบกับ สถานการณ์ใน 'ประเทศบราซิล' ที่ยังเน้นให้ความสำคัญกับการผลิต 'เอทานอล' ในระดับสูง

'คาดว่าผลผลิตน้ำตาลของบราซิล 26-27 ล้านตัน ลดลงจาก 2 ปีก่อน ประมาณ 10 ล้านตัน เพราะว่าราคาของการจำหน่ายเอทานอลส่วนต่างดีกว่าน้ำตาลทราย ซึ่งสถานการณ์ในบราซิลจะช่วยพยุงตลาดน้ำตาลโลกพอสมควร'

สำหรับ 'ปัจจัยบวก' ที่บริษัทต้องจับตามองที่จะส่งผลดีต่อราคาน้ำตาลโลก คือ ปริมาณผลผลิตที่ปรับลดลงทั้งใน 'ประเทศออสเตรเลีย' ก็น่าจะมีปริมาณน้ำตาล 'ลดลง 3-4 แสนตัน' จากเรื่องของสภาพอากาศ และ 'ประเทศปากีสถาน' ปีนี้คาดว่าปริมาณผลผลิตจะปรับตัวลดลง และสหภาพยุโรปมีการเข้ามาแข่งของพืชชนิดอื่นๆ และราคาขายในประเทศที่ปรับตัวลดลงคาดว่าสหภาพยุโรปอาจจะมีการนำเข้ามากขึ้นอีก

ขณะที่ ในส่วนของ 'ประเทศไทย' หลายฝ่ายก็มีการคาดการณ์ว่าในหลายพื้นที่เจอภัยแล้ง และเรื่องของราคาพืชคู่แข่งจะทำให้ปริมาณน้ำตาลของบริษัทในปีนี้ทั้งประเทศผลิตได้ 14.6 ล้านตัน เหลือแค่ 12-13 ล้านตัน เพราะว่าอาจจะมีการลดพื้นที่ปลูกอ้อยลง

อย่างไรก็ตาม แต่ก็มีปัจจัย 'กดดัน' อุตสาหกรรมน้ำตาลก็จะเป็นเรื่องของ 'ประเทศอินเดีย' ที่มีปริมาณผลผลิตน้ำตาลออกมาค่อนข้างสูง โดยปี 2560 มีปริมาณน้ำตาลอยู่ที่ 32 ล้านตัน และในปี 2561 อยู่ที่ 33 ล้านตัน ขณะที่การบริโภคในประเทศอยู่ที่ 25 ล้านตัน ซึ่งทำให้มีปริมาณส่วนเกินน้ำตาลจำนวนมาก ฉะนั้น รัฐบาลอินเดียมีการอุดหนุนในส่วนของการส่งออก ทำให้ปริมาณน้ำตาลตลาดโลกพุ่งสูงมากกดดันราคาอ้อยตกต่ำ

ทำให้ 'ออสเตรเลียและบราซิล' มีการฟ้องต่อองค์การการค้าโลก หรือ WTO กรณีรัฐบาลอินเดียยังเมินเฉยต่อข้อเรียกร้องให้ยกเลิกการอุดหนุนการเพาะปลูกอ้อยและการส่งออกน้ำตาลทราย ซึ่งไทยก็กำลังดำเนินการเช่นกัน หากมีการเปลี่ยนแปลงของอินเดียจะส่งผลดีมากกับตัวราคาน้ำตาลในตลาดโลก เพราะว่าอินเดียเป็นปัจจัยสำคัญทำให้ปริมาณน้ำตาลส่วนเกินของโลกพุ่งขึ้นสูง

อย่างไรก็ตาม ในปีหน้าสถานการณ์ของอินเดีย มีรายงานว่าในบางพื้นที่เจอกับภัยแล้ง สะท้อนจากปริมาณการกักเก็บน้ำลดน้อยลง ฉะนั้น คาดการณ์ว่าปริมาณน้ำตาลของอินเดียในปีหน้าอาจจะปรับลดลงเหลืออยู่ที่ 27-28 ล้านตัน แต่ก็ยังถือว่าเป็นปริมาณมากกว่าความต้องการใช้ในประเทศที่อยู่ที่ 25 ล้านตัน

แต่ว่าหากมีผลเรื่องของการฟ้องร้องน่าจะมีส่วนช่วยพยุงในเรื่องของราคาน้ำตาล เพราะว่าในการคาดการณ์ของหลายๆ ฝ่าย ที่มองว่าปริมาณดุลภาพของน้ำตาลของโลกจะปรับสู่ภาวะสมดุลในช่วงปีนี้และจะเริ่มขาดแคลนในปีหน้า

ท้ายสุด 'อนันต์' ทิ้งท้ายไว้ว่าในปีที่ผ่านมากลุ่มของเราพัฒนาเพื่อไปต่อยอดโดยการนำบายโปรดักท์ที่มาจากโรงงานน้ำตาลไปใช้ให้เกิดประโยชน์เพื่อสร้างรายได้ ด้วยการเพิ่มกำลังการผลิตโรงงานน้ำตาลเป็น 3 ล้านตัน เนื่องจากจะได้ไปรองรับธุรกิจที่ต่อเนื่องของเรา