'อนาคตใหม่' ลุยต่องานนอกสภา รับฟังปัญหาประมงพื้นบ้านภูเก็ต

'อนาคตใหม่' ลุยต่องานนอกสภา รับฟังปัญหาประมงพื้นบ้านภูเก็ต

"ธนาธร" นำทีมอนาคตใหม่ ลุยต่องานนอกสภา รับฟังปัญหาประมงพื้นบ้านภูเก็ต

เฟซบุ๊คพรรคอนาคตใหม่ เผยเมื่อวานนี้ ณ บ้านบางเทา อ.ถลาง จ.ภูเก็ต ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ร่วมกับ ส.ส. พรรคอนาคตใหม่ แบบบัญชีรายชื่อที่มีภูมิลำเนาอยู่ในภาคใต้ ได้แก่ เจนวิทย์ ไกรสินธุ์, รังสิมันต์ โรม, ปริญญา ช่วยเกตุ คีรีรัตน์ และประเสริฐพงษ์ ศรนุวัตร รับฟังปัญหาประมงจากตัวแทนเครือข่ายประมงพื้นบ้าน จ.ภูเก็ต, จ.กระบี่ และ จ.พังงา

ซึ่งตัวแทนชาวประมงในฝั่งอันดามันได้กล่าวถึงปัญหาที่พบเจอคือ ตั้งแต่ พ.ศ. 2504 เมื่อรัฐมีแผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับที่ 1 ทำให้เกิดการสนับสนุนการจับปลาเพื่อแปรรูปและเน้นส่งออก เกิดการใช้เรืออวนลากมากขึ้นทำให้ปลาและทรัพยากรในทะเลลดลงตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ปัญหาในเรื่องการจำกัดพื้นที่การออกหาปลาของประมงพื้นบ้านที่ 3 ไมล์ทะเล ซึ่งทำให้เกิดการกระจุกตัวของชาวประมงขนาดเล็ก

ตัวแทนประมงพื้นบ้าน ยังกล่าวอีกว่า กฎ IUU ในมาตรา 57 ไม่มีผลกระทบกับประมงขนาดเล็กและเห็นด้วยในเรื่องของการกำหนดขนาดตาอวนให้ได้มาตราฐานเท่ากับยุโรปที่มีขนาด 4 นิ้ว จะช่วยทำให้รักษาทรัพยากรและปลาขนาดเล็กไว้ได้ แต่ขนาดนี้ยังไม่สามารถใช้ได้จริง และปัญหาในการลงทะเบียนเรือกับกรมเจ้าท่าที่ยังมีเรื่องความซับซ้อนอยู่ อย่างไรก็ตาม สำหรับการมารับฟังปัญหาของธนาธรและทีม ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ในครั้งนี้ พวกตนรู้สึกยินดีที่ได้ลงมาฟังปัญหาของชาวประมงขนาดเล็ก ซึ่งก็จจะได้ฝากเรื่องเข้าไปนำเสนอในที่ประชุมสภา เพราะกลุ่มของตนเป็นกลุ่มที่ต้องการให้เกิดความยั่งยืนต่อการใช้ทรัพยากร

ด้านธนาธรกล่าวว่าแนวทางการแก้ปัญหาของพรรคอนาคตใหม่ พรรคยึดถือแนวทางของ IUU เรื่องของการรักษาความสมบูรณ์ของทรัพยากร การเก็บข้อมูลการจับปลาตามโควต้า PIPO เพื่อไม่ให้เกิดการจับปลาที่เรียกว่า over fishing และมองว่าปัญหาหรือข้อกังวลที่เหมือนกันของประมงพื้นบ้านและประมงพาณิชย์ที่ตนพบคือ การไร้ประสิทธิภาพของภาครัฐและการใช้อำนาจหน้าที่เรียกผลประโยชน์ การมีโทษปรับที่สูงเกินไป หน่วยงานของราชการยังมีสัดส่วนมากกว่าภาคประชาชนในคณะกรรมการประมง

ซึ่งทางตนเห็นว่ากฎหมายที่นำมาใช้ไม่ได้เปิดโอกาสและให้เวลาให้ชาวประมงได้ปรับตัว ดังนั้นทางพรรคจะผลักดันและแก้ไขกฎหมายต่างๆให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตมากขึ้น และจัดเวทีให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียระหว่างประมงพื้นบ้านและประมงพาณิชย์เข้ามาร่วมพูดคุยในระดับพื้นที่เพื่อให้เกิดความเหมาะสมในการแก้ปัญหา