'ดีเอสไอ' จับโบท็อกซ์ปลอม พบเงินหมุนเวียน 800 ล้าน

'ดีเอสไอ' จับโบท็อกซ์ปลอม พบเงินหมุนเวียน 800 ล้าน

"ดีเอสไอ-อย." ปูพรมค้น 12 จุด แหล่งนำเข้า "โบท็อกซ์-สเต็มเซลล์" ปลอม พบส่งขายคลินิกเสริมความงาม-กระจายขายปลีกออนไลน์ผ่านอินสตาแกรม ยึดของกลาง 4 แสนชิ้น ตรวจสอบพบเงินหมุนเวียน 800 ล้าน

เมื่อวันที่ 13 มิ.ย.62 ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) พ.ต.อไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีดีเอสไอ พ.ต.ท.พเยาว์ ทองเสน ผอ.กองคดีทรัพย์สินทางปัญญา นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงศ์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา(อ.ย) ภญ.สุภัทรา บุญเสริม รองเลขาฯอย.พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันแถลงผลการจับกุมเครือข่ายบริษัทผู้นำเข้าและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ยาละเมิดเครื่อง หมายการค้า ในพื้นที่เป้าหมาย 12 จุด เป็นบ้านพักที่ใช้เป็นแหล่งพักสินค้าย่าน เขตสวนหลวง หัวหมาก,แฮปปี้แลนด์,บางกะปิ,วังทองหลาง ,ลาดพร้าว,รัชดาภิเษก,สุขุมวิท และสุรวงศ์

1560413278176

พ.ต.อไพสิฐ กล่าวว่า ในปี 2560 เคยจับกุมการลักลอบค้าเครื่องสำอางค์และยาละเมิดเครื่องหมายการค้า ดีเอสไอจึงได้สืบสวนแกะรอยเส้นทางการเงินจนพบเบาะแสการกระทำความผิดของเครือข่ายดังกล่าว ซึ่งเชื่อมโยงมาถึงเครือข่ายนำเข้าโบท็อกซ์ และฟิลเลอร์ปลอมรายใหญ่ เจึงได้เข้าล่อซ้ำ นำของกลางส่งตรวจพิสูจน์จนใหลักฐานชัดเจนว่าเป็นสินค้าปลอม เมื่อวันที่ 12 มิ.ย.ที่ผ่านมา จึงขอศาลออกหมายค้นทั้ง 12 จุดพร้อมกัน ผลการตรวจค้นทั้งแหล่งพักสินค้าและสถานเสริมความงานในเครือข่ายสามารถยึดของกลางได้กว่า 400,000 ชิ้น มูลค่ากว่า 80 ล้านบาท และจากการตรวจสอบเส้นทางการเงินย้อนหลังพบเงินหมุนเวียนในบัญชีสูงถึง 800 ล้านบาท ซึ่งดีเอสไอจะดำเนินการตามกฎหมายฟอกเงินต่อไป

ด้านพ.ต.ท.พเยาว์ กล่าววว่า ขบวนการนำเข้าฟิลเลอร์และโบท็อกซ์ปลอมรายนี้ เกี่ยวข้องกับคดีฉีดฟิลเลอร์จนหน้าอกเน่า โดยภายหลังการสืบสวนจนมีหลักฐานชัดเจน ดีเอสไอจึงสนธิกำลังกับอย.เข้าตรวจค้นและสามารถยึดของกลางได้เป็นจำนวนมาก โดยโบท็อกซ์ที่เก็บรักษาอยู่ในตู้เย็นจำนวน 1 ตู้ มีจำนวน 1,400 ชิ้น ราคาชิ้นละ 5,000 บาท ของกลาง 1 ตู้มีมูลค่าถึง 7 ล้านบาท นอกจากนี้ยังยึดเครื่องสำอางได้อีกหลายรายการและอยู่ระหว่างการส่งตรวจคุณภาพว่า มีส่วนประกอบตรงตามตำรับยาและเวชภัณฑ์หรือไม่

1560413225626

สำหรับปฎิบัติการเข้าตรวจค้นครั้งนี้พบของกลางเป็นยาที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับยา ยาที่ละเมิดเครื่องหมายการค้า เช่น ยาฉีดกลูตาไธโอน ยาฉีดสเต็มเซลล์ ยาฉีดรกแกะ ยาฉีดโบท็อกซ์ ยาฉีดลดไขมันและยาชาที่จะใช้ก่อนฉีดโบท็อกซ์ โดยเครือ ข่ายดังกล่าวโฆษณาขายสินค้าผ่าน อินสตาแกรม และแอพลิเคชั่นไลน์ โดยจะนำสินค้าไปจำหน่ายให้ลูกค้าหลายกลุ่ม แบ่งเป็นคลีนิคเสริมความงามของขบวนการและคลีนิคเสริมความงานอื่นๆที่กระจายอยู่ในกทม.และยังมีการจัดส่งสินค้าไปให้ลูกค้ารายย่อยที่สั่งซื้อยาไปใช้เองและกลุ่มลูกค้าที่ซื้อยาไปรับจ้างฉีด โดยจะจัดส่งสินค้าไปให้ลูกค้าทั้งในกทม.และต่างจังหวัดทางไปรษณีย์เอกชน ทั้งนี้ในวันเข้าจับกุมพบรถจักรยานยนต์รับจ้างมารอเพื่อนำสินค้าไปจัดส่งจำนวนนี้

ด้านนพ.ธเรศ กล่าวว่า การฉีดโบท็อกซ์จะต้องฉีดโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญและต้องจำกัดปริมาณไม่ให้มากเกินไป ที่ผ่านมาพบคนไข่ได้รับผลกระทบจากสารพิษในโบท็อกซ์ที่ต้องการฉีดให้ผิวหนังตึง แต่ตัวยาที่มากเกินไปกระทบต่อจุดเชื่อมต่อเส้นประสาทกับกล้ามเนื้องมีผลทำให้หนังตาตก กระทบต่อระบบทางเดินหายใจและเป็นอันตรายต่อชีวิต ส่วนฟิลเลอร์ปลอมอาจทำให้ตาบอดและอวัยวะเน่า ดังนั้นก่อนจะไปเสริมความงามควรศึกษาข้อมูลของตัวยาและสถานเสริมความงามด้วย

ขณะที่ ภญ.สุภัทรา กล่าวว่า สาวไทยส่วนใหญ่ชอบเข้ารับบริการเสริมความงามตามคลินิค ที่มีอยู่มากว่า ทำให้มีโฆษณาขายยาฉีดฟิลเลอร์ โบท็อกซ์ คอลลาเจน กลูตาไธโอน และเครื่องสำอางค์แพร่หลายทางเว็บไซค์ หรือหน้าร้านเสริมความงาม โดยที่ผ่านมา อย.ได้ตรวจสอบคลินิกและสถานพยาบาลเสริมความงาม พบมีการนำสารเสริมความงามดังกล่าวที่ไม่ผ่านการขึ้นทะเบียนมาใช้ในสถานพยาบาล จึงขอเตือนให้ระวังการเข้ารับบริการ หากผู้บริโภครายใดต้องการฉีดสารเพื่อความงาม ควรเข้ารับบริการฉีดกับสถานพยาบาลที่มีใบอนุญาตประกอบสถานพยาบาลตามกฎหมาย และเลือกคลินิกที่มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญอยู่ประจำ ก่อนการฉีดควรสอบถามและขอดูตัวยาที่ใช้ว่ามีใบอนุญาตขึ้นทะเบียนถูกต้องตามกฎหมายจากอย.หรือไม่ มีฉลากภาษาไทยติดถูกต้องครบถ้วนอย่างไร

“ขอเตือนผู้บริโภคสาวๆว อย่าหลงเชื่อโฆษณาในออนไลน์ อย่าซื้อยาไปใช้เอง หรือฉีดสารเสริมความงามกับหมอเถื่อน ซึ่งเสี่ยงต่อการเสียชีวิต เพราะการฉีดบนใบหน้าต้องดำเนินการโดยแพทย์ที่มีความรู้ด้านกายวิภาคบนใบหน้าเป็นอย่างดี เนื่องจากบนใบหน้ามีกล้ามเนื้อเล็กๆ และเส้นเลือดมากมาย จึงต้องฉีดด้วยความระมัดระวัง เด็กในร้านก็ฉีดให้ไม่ได้ ในส่วนของสถานเสริมความงานและคลินิคก่อนสั่งซื้อยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพใดๆ ขอให้สอบถามไปทางอย.ก่อนทุกครั้งเพื่อให้แน่ใจว่าเป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้รับอนุญาตและเป็นตัวแทนที่ได้รับอนุญาตให้นำเข้าจริง“ภญ.สุภัทรา กล่าว
ขณะที่ตัวแทนผู้นำเข้า กล่าวว่า ความเสียหายของบริษัทมีเพียงมูลค่าในทางเพ่งแต่ผู้เสียหายที่แท้จริง คือ คนไข้ที่ได้รับยาปลอม ดังนั้นจึงขอให้แพทย์ในสถานเสริมความงามตรวจสอบข้อมูลยาและผู้นำเข้ายาให้รอบคอบ เพราะสินค้าที่มีราคาถูกกว่ากันเพียง 300-500 บาท ไม่ได้ทำให้เกิดความได้เปรียบทางการค้ามากขึ้น

สำหรับการกระทำความผิดดังกล่าว เป็นความผิดที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายหลายฉบับ ประกอบด้วย พระราชบัญญัติยา พ.ศ. 2510, พระราชบัญญัติเครื่องสำอาง พ.ศ. 2558, พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 และพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560