"กลุ่มเซ็นทรัล" เขย่าโครงสร้างธุรกิจใหม่ ผงาดผู้นำ ‘ค้าปลีก-ดิจิทัล"

"กลุ่มเซ็นทรัล" เขย่าโครงสร้างธุรกิจใหม่ ผงาดผู้นำ ‘ค้าปลีก-ดิจิทัล"

“กลุ่มเซ็นทรัล” เคลื่อนธุรกิจสู่ทศวรรษที่ 8 ขยายอาณาจักรคลุมพื้นที่เศรษฐกิจ การค้า การลงทุน เมืองท่องเที่ยวระดับโกลบอลเดสทิเนชั่น เขย่าโครงสร้างธุรกิจจัดพอร์ตใหม่ 6 กลุ่ม หนุนยุทธศาสตร์ "นิวเซ็นทรัล นิวอีโคโนมี" สานเป้าผู้นำ“ดิจิ-ไลฟ์แพลตฟอร์ม"

เซ็นทรัลกรุ๊ปธุรกิจภายใต้ตระกูล “จิราธิวัฒน์” ไทคูณแห่งเมืองไทย ก้าวสู่ทศวรรษที่ 8 อย่างแข็งแกร่ง ด้วยสินทรัพย์กว่า 670,000 ล้านบาท รั้งอภิมหาเศรษฐกิจอันดับที่ 2 ของประเทศ!!  ชื่อของเซ็นทรัลในวันนี้ ยังก้าวข้ามความเป็น Domestic Leader สู่ “บริษัทข้ามชาติ" นำพากิจการสัญชาติไทยเติบใหญ่สร้างอาณาจักรกว้างไกลในเวทีโลก

จากธุรกิจเล็กๆ ของครอบครัวจิราธิวัฒน์ ที่คุณเตียง จิราธิวัฒน์ ก่อตั้งขึ้นในปี 2490 เป็นร้านค้าใกล้ๆ โรงแรมโอเรียนเต็ล ชื่อว่า “เซ็นทรัล เทรดดิ้ง” จำหน่ายหนังสือและนิตยสารต่างประเทศ ก่อนขยายสู่สินค้านำเข้าประเภทอื่น และก่อร่างสร้างโมเดลธุรกิจ “ร้านค้าปลีกใหม่” จัดเป็นโมเดิร์นเทรดเป็นรายแรกๆ ของไทย โดยให้กำเนิดห้างสรรพสินค้าแห่งแรก “วังบูรพา” ขึ้นในปี 2499 เป็นห้างสรรพสินค้าใหญ่สุดในยุคนั้น ตามมาด้วยสาขาราชประสงค์ และ “ชิดลม” ซึ่งเป็นห้างสรรพสินค้าเต็มรูปแบบแห่งแรกในประเทศไทย ทั้งดำรงสถานะแฟลกชิพสโตร์!!มาจนถึงปัจจุบัน

เส้นทางธุรกิจที่มีการแตกหน่อต่อยอดออกไปหลายแขนงอย่างต่อเนื่องสร้างชื่อชั้นเซ็นทรัลให้เป็นที่รู้จักในแวดวงการค้าเมืองไทย!! ไม่ว่าจะเป็นการเปิดตัวธุรกิจ “มิสเตอร์ โดนัท” แบรนด์แฟรนด์ไชส์จากญี่ปุ่น เป็นก้าวแรกของกลุ่มเซ็นทรัลในธุรกิจฟาสต์ฟู้ด นำสู่ธุรกิจเครือข่ายร้านอาหารแบบเชนในนาม เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป หรือ ซีอาร์จี ในวันนี้

อีกหนึ่งจุดเปลี่ยนและเป็นก้าวใหญ่!! ของกลุ่มเซ็นทรัลนั่นคือโปรเจคยักษ์ ศูนย์การค้าเซ็นทรัล พลาซา ลาดพร้าว พัฒนา “มิกซ์ยูส” แห่งแรกของไทยประกอบด้วยห้างสรรพสินค้า ร้านค้า โรงแรม และอาคารสำนักงาน เปิดประตูให้บริการเมื่อปี 2526 เป็นจุดเริ่มต้นของการแจ้งเกิด บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอ็น เจ้าของเครือข่ายศูนย์การค้าเซ็นทรัล พลาซา เซ็นทรัลเฟสติวัล และเซ็นทรัลเวิลด์ มีสาขาทั่วประเทศ ล่าสุด ปักธงศูนย์การค้าแห่งแรกในประเทศมาเลเซีย

ในวันที่ 9 ธ.ค.2548 นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พระราชทานพระบรมราชานุญาต ให้ห้างเซ็นทรัลอัญเชิญตราตั้งพระราชทาน“พระครุฑพ่าห์”ซึ่งเป็นตราประจำแผ่นดินขึ้นประดับหน้าร้านเพื่อสะท้อนความเป็นห้างสรรพสินค้าที่มีหลักฐานมั่นคง ประกอบกิจการด้วยความซื่อสัตย์สุจริตตลอดมาอีกด้วย 

 “M&A” หนุนโตก้าวกระโดด

เซ็นทรัลเติบโตอย่างรวดเร็ว!! ด้วยกลยุทธ์ควบรวมและเข้าซื้อกิจการ นับเป็นกลุ่มทุนในยุคแรกทีเดียวที่สร้างการเติบโตด้วยวิธีดังกล่าว เริ่มจากปี 2538 เข้าซื้อกิจการ “โรบินสัน” ห้างสรรพสินค้าอันดับ 2 ของประเทศไทยในขณะนั้นเข้ามาอยู่ในพอร์ตค้าปลีกที่เริ่มขยายไลน์สินค้าเฉพาะด้านออกไปมากมาย ทั้งเพาเวอร์บาย ท็อปส์ ซูเปอร์สปอร์ตส บีทูเอส ขณะเดียวกันยังมองหาและดีลธุรกิจใหม่ๆ!! นั่นคือการเข้าซื้อ "เวิลด์เทรดเซ็นเตอร์" และเปลี่ยนชื่อเป็นศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์   การพัฒนา “เดอะวันการ์ด” โปรแกรมสะสมคะแนนของกลุ่มเซ็นทรัล ปัจจุบันเป็นโปรแกรมสะสมคะแนนที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย

ค้าปลีกไทยข้ามชาติซื้อกิจการห้างยุโรป 

ประวัติศาสตร์ค้าปลีกไทยต้องจารึกชื่อ “เซ็นทรัล” เมื่อกลางปี 2554 จากการเข้าซื้อกิจการเชนห้างสรรพสินค้าระดับโลก ลา รีนาเซนเต อายุกว่า 150 ปี ในประเทศอิตาลี ซึ่งเป็นธุรกิจแรกในยุโรปของกลุ่มเซ็นทรัล 

“ลา รีนาเชนเต” เป็นก้าวสำคัญของเซ็นทรัลในการยึดเวทีโลกเป็น “สนามใหม่” และวันนี้ได้ถูกรีแบรนด์ ปรับภาพลักษณ์ใหม่ในชื่อ รีนาเชนเต มีแฟลกชิพสโตร์ขนาดใหญ่ให้บริการใจกลางมิลาน โรม และอีกหลายเมืองท่องเที่ยว

ดีลซื้อธุรกิจ!! ตามมาเป็นระลอกไม่ว่าจะออฟฟิศเมท แฟมิลี่มาร์ท และห้างสรรพสินค้าอิลลุมในประเทศเดนมาร์ก

บิิ๊กโปรเจคที่เรียกเสียงฮือฮา คือ เซ็นทรัล เอ็มบาสซี แลนด์มาร์กแห่งความหรูหราใจกลางเมือง ที่กลุ่มเซ็นทรัลยอมควักกระเป๋าชิงที่ดินมาในมูลค่าทุบสถิติแพงสุดในเวลานั้นตารางวาละ 9.9 แสนบาท รวมทั้งซื้อกิจการเหงียนคิม ผู้จำหน่ายเครื่องใช้ไฟฟ้าอันดับ 1 ของเวียดนาม และ ลานชี แบรนด์ซูเปอร์มาร์เก็ตในเวียดนาม

เป้าหมายใหญ่ของกลุ่มเซ็นทรัลต้องการปักหมุดเมืองท่องเที่ยวในยุโรปทำให้ตัดสินซื้อกิจการห้างสรรพสินค้าระดับลักชัวรีในประเทศเยอรมนี 3 แห่ง ได้แก่ คาเดเว โอเบอร์พอลลิงเกอร์ และอัลสเตอร์เฮ้าส์ ผ่านการเข้าซื้อธุรกิจกลุ่มคาเดเว ตามด้วยการเข้าซื้อกิจการบิ๊กซีในเวียดนามและเปลี่ยนชื่อเป็นโก!

ฐานธุรกิจเวียดนามบ้านหลังที่ 2

ตลาดเวียดนาม เป็นฐานธุรกิจขนาดใหญ่ของ “กลุ่มเซ็นทรัล” เสมือนบ้านหลังที่ 2 ในการสร้างอาณาจักร!!รองรับศักยภาพประเทศเวียดนามที่เศรษฐกิจขยายตัวสูงในอัตราเฉลี่ย 10% มีประชากรถึง93 ล้านคน โดยกลุ่มชนชั้นกลางซึ่งเป็นตลาดเป้าหมายสำคัญที่มีการใช้จ่ายสูงเป็นฐานตลาดขนาดใหญ่ส่งผลให้มีความต้องการบริโภคสินค้าและบริการจำนวนมาก

“เวลานี้ กลุ่มเซ็นทรัลถือได้ว่าเป็นบริษัทค้าปลีกจากต่างประเทศในระดับผู้นำตลาดของเวียดนาม”

โดยนับตั้งแต่ปี 2555 กลุ่มเซ็นทรัลให้ความสำคัญอย่างมากกับการสร้างฐานธุรกิจในเวียดนาม ลงทุนแล้วกว่า 1,500 ล้านดอลลาร์ หรือราว 50,000 ล้านบาท ในช่วง 5 ปี (2561-2565) ยังจะใช้งบลงทุนไม่ต่ำกว่า 500 ล้านดอลลาร์ หรือกว่า 16,500 ล้านบาท เฉลี่ยปีละ 100 ล้านดอลลาร์ หรือ 3,300 ล้านบาท ในการเปิดสาขาใหม่และปรับปรุงธุรกิจ เพื่อเพิ่มเครือข่ายร้านค้าปลีกให้บริการครอบคลุมลูกค้าทุกกลุ่ม

ปัจจุบัน ธุรกิจของกลุ่มเซ็นทรัลในเวียดนาม ประกอบด้วย สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องกีฬา สินค้าแฟชั่น ศูนย์การค้า โรงแรม อีคอมเมิร์ซ และซูเปอร์มาร์เก็ต คาดว่าภายในปี 2565 จะมีเครือข่ายไม่ต่ำกว่า 720 สาขา

ดึงโกลบอลพาร์ทเนอร์เสริมแกร่ง

เส้นทางกลุ่มเซ็นทรัลสร้างความแข็งแกร่งด้วยการผูกพันธมิตรยักษ์ใหญ่ระดับโลกไม่ว่าจะ JD.com ดุสิต และฮ่องกงแลนด์ รวมทั้ง เข้าลงทุนใน แกร็บ ประเทศไทย ผู้นำด้านธุรกิจออนไลน์ทูออฟไลน์แพลตฟอร์ม 

ขณะเดียวกัน ความแข็งแกร่งของเครือข่ายร้านค้าปลีกหรือธุรกิจออฟไลน์ที่เปรียบเสมือน “Backbone” ของกลุ่มเซ็นทรัล กำลังถูกนำมาต่อยอดสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขันทั้งโลกออนไลน์และออฟไลน์!! ไปพร้อมๆ กัน 

จัดพอร์ตใหม่‘6 สายธุรกิจหลัก’

ล่าสุด กลุ่มเซ็นทรัลปรับโครงธุรกิจครั้งใหญ่อีกระลอกเพื่อขับเคลื่อนทัพธุรกิจอย่างเต็มสูบสร้างการเติบโตอย่างต่อเนื่อง มั่นคง และยั่งยืน 

โดยโครงสร้างใหม่แบ่งเป็น 6 สายธุรกิจหลัก 1.ธุรกิจค้าปลีก และแบรนด์สินค้า (Retail & Brands) ด้วยเป้าหมาย ผู้นำธุรกิจค้าปลีกในเอเชีย และยุโรป 2.ศูนย์การค้าและอสังหาริมทรัพย์เชิงพาณิชย์ (Malls & Commercial Properties) ผู้พัฒนาธุรกิจศูนย์การค้า และอสังหาริมทรัพย์อันดับหนึ่งในประเทศไทย พร้อมมอบประสบการณ์ระดับโลกให้แก่ผู้บริโภค 3.โรงแรม และร้านอาหาร (Hospitalities)  4.เดอะวัน(The1) โปรแกรมดูแลสมาชิก สำหรับสะสมคะแนน และสิทธิประโยชน์ด้านไลฟ์สไตล์ที่ไม่รู้จบ 5.บริการด้านการเงินและฟินเทค (Financial services & Fin Tech)  ระบบชำระเงินประสิทธิภาพสูงของประเทศไทย ด้วยเทคโนโลยีที่ล้ำหน้า และ 6.ธุรกิจใหม่ในยุคดิจิทัล (New Economy): เชื่อมต่อประสบการณ์การช้อปปิ้งครอบคลุมทุกช่องทาง เพื่อความสะดวกสบายของผู้บริโภค

ทั้งนี้ หัวหอกหลัก "ธุรกิจค้าปลีกและแบรนด์สินค้า" กลุ่มเซ็นทรัลเป็นผู้นำธุรกิจค้าปลีกสินค้าหลากหลายประเภทผ่านรูปแบบและช่องทางที่หลากหลาย (Multi-format and Multi-category) ในประเทศไทย และเป็นหนึ่งในผู้นำธุรกิจค้าปลีกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และยุโรป โดยแบ่งเป็น 3 ส่วนงานหลัก ได้แก่ ส่วนงานแฟชั่น (Fashion) เน้นจำหน่ายเสื้อผ้าและเครื่องประดับ ส่วนงานฮาร์ดไลน์ (Hardline) จำหน่ายสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ และสินค้าตกแต่ง และปรับปรุงบ้าน ส่วนงานฟู้ด (Food) จำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภค และสินค้าที่มักพบได้ทั่วไปในร้านสะดวกซื้อ

กลุ่มธุรกิจภายใต้สายธุรกิจค้าปลีก และแบรนด์สินค้า ได้แก่ ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล, ห้างสรรพสินค้าโรบินสัน, โรบินสัน ไลฟ์สไตล์ เซ็นเตอร์, ซูเปอร์สปอร์ต, เซ็นทรัล มาร์เก็ตติ้ง กรุ๊ป (CMG), ไทวัสดุ, บ้านแอนด์บียอนด์, เพาเวอร์บาย, ท็อปส์, เซ็นทรัล ฟู้ด ฮอลล์, แฟมิลี่มาร์ท, ออฟฟิศเมท, บีทูเอส รวมถึงธุรกิจในประเทศเวียดนามอย่างเหงียนคิม, ลานชี, บิ๊กซี, โก และห้างสรรพสินค้าในทวีปยุโรป ได้แก่ ห้างสรรพสินค้ารีนาเชนเต ประเทศอิตาลี, ห้างสรรพสินค้าคาเดเว, อัลสแตร์เฮ้าส์, โอเบอร์โพลิเกอร์ ประเทศเยอรมนี และห้างสรรพสินค้าอิลลุม ประเทศเดนมาร์ก

บิ๊กดาต้าเดอะวันเชื่อมฐานลูกค้า

สำหรับ "กลุ่มธุรกิจศูนย์การค้าและอสังหาริมทรัพย์เชิงพาณิชย์" แบ่งเป็น 3 ประเภทหลัก ได้แก่ ศูนย์การค้า, อาคารสำนักงาน และอาคารที่อยู่อาศัย ขับเคลื่อนภายใต้ บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอ็น (CPN)

ปัจจุบันเซ็นทรัลครองแบ่งทางการตลาดที่มากที่สุดในด้านของพื้นที่ปล่อยเช่าสุทธิ พร้อมรังสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อมอบประสบการณ์ระดับโลกให้แก่ผู้บริโภค

ขณะที่ "ธุรกิจโรงแรมและเครือร้านอาหาร" ภายใต้ เซ็นทารา โฮเท็ล แอนด์รีสอร์ท และ เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป หรือ ซีอาร์จี (CRG) โดยกลุ่มเซ็นทรัลเป็นผู้พัฒนาและให้บริการโรงแรมชั้นนำในประเทศไทย โดยมีสาขาอยู่ตามเมืองสำคัญต่างๆ ในไทยและต่างประเทศ ครอบคลุมทั้งโรงแรมหรูระดับพรีเมียม และโรงแรมราคาย่อมเยา นอกจากนี้กลุ่มเซ็นทรัลยังเป็นผู้นำด้านเชนร้านอาหารชั้นนำในประเทศไทย มีแบรนด์ร้านอาหารมากมาย และแบรนด์แฟรนไชส์ที่มีชื่อเสียงจากต่างประเทศ อาทิ มิสเตอร์โดนัท เคเอฟซี และโคลด์สโตน ครีมเมอรี่

 พอร์ตธุรกิจ “เดอะวัน” โปรแกรมการดูแลสมาชิกที่สามารถสะสมคะแนนผ่านทุกยอดการซื้อสินค้าและบริการจากธุรกิจในกลุ่มเซ็นทรัล รวมถึงสามารถแลกคะแนนเป็นคูปองแทนเงินสด (cash coupon) หรือส่วนลดในการซื้อสินค้าและบริการ พร้อมสิทธิพิเศษที่มากกว่าจากพันธมิตรทางธุรกิจที่คัดสรรมาเพื่อตอบสนองความต้องการของสมาชิกในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นสถานีบริการน้ำมัน การท่องเที่ยว บันเทิง ความงาม การเงิน ร้านอาหาร โรงพยาบาล ฯลฯ

ปักธงผู้นำฟินเทค

"บริการด้านการเงินและฟินเทค" โดยกลุ่มเซ็นทรัลได้นำเสนอผลิตภัณฑ์ และบริการด้านการเงินที่หลากหลาย ครบวงจรสำหรับลูกค้า มุ่งสู่ผู้นำด้านฟินเทคในประเทศไทย เพื่อวางรากฐานระบบเศรษฐกิจดิจิทัลให้พร้อมรองรับความต้องการของร้านค้าและผู้บริโภค เป็นการส่งเสริมประเทศไทยให้ก้าวสู่การเป็นสังคมไร้เงินสดในอนาคต

บริการด้านการเงินและฟินเทคภายใต้กลุ่มเซ็นทรัล ได้แก่ บริการโบรคเกอร์ประกัน บริการที่ปรึกษาด้านการลงทุน อีเพย์เมนต์ บัตรของขวัญ บัตรเครดิตเดอะวัน เซ็นทรัล สินเชื่อเพื่อการใช้จ่าย สินเชื่อส่วนบุคคล และอีวอลเล็ท

น่าสนใจอย่างยิ่งสำหรับพอร์ต "ธุรกิจใหม่ในยุคดิจิทัล" กลุ่มเซ็นทรัลเป็นผู้นำดิจิ-ไลฟ์สไตล์แพลตฟอร์ม ด้วยการผสมผสานเทคโนโลยีสมัยใหม่ และนวัตกรรมล้ำสมัย พร้อมร่วมมือกับพันธมิตรและบริษัทระดับโลกที่เป็นผู้นำทางเศรษฐกิจ เพื่อมอบประสบการณ์เหนือระดับ หรือ “นิว เซ็นทรัล เอ็กซ์พีเรียนซ์” ให้แก่ผู้บริโภค ไม่ว่าจะเป็น “เซ็นทรัล เจดี” บริษัทร่วมทุนด้านอีคอมเมิร์ซของ 2 กลุ่มค้าปลีกยักษ์ใหญ่ ได้แก่ กลุ่มเซ็นทรัล ผู้นำธุรกิจค้าปลีกในไทย และ JD.com บริษัทค้าปลีกที่ใหญ่ที่สุดในจีน "เซ็นทรัล เจดี ฟินเทค" บริษัทร่วมทุนด้านฟินเทคของ 2 กลุ่มชั้นนำ ได้แก่ กลุ่มเซ็นทรัล และ JD.com เพื่อวางรากฐานด้านอีไฟแนนซ์ รองรับเศรษฐกิจดิจิทัล

“แกร็บ ประเทศไทย” ความร่วมมือระหว่างกลุ่มเซ็นทรัล ผู้นำด้านธุรกิจค้าปลีกในประเทศไทย และแกร็บ ผู้นำด้านเทคโนโลยี สื่อให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในการทำประโยชน์เพื่อคนไทย สร้างโอกาสด้านอาชีพ และสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจผ่านแพลตฟอร์มของเซ็นทรัล "คอมมอน กราวด์" (Common Ground) โคเวิร์กกิ้งสเปซที่เป็นส่วนสำคัญในการผลักดันเอสเอ็มอีในประเทศไทยให้เติบโต ขยายธุรกิจสู่ความสำเร็จ และเปิดโอกาสทางธุรกิจไปกับกลุ่มเซ็นทรัล

เสริมทัพ‘มืออาชีพ-คนรุ่นใหม่'

อีกหนึ่งภารกิจและความท้าทายของเซ็นทรัลในการเคลื่อนทัพนั่นคือบุคลากรที่มีทั้งมืออาชีพ คนรุ่นใหม่ ชาวไทย และต่างชาติ ผสานความเชี่ยวชาญเกื้อหนุนธุรกิจกลุ่มเซ็นทรัลเดินหน้าพร้อมๆ กับผู้บริหารตระกูลจิราธิวัฒน์

ในยุคของ ทศ จิราธิวัฒน์ ได้เทียบเชิญผู้บริหารระดับสูงนอกตระกูลมาร่วมงานจำนวนมาก ตั้งแต่ผู้บริหารระดับชาติ ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล อดีตผู้ว่าแบงก์ชาติ มีความเชี่ยวชาญด้านการเงินสูง รั้งตำแหน่ง ที่ปรึกษาอาวุโส มีบทบาทหน้าที่ประสานความสัมพันธ์กับภาครัฐและสร้างระบบธรรมาภิบาลขององค์กร ผู้รับตำแหน่ง ที่ปรึกษาอาวุโส ยังมี ดร.ศุภชัย พานิชภักดิ์อดีตเลขาธิการสหประชาชาติ มีความเชี่ยวชาญระดับอินเตอร์เนชั่นแนลจะเป็นแรงสนับสนุนธุรกิจต่างประเทศของเครือเซ็นทรัลได้เป็นอย่างดี

การขยายเครือข่ายในอัตราเร่งของธุรกิจในแต่ละปีลงทุนระดับ 5 หมื่นล้านบาท การบริหารจัดการสถานะทางการเงินถือเป็นหัวใจสำคัญ ดังนั้น ผู้บริหารยุคนี้จำเป็นต้องมีพื้นฐานความเข้าใจทางด้านการเงินอย่างลึกซึ้ง ด้วยธุรกิจไม่ตีกรอบจำกัดเพียงในเมืองไทย แต่สยายปีกต่างประเทศทีี่ต้องเผชิญความผันผวนทางการเงินอยู่เป็นระลอก

มือดีทางด้านการเงินจึงถูกระดมเข้ามา ทั้ง ญนน์ โภคทรัพย์ จากธนาคารไทยพาณิชย์ นั่งเก้าอี้ กรรมการผู้จัดการใหญ่ (President of Central Group) ชนิตร ชาญชัยณรงค์ อดีตรองผู้จัดการการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยและ อดีตผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์เอ็มเอไอ รวมทั้งผู้บริหารต่างชาติ อาทิ นิโคโล กาลันเต้ อดีต Managing Partner บริษัทที่ปรึกษาด้านกลยุทธ์ระดับโลก แมคคินซีย์ แอนด์ คอมพานี ฟิลิปเป้ โบรยานิโก มีประสบการณ์บริหารธุรกิจค้าปลีกในภูมิภาคอาเซียนมานานกว่า 20 ปี อาทิ แดรี่ ฟาร์ม อินโดนีเซีย คาร์ฟูร์ ฯลฯ