กกร.ชงตั้งกองทุนเอสเอ็มอี

กกร.ชงตั้งกองทุนเอสเอ็มอี

ชง 2 ข้อเสนอหนุนผู้ประกอบการอีอีซี ชงตั้งกองทุนวิจัยสร้างนวัตกรรมให้เอสเอ็มอี ยกระดับเป็นซัพพลายเชนอุตฯเป้าหมาย พัฒนาบุคลากรป้อนภาคธุรกิจ ส.อ.ท.แนะคลอดมาตรการส่งเสริมเอสเอ็มอีลงทุนในนิคมฯ "หอการค้า" เร่งตั้งรัฐบาลใหม่สร้างเชื่อมั่นลงทุน

นางอรพินท์ เสริมประภาศิลป์ ประธานสภาอุตสาหกรรมภาคตะวันออก เปิดเผยว่า คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประกอบด้วยสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และสมาคมธนาคารไทย ได้เสนอคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ (กรอ.) ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานพิจารณาข้อเสนอเพื่อสนับสนุนภาคเอกชนลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) และต้องการให้รัฐบาลใหม่ที่กำลังจัดตั้งเข้ามาผลักดันต่อ

ทั้งนี้ กกร.เสนอ 2 ประเด็น คือ 1.ตั้งกองทุนพัฒนาอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นกองทุนที่บริหารงานโดยภาคเอกชน เพื่อสนับสนุนให้เอสเอ็มอีมีเงินลงทุนวิจัยและพัฒนา โดยจะไปหารือกับสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) และบริษัทขนาดใหญ่ ให้ช่วยเหลือระดมเงินทุนให้กับกองทุนนี้ และจะเริ่มในอีอีซีก่อน เพื่อยกระดับเอสเอ็มอีเข้าไปสู่ห่วงโซ่การผลิตกับอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูงในอีอีซีได้

กกร.ชงตั้งกองทุนเอสเอ็มอี

“กองทุนพัฒนาอุตสาหกรรมนี้ หากรัฐบาลใหม่เห็นด้วย จะไปหารือให้บริษัทขนาดใหญ่เข้าร่วม ซึ่งเงินกองทุนจะนำไปใช้เพื่อสนับสนุนเอสเอ็มอีด้านการวิจัยและพัฒนาเท่านั้น เพื่อยกระดับเทคโนโลยีและนวัตกรรมเอสเอ็มอี ซึ่งควรจะมีอัตราดอกเบี้ยต่ำเพื่อให้เอสเอ็มอีเข้าถึงได้ และหากประสบผลสำเร็จในอีอีซีแล้วจะขยายไปพื้นที่”

พัฒนาบุคลากรป้อนอุตฯ4.0

2.การพัฒนาบุคลากรในอีอีซี เพื่อยกระดับสู่อุตสาหกรรม 4.0 และอุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยแนวทางหลักจะเชื่อมโยงกับธุรกิจขนาดใหญ่ เปิดโรงงานให้เป็นศูนย์พัฒนาบุคลากรสำหรับเอสเอ็มอี เนื่องจากโรงงานเหล่านี้มีเครื่องจักรทันสมัย และมีบุคลากรที่เชี่ยวชาญสูง หากตั้งเป็นศูนย์พัฒนาบุคลากรในโรงงานจะช่วยพัฒนาบุคลากรของโรงงานเอสเอ็มอีให้มีคุณภาพขึ้น
รวมทั้งอาจจะตั้งศูนย์พัฒนาบุคลากรโดยเฉพาะ ซึ่งมีผู้เชี่ยวชาญทั้งภาครัฐและเอกชนมาอบรม และเป็นแนวทางที่ช่วยพัฒนาบุคลากรของเอสเอ็มอีได้เร็วและเกิดผลสูงสุด

“ภาคตะวันออกขาดบุคลากรสูงมาก โดยเฉพาะช่างเทคนิคที่เชี่ยวชาญระดับสูง หากให้สถาบันการศึกษาทำแต่ฝ่ายเดียวก็ต้องใช้เวลามากไม่ทันการณ์ ซึ่งการนำบุคลากรที่มีอยู่ไปยกระดับความสามารถก็จะทำให้สร้างบุคลากรทักษาขั้นสูงได้เร็ว และตรงกันความต้องการสูงสุด รวมทั้งควรจะช่วยเหลือเอสเอ็มอีที่ลงทุนพัฒนาบุคลากรด้านภาษี เพื่อสนับสนุนให้การพัฒนาบุคลากรมีความรวดเร็วมากขึ้น”

หนุนเอสเอ็มอีลงทุนในนิคมฯ

นางอรพินท์ กล่าวว่า ส.อ.ท.ต้องการให้รัฐบาลใหม่มาต่อยอดอีอีซี คือ การให้สิทธิพิเศษลดหย่อนค่าใช้จ่ายซื้อที่ดิน หรือ การอุดหนุนค่าสาธารณูปโภคในนิคมอุตสาหกรรมอีอีซี เนื่องจากผังเมืองอีอีซีพยายามผลักดันให้นักลงทุนไทยและต่างประเทศขยายการลงทุนในนิคมอุตสาหกรรม

“ในปัจจุบันที่ดินในนิคมฯ ราคา 4-11 ล้านบาทต่อไร่ หากเอสเอ็มอีตั้งโรงงานใช้พื้นที่ 10 ไร่ ต้องใช้เงินซื้อที่ดินถึง 40 ล้านบาท ซึ่งต้องเสียเงินกับค่าที่ดินจนไม่เหลือสร้างอาคารซื้อเครื่องจักร ดังนั้นหากรัฐบาลอยากให้เอสเอ็มอีเข้าไปในนิคมฯควรช่วยเหลือส่วนนี้”
นอกจากนี้ อยากให้กรมโยธาธิการและผังเมือง เปิดทางให้โรงงานเดิมที่อยู่ในอีอีซีขยายโรงงานได้มากกว่าที่กำหนดไว้ที่ 1 เท่าตัว เพื่อให้ใช้พื้นที่ได้มีประสิทธิภาพสูงสุด และเปิดโอกาสให้เอสเอ็มอีขยายการลงทุนไปอุตสาหกรรมระดับสูงได้

รวมทั้งการกำหนดผังเมืองในอีอีซีให้เป็นแบบ Negative List เพื่อเปิดทางให้ภาคอุตสากรรมเข้ามาลงทุนง่ายขึ้น โดยข้อเสนอเหล่านี้สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) จะเสนอกรมโยธาธิการและผังเมือง และสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.)

หอการค้าจี้เร่งตั้ง ครม.

นายปรัชญา สมะลาภา ประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคตะวันออก หอการค้าไทย กล่าวว่า อีอีซีคืบหน้าไปมากและมีโครงสร้างพื้นฐานที่เตรียมลงนามสัญญา คือ รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา) ส่วนการประมูลพัฒนาท่าเรือมาบตาพุดเฟส 3 ก็มีคืบหน้า

“ช่วงรอยต่อของรัฐบาลอยากให้รัฐบาลใหม่เสร็จเรียบร้อยโดยเร็ว เพราะเป็นช่วงที่ทุกคนลังเลไม่มั่นใจ แต่ในระยะยาวเชื่อว่าการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานจะเกิดขึ้นได้ ซึ่งมีการพูดคุยกับภาครัฐในบางเรื่องแล้ว แต่ช่วงสุญญากาศเช่นนี้อาจหยุดชะงักไป ซึ่งการมีรัฐบาลได้เร็วย่อมเป็นการเรื่องที่ดีต่อการลงทุน”

ทั้งนี้ การมีรัฐบาลใหม่จะสร้างความชัดเจนในการตัดสินใจลงทุนเพิ่มมากขึ้น เพราะนักลงทุนเองคงไม่เจรจากับรัฐบาลที่กำลังจะหมดวาระ แต่ต้องการเจรจากับรัฐบาลชุดใหม่ ซึ่งการมีรัฐบาลใหม่ที่ล่าช้าออกไปจะส่งผลต่อความมั่นใจของทุกคนที่มองว่า รัฐบาลชุดใหม่จะบริหารงานได้นานแค่ไหน และถ้ามีแนวโน้มที่รัฐบาลใหม่จะอยู่ไม่นานก็จะยิ่งมีผลต่อการตัดสินใจ

นายปรัชญา กล่าวว่า หากการจัดตั้งรัฐบาลยังไม่ได้ข้อสรุปก็ควรออกมาชี้แจ้งให้สาธารณะทราบ แต่ขอให้มีภาพการตกลงกันได้ระดับหนึ่งก็จะสร้างความมั่นใจมากขึ้น ซึ่งปัจจุบันนักธุรกิจต่างชาติให้ความสนใจการลงทุนในเวียดนามเพิ่มมากขึ้น แม้แต่นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ ก็บอกนักธุรกิจสหรัฐให้ไปลงทุนในเวียดนาม ทำให้ไทยสูญเสียโอกาสทางด้านเศรษฐกิจเพราะจะถูกเวียดนามดึงการลงทุนจากต่างประเทศไป

แนะเชื่อมโครงสร้างพื้นฐาน

นอกจากนี้ ภาคเอกชนต้องการให้การร่างผังเมืองรวมอีอีซีเป็นไปตามแผนที่จะได้ข้อสรุปในเดือน ก.ค.นี้ รวมทั้งควรมีการวางแผนรองรับการใช้ที่ดินเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เช่น การพัฒนาระบบขนส่งมวลชนเชื่อมต่อกับรถไฟความเร็วสูง

รวมทั้งการวางแผนรอบรับการพัฒนาสมาร์ทซิตี้ การพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในพื้นที่ การส่งเสริมการท่องเที่ยว การพัฒนาถนนเลียบชายฝั่ง การพัฒนาผู้ประกอบการในพื้นที่ให้เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้ได้ รวมไปถึงบุคลากรที่ต้องทำงานในพื้นที่ทั้งคนเก่าและคนใหม่ ซึ่งบุคคลในสถานประกอบการไม่มีเวลาที่จะไปเสริมทักษะหรือเพิ่มความรู้ ดังนั้นจำเป็นต้องมีการพัฒนาระบบการศึกษารูปแบบใหม่ เช่น การศึกษาออนไลน์ ซึ่งเชื่อว่าแนวทางนี้จะตอบโจทย์ในการพัฒนาบุคลากรเพื่อป้อนความต้องการผู้ประกอบการในอีอีซี