ลุย แอฟริกา ฝ่าทะเลทราย ไปกับ “ฟอร์ด เรนเจอร์ แร็พเตอร์”

ลุย แอฟริกา ฝ่าทะเลทราย ไปกับ “ฟอร์ด เรนเจอร์ แร็พเตอร์”

ฟอร์ด เรนเจอร์ แร็พเตอร์ เปิดตัวพร้อมกับคำถามมากมาย ทั้งเรื่องของการราคา และภาพของรถที่โดดได้ จนถูกนำมาพูดในวงกว้าง โดยเฉพาะโลกโซเชียลที่รวดเร็ว และดูเหมือนบางครั้ง สิ่งที่เร็วที่สุดและใช้มากที่สุดของคนโลกโซเชียล คือ นิ้ว

       แร็พเตอร์ ก็ค่อยๆ ตอบคำถามไปที่ละข้อ อย่างเรื่องของการโดดเนิน ที่เห็นบ่อยในงานโฆษณา หรือกิจกรรมการลองขับ ก็อย่างที่ผมเคยบอกไปว่าเป็นการสื่อให้เห็นถึงความแข็งแรงของช่วงล่าง และการทรงตัวของรถ หลังจากปล่อยให้ล้อลอยไม่ติดพื้น เพราะคงไม่มีลูกค้าคนไหนที่ซื้อรถเอาไปโดดเล่น

       ส่วนราคาที่สูงกว่าปิกอัพทั่วไปมาก คือ 1.69 ล้านบาท ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร เพราะถือว่าเป็นรถทางเลือก สำหรับผู้ที่ต้องการได้รถที่มีคุณสมบัติพิเศษ และแน่นอน เป็นผู้มีกำลังซื้อสูง ทุกวันนี้จึงได้เห็นโรงรถของหลายบ้านที่ปกติมีรถพรีเมียมยุโรปจอดอยู่ มีแรพเตอร์เข้าไปจอดรวมอยู่อย่างกลมกลืน ไม่ขัดเขิน

       แร็พเตอร์ เปิดตัวครั้งแรกในไทย ก่อนจะขยายไปยังตลาดอื่นๆ ล่าสุดไปเปิดตัวในแอฟริกา ด้วยรถที่มีฐานการผลิตในแอฟริกาใต้ และในโอกาสนี้เจ้าภาพอยากที่จะแสดงให้เห็นถึงสมรรถนะรถ ว่าจะเข้ากันได้ดีกับการใช้งานในภูมิประเทศอย่างแอฟริกาหรือไม่ จึงจัดกิจกรรมทดสอบสำหรับสื่อมวลชนทั่วโลก และผมก็เป็นหนึ่งในผู้ที่ได้รับเชิญ

       นี่เป็นการเดินทางมาแอฟริกาใต้เป็นครั้งที่ 2 หลังจากครั้งแรกผมมาดูสเปนที่มีจอมทัพอย่าง ซาบี้ และ อินเนียสต้าเฉือนโปรตุเกสของโรนัลโด้และกองหลังจอมโหดอย่างเปเป้ไป 1:0 ด้วยฝีเท้าของ ดาวิด บีญ่า ที่เคปทาวน์ ก่อนที่สเปนจะคว้าแชมป์โลกไปครองในปีนั้น

       แต่คราวนี้ผมนั่งเครื่องมาลงที่โจฮันเนสเบิร์ก ก่อนต่อเครื่องบินเล็กๆ ไปลงที่สนามบินเล็กๆ แต่น่ารักที่อัปปิงตัน เมืองทางตอนเหนือที่อยู่ห่างจากประเทศนามิเบียราว 130 กม. เท่านั้น และเป็นส่วนหนึ่งของทะเลทรายคาลาฮารี ที่กินพื้นที่ครอบคลุม 3 ประเทศ คือนามิเบีย, บอตสวาน่า และบางส่วนของ แอฟริกาใต้

ลุย แอฟริกา ฝ่าทะเลทราย ไปกับ “ฟอร์ด เรนเจอร์ แร็พเตอร์”

        อัปปิงตัน เมื่อมองลงมาจากหน้าต่างเครื่องบิน จะเห็นได้ว่าเป็นเมืองกลางทะเลทรายเหมือนกับหลายๆ เมือง แต่การมีแม่น้ำ ออเรนจ์ ซึ่งเป็นแม่น้ำที่ยาวที่สุดในแอฟริกาไหลผ่าน ทำให้บริเวณริมแม่น้ำเขียวขจี และยังเป็นแหล่งปลูกองุ่นสำหรับผลิตไวน์ที่สำคัญอีกด้วย

       เมืองนี้ยังใช้พลังงานแสงอาทิตย์ เป็นล่ำเป็นสัน ไม่ว่าจะเป็นระดับครัวเรือน หรือว่าสาธารณะก็ตาม

       เราเช็คเอาท์ที่โรงแรมในโจฮันเนสเบิร์กตี 5 ถึงอัปปิงตันช่วงเช้าก็พบกับแร็พเตอร์จอดเรียงรายรอที่สนามบิน โดยเป็นรถที่ผลิตจากโรงงานฟอร์ดในแอฟริกาใต้ ซึ่งหลักๆ ก็เหมือนกับที่จำหน่ายในไทย จะมีแตกต่างบ้างในรายละเอียดเล็กน้อย และเท่าที่ดูทั้งภายนอก และภายในห้องโดยสาร ถือว่าคุณภาพการประกอบทำได้ดี 

ลุย แอฟริกา ฝ่าทะเลทราย ไปกับ “ฟอร์ด เรนเจอร์ แร็พเตอร์”

        การเดินทางก็เริ่มต้นทันที เมื่อเสร็จสิ้นการบรีฟสั้นๆ ไม่มีอะไรมาก 

       เส้นทางมุ่งหน้าขึ้นเหนือผ่านเส้นทางอันเวิ้งว้างของทะเลทราย ไม้ใหญ่มีน้อย ขนาดไม้พุ่มเล็กๆ ยังต้องต่อสู้กับสภาพอากาศที่แห้งแล้วอย่างยากเย็น ทำให้เบาแรงผู้ที่ทำหน้าที่ผู้นำทาง ไม่ต้องดูโรดชีทหรือแผนที่นำทางที่ผู้จัดเตรียมไว้ให้ เพราะมองเห็นเพื่อนร่วมขบวนด้านหน้าได้ไกล แม้จะออกตัวห่างกันก็เห็นกัน และสักพักก็ไล่ตามกันทัน อีกทั้งถนนมีเส้นทางแยกย่อยไม่มากนัก

       ผมว่าคนใช้รถที่นี่คงลุ้นไม่ต่างกับคนใช้รถไฟฟ้าในบ้านเรา เพราะตลอดเส้นทางราว 100 กม. ผมไม่เห็นปั๊มน้ำมันสักแห่งเดียว แต่เห็นป้ายอันหนึ่งที่บอกว่า ให้เลี้ยวไปทางขวาอีก 160 กม. แล้วจะเจอ 

ลุย แอฟริกา ฝ่าทะเลทราย ไปกับ “ฟอร์ด เรนเจอร์ แร็พเตอร์”

       ถนนทั่วไปเป็นถนน 2 เลนสวนทาง ผิวถนนถือว่าดี เรียบ ไม่มีร่องรอยชำรุด อาจเป็นเพราะปริมาณรถน้อย และแล้ง ไม่มีน้ำมาเร่งความเสียหาย แม้ว่าเส้นนี้จะมีรถบรรทุกใหญ่ทั้ง 10 ล้อ 18 ล้อ วิ่งอยู่เป็นระยะก็ตาม

       โครงสร้างถนนแตกต่างจากที่พบทั่วไปในบ้านเรา พื้นผิวยางแอสฟัลต์ ออกแบบให้หยาบกว่า คล้ายๆ กับบางประเทศที่ฝนชุก เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำฝนเป็นตัวกั้นระหว่างยางกับถนนมาเกินไป จนำทำให้รถเสียหลักได้

       แต่ที่นี่ฝนน้อย ผมก็เข้าใจเอาเองว่าน่าจะป้องกันทรายที่ปลิวขึ้นมาทำให้รถลื่นได้ เพราะผิวถนนที่หยาบ จะทำให้เม็ดทรายลงไปแทรกอยู่ในร่อง ก่อนที่จะปลิวต่อออกนอกถนนไป

       ผิวถนนแบบนี้ ปกติจะทำให้เสียงยางดังกว่าปกติ แต่นี่เป็นอีกครั้งหนึ่งที่ต้องชมยางบั้งใหญ่ของบีเอฟ กู๊ดริช ที่เงียบอย่างน่าแปลกใจ

       แม้ว่าพื้นที่จะเป็นทะเลทรายเวิ้งว้าง แต่ถนนหนทาง ไม่ได้ตัดตรงเป็นไม้บรรทัดแต่เหมือนกับถนนทั่วไป มีทางตรง ทางโค้ง บางช่วงเป็นทางขึ้นลงเนินตามภูเขาทราย ก็ทำให้การขับขี่มีชีวิตชีวาขึ้น

       เส้นทางกำหนดความเร็วไม่เกิน 120 กม./ชม. แต่เอาเข้าจริงก็ยอมรับว่าใช้ความเร็วเกินกว่านั้น130 บ้าง 140 บ้าง ไปจนถึง 150 หรือ 160 แล้วแต่จังหวะ สิ่งที่ต้องระวังคือการสวนทางกับรถบรรทุกใหญ่ที่มาเป็นระยะๆ ในช่วงที่ถนนแคบ เข้าใจว่าเป็นรถบรรทุกสินค้าส่งตามเมืองต่างๆ หรือไม่ก็วิ่งข้ามประเทศ

       นอกจากนี้ก็มีป้ายเตือนให้ระวังสัตว์ป่าที่อาจวิ่งข้ามถนนได้ แต่ก็ไม่น่าเป็นปัญหาอะไร ด้วยทัศนวิสัยที่ดีของรถที่มองเห็นได้กว้าง และสภาพแวดล้อมโล่งๆ แบบนี้ ถ้ากวาง หรือยีราฟสักตัวจะวิ่งมา คงเห็นล่วงหน้าเป็นกิโลๆ หละครับ

       เมื่อบวกกับช่วงล่างที่นิ่ง พวงมาลัยแม่นยำ ทำให้การขับขี่ในเส้นทางนี้เป็นไปแบบสบายๆ แม้จะใช้ความเร็วสูง แต่ก็สามารถเพลิดเพลินกับความเวิ้งว้างที่สวยงามได้

       ส่วนเส้นทางโค้ง แม้บางช่วงจะเป็นโค้งลึก แต่การไม่มีอะไรบังสายตา ก็ทำให้มองเห็นทิศทางที่จะไปได้ไกลขึ้น การประเมินล่วงหน้าทำได้รวดเร็ว และด้วยความช่วยเหลือของช่วงล่างและพวงมาลัยที่แม่นยำ ก็ทำให้ผ่านเข้าไปได้อย่างรวดเร็ว

       เราแวะที่จุดพักซึ่งเป็นฟาร์ม เป็นที่พักอันโดดเดี่ยวกลางทะเลทราย ไม่มีชุมชนรอบข้าง เพื่อรับเสบียงติดรถคนละถุง ภายในมีเนื้อแห้ง 3 แบบ และลูกเกดชั้่นดีอีก 1 ถุง ก่อนมุงหน้าสู่พื้นที่เพื่อการขับขี่ในรูปแบบออฟโรดที่ท้าทาย แรพเตอร์ 

     ผ่านไปบนถนนหลวงกว่า 100 กม. เราก็ถึงที่หมายกลางทะเลทราย เป็นพื้นที่ที่เหมาะกับการทดสอบขับขี่ในรูปแบบออฟโรด ซึ่งกลุ่มออฟโรดของแอฟริกาใต้ ก็มักจะมาฝึกมือกัน รวมถึงมีทัวร์ออฟโรดมาขับขี่กันด้วย

ลุย แอฟริกา ฝ่าทะเลทราย ไปกับ “ฟอร์ด เรนเจอร์ แร็พเตอร์”

       ที่นี่เป็นลานเรียบๆ เมื่อมองเห็นแต่ไกลจากถนนหลวง มันหลอกตาเหมือนกับเป็นผิวน้ำ จนกระทั่งเมื่อขับรถลงไปจึงรู้ว่าเป็นกรวดกับหิน บนลานเรียบกว้างสุดลูกหูลูกตา แต่ก็ได้ข้อมูลมาว่าในอดีตที่นี่ก็เคยเป็นทะเลสาบมาก่อน แต่ความแห้งแล้งทำให้น้ำหายไป

       ฟอร์ดใช้พื้นที่นี้ เป็นสนามสำหรับทดสอบระบบต่างๆ และการควบคุมรถ ซึ่งรวมถึงสนามไดนามิค ที่กำหนดให้ทดลองการขับแบบโอเวอร์สเตียร์

       วิธีการคือปลดระบบช่วยเหลือการทรงตัวออกให้หมด ใช้โหมดขับขี่ 2 ล้อ (2H) ก่อน จากนั้นขับไปตามเส้นทางที่มีทั้งโค้งซ้าย โค้งขวา วงกลม เมื่อหัวรถเริ่มจะเข้าสู่ทางโค้ง ให้หักพวงมาลัยแบบแรงๆ หรือเรียกว่ากระชากพร้อมกับเติมคันเร่งแบบกดเต็มแรง กำลังของเครื่องยนต์ที่ส่งไปที่ล้อหลัง บนพื้นลื่นๆ เช่นนี้ ทำให้เกิดอาการโอเวอร์สเตียร์ได้ง่ายๆ

ลุย แอฟริกา ฝ่าทะเลทราย ไปกับ “ฟอร์ด เรนเจอร์ แร็พเตอร์”

       จากนั้นก็จัดการแก้อาการ โดยการใช้พวงมาลัย ไม่ใช้เบรก ซึ่งก็สามารถที่จะควบคุมรถกลับเข้ามาสู่เส้นทางได้ แม้ว่าจะดิ้นซ้ายขวาไปบ้าง แต่ก็ยังสามารถควบคุมรถให้อยู่ในช่องทางได้ในที่สุด ซึ่งแน่นอนก็ต้องยกความดีให้กับระบบช่วงล่าง รวมถึงยางที่ดี

       ต่อมาลองแบบเดิม แต่เปลี่ยนเป็นระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ (4H) แล้วขับแบบเดิมให้รถเสียการทรงตัว ก่อนจะแก้อาการด้วยพวงมาลัยเช่นเดิม ซึ่งคราวนี้แก้ได้ง่ายขึ้น เพราะล้อทั้ง 4 ช่วยกันทำงาน อาการดิ้นซ้าย-ขวา น้อยลง ดึงรถกลับมาอยู่ในช่องทางได้รวดเร็ว

       หลังจากนั้นเป็นการขับขี่ด้วยโหมด “บาฮา” (BAJA) หรือโหมดการขับขี่ที่ความเร็วสูง ซึ่งระบบนี้จะลดการใช้งาน แทรคชั่น คอนโทรล แต่เพิ่มการตอบสนองของเครื่องยนต์ และเกียร์ที่รวดเร็วขั้น กระชับขึ้น

       เส้นทางลัดเลาะไปตามเส้นทางธรรมชาติบนพื้นทะเลสาบเก่า เลาะไปตรงชายเขาบ้าง และผ่านร่องน้ำที่ลึกลงไป และเนินบางแห่งที่ทำให้รถกระโดดลอยขึ้นจากพื้น

       พื้นผิวเป็นกรวดและทราย มีความลื่นมาก จึงอยู่ที่การควบคุมพวงมาลัยให้ดี เพื่อผ่านเส้นทางต่างๆ เหล่านี้ไป โดยไม่ไถลออกนอกเส้นทาง แม้จะมีเซฟตี้ แอเรีย อยู่มากก็ตาม แต่ก็ไม่ควรครับ

       และสิ่งที่เพิ่มความตื่นแต้นคือบางช่วงมีหินก้อนใหญ่เต็มพื้น จึงต้องพยายามหลบไปให้ได้ เพื่อไม่ให้ตัวรถ อย่างน้อยก็คือยางได้รับความเสียหาย

ลุย แอฟริกา ฝ่าทะเลทราย ไปกับ “ฟอร์ด เรนเจอร์ แร็พเตอร์”

        นอกจากการขับขี่ในสนาม การใช้โหมดบาฮาบนถนนจริงแล้ว ฟอร์ด ยังจัดเส้นทางเนินทรายที่เป็นทรายละเอียด หรือ แซนด์ ดูน ให้ได้ลองสมรรถนะกันด้วย เป็นอีกเส้นทางที่ท้าทาย เพราะเส้นทางมีเนินชันมาก และคดโค้ง บางเนินเมื่อต้องเหยียบคันเร่งส่งกำลังเต็มที่เพื่อให้ผ่านอุปสรรคไปได้ เมื่อถึงยอดเนินก็เจอทางที่หักเลี้ยวแคบๆ ทันที เป็นเส้นทางที่ท้าทาย เพราะหากไม่เร่งกำลังเต็มที่ รถก็ขึ้นไม่ได้ แต่ถ้าขึ้นถึงจุดยอด แล้วผ่อนไม่ทัน หรือเลี้ยวไม่ทันก็มีสิทธิตกไปอีกฝั่งหนึ่งได้

       รวมถึงบางช่วงที่เป็นทางลงและขึ้นที่ติดๆกัน พูดง่ายคือก้นหลุมแคบ ลงถึงก้น ก็ต้องรีบขึ้นทันที ก็เป็นอีกความท้าทาย เพราะต้องลงเบาๆ แต่ขั้นเร็วๆ ไม่อย่างนั้นก็จะจมทรายได้เช่นกัน

       สนามนี้เลือกโหมดขับขี่ ทราย-โคลน หรือ sand-mud และใช้โหมดขับเคลื่อน 4H แม้บางคนบอกว่าน่าจะใช้ 4L มากกว่า แต่ถ้ากะจังหวะดีๆ ประเมินเส้นทางที่จะไปให้รวดเร็ว 4H ก็ผ่านไปได้ตลอด

ลุย แอฟริกา ฝ่าทะเลทราย ไปกับ “ฟอร์ด เรนเจอร์ แร็พเตอร์”

ลุย แอฟริกา ฝ่าทะเลทราย ไปกับ “ฟอร์ด เรนเจอร์ แร็พเตอร์”

       ซึ่งกำลังของเครื่องยนต์ดีเซล ไบ เทอร์โบ 2.0 ลิตร ที่ให้กำลังสูงสุด 213 แรงม้า ที่ 3,750 รอบ/นาที และแรงบิด 500 นิวตันเมตรที่ 1,500-2,000 รอบ/นาที ก็เพียงพอต่อการขับขี่ในเส้นทางแบบนี้ครับ

       เพียงแต่ว่าต้องประเมินเส้นทางให้ถูกต้อง รู้ว่าต้องเร่งช่วงไหน ผ่อนช่วงไหน และไม่พารถไปจอดอยู่ระหว่างเนิน แต่จะต้องจอดไม่ที่ยอดเนินก็ต้องส่วนล่างสุดของเนิน ซึ่งเป็นบริเวณที่ทรายหนาแน่นที่สุด

       และก็ต้องไม่ลืมว่า ก่อนจะเข้าสู่ทางทราย จะต้องปล่อยลมยางออกบ้าง เพื่อเพิ่มพื้นที่สัมผัสของล้อให้มากขึ้นครับ

       แต่จุดที่เป็นไฮไลท์ของวันนี้ เกิดขึ้นเมื่อเราออกจากพื้นที่นี้ในช่วงเย็น ซึ่งก็คิดจะมุ่งหน้าไปโรงแรม แต่ที่ไหนได้ ทีมงานพาเข้าทางแยกระหว่างทาง ก่อนที่จะบรีฟสั้นๆ ว่า ข้างหน้า ซึ่งเป็นถนนจริง ชาวบ้านใช้จริง จะเป็นการทดสอบขับขี่บาฮากันอีกครั้ง แต่จะตื่นเต้นกว่า เพราะไม่มีการพาดูทางก่อนล่วงหน้า ลุยกันเลย และการเป็นถนนจริง หมายความว่าจะพลาดไม่ได้ เพราะถ้าหลุดออกนอกถนน ก็หมายถึงการเกิดอุบัติเหตุ 

       และที่สำคัญถนนที่เขาเลือกเป็นถนนที่มีเนินขึ้นลงตลอดทาง ดังนั้นการขับไปบนพื้นผิวที่เป็นหินลอย เราไม่รู้เลยว่าหลังเนินจะเป็นอย่างไร ยกเว้นถ้าเป็นทางโค้งมากๆ เขาจะติดป้ายบอกไว้ล่วงหน้าเล็กน้อย

       ตื่นเต้นและสนุกครับ และคราวนี้ แร็พเตอร์ ได้โดดอีกครั้ง เป็นการโดดบนถนนจริง เมื่อขึ้นเนินไปด้วยความเร็ว ให้อารมณ์เหมือนกับกำลังอยู่ในช่วงเอสเอสพิเศษของการแข่งขันแรลลี

       แต่จุดที่ผมชอบมากกว่าคือ หลังเนินบางแห่งที่ไม่เห็นล่วงหน้า มันเป็นทางโค้ง ดังนั้นเมื่อรถโดดลงมาจากเนินและเพิ่งจะเห็นเส้นทาง ก็ต้องใช้วิธีการควบคุมพวงมาลัยเป็นหลัก เข้าไลน์ให้ถูกต้อง โดยใช้เบรกน้อยที่สุดบนพื้นผิวลื่นๆ แบบนี้ ซึ่งรถตอบสนองได้ดี ผ่านเส้นทางจนถึงจุดหมายได้อย่างปลอดภัย พร้อมกับอารมณ์สนุกที่สูบฉีดเต็มที่

ลุย แอฟริกา ฝ่าทะเลทราย ไปกับ “ฟอร์ด เรนเจอร์ แร็พเตอร์”

ลุย แอฟริกา ฝ่าทะเลทราย ไปกับ “ฟอร์ด เรนเจอร์ แร็พเตอร์”

ลุย แอฟริกา ฝ่าทะเลทราย ไปกับ “ฟอร์ด เรนเจอร์ แร็พเตอร์”

ลุย แอฟริกา ฝ่าทะเลทราย ไปกับ “ฟอร์ด เรนเจอร์ แร็พเตอร์”

ลุย แอฟริกา ฝ่าทะเลทราย ไปกับ “ฟอร์ด เรนเจอร์ แร็พเตอร์”

     เป็นอีกครั้งที่ได้ขับแร็พเตอร์ แล้วรู้สึกประทับใจ และไม่แปลกใจว่าทำไมในบ้านเรา หลายคนจึงยอมควักเงิน 1.69 ล้านบาท เพื่อเป็นเจ้าของปิกอัพคันนี้ครับ

 *****

ลุย แอฟริกา ฝ่าทะเลทราย ไปกับ “ฟอร์ด เรนเจอร์ แร็พเตอร์”