เผยคุณภาพชีวิต 8 ประชากรกลุ่มเฉพาะ

เผยคุณภาพชีวิต 8 ประชากรกลุ่มเฉพาะ

สสส.สะท้อน คุณภาพชีวิตพร้อมเผยสถิติ สุขภาวะคน 8 กลุ่ม คนพิการ คนไร้บ้าน ผู้สูงอายุ ผู้หญิง 37.7 ล้านคน แรงงานนอกระบบ ผู้มีปัญหาสถานะบุคคล/ประชากรข้ามชาติ และมุสลิม 3.2 ระบุสถานการณ์ที่ต้องเผชิญ ทั้งไร้ตัวตน ถูกมองข้าม ถูกผลักภาระ มีความเสี่ยงสูง

ประชากรกลุ่มเฉพาะในประเทศไทย อาจกล่าวได้ว่าเป็นบุคคลหรือกลุ่มคนส่วนน้อย ซึ่งสังคมไม่รับรู้ ไม่สนใจ เป็นผู้ที่ถูกทำให้ไม่มีความสำคัญ ทั้งที่ประชากรกลุ่มนี้ อยู่ในภาวะความเสี่ยงหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็น สุขภาพ สภาพทางเศรษฐกิจ และการใช้ชีวิตในสังคม วันนี้ (12 มิ.ย.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) ร่วมกับภาคีเครือข่าย จัดงานประชุมวิชาการและแลกเปลี่ยนเรียนรู้เสียงที่คนอื่นไม่ได้ยิน : ประชากรกลุ่มเฉพาะ “ Voice of the voiceless: the vulnerable populations” เพื่อลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำของประชากรทุกกลุ่ม

จากการสำรวจประชากรกลุ่มเฉพาะ โดยสสส. พบว่า สามารถแบ่งได้ เป็น 8 กลุ่ม ดังนี้ ได้แก่ คนพิการ 2.04 ล้านคน คนไร้บ้าน 1,518 คน ผู้สูงอายุ 13.3 ล้านคน ผู้หญิง 37.7 ล้านคน ผู้ต้องขังหญิง 1.5 แสนคน แรงงานนอกระบบ 21.19 ล้านคน ผู้มีปัญหาสถานะบุคคล/ประชากรข้ามชาติ 3.1 ล้านคน และมุสลิม 3.2 ล้านคน ซึ่งตัวเลขดังกล่าวเป็นตัวเลขล่าสุดของแต่ละกลุ่มที่มีการแจ้งให้ทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับทราบ

นพ.วีระพันธ์ สุพรรณไชยมาตย์ รองประธานกรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพคนที่ 2 กล่าวว่า สสส. ให้ความสำคัญกับการทำงานสร้างเสริมสุขภาวะในทุกกลุ่ม ซึ่งประชากรกลุ่มเฉพาะ เป็นกลุ่มที่มีความเปราะบาง และมีข้อจำกัดในการดำเนินชีวิต โดบสถานการณ์ที่คนกลุ่มนี้ต้องเผชิญร่วมกันคือ 1. ไร้ตัวตน ถูกมองข้าม 2. ถูกผลักภาระ 3. มีความเสี่ยงสูง 4.ถูกกีดกันออกจากนโยบาย และ 5. มีจิตสำนึกจำยอม หรือยอมจำนน ดังนั้น การทำงานเพื่อลดช่องว่างของปัญหาเหล่านี้มีความจำเป็นอบ่างมาก ที่ทุกภาคส่วนต้องทำงานร่วมกัน เพื่อลดความเหลื่อมล้ำผ่านปัจจัยทางสังคม สร้างการเปลี่ยนแปลงทั้งในระดับวิธีคิดและเชิงโครงสร้างโดยอาศัยยุทธศาสตร์การสร้างแนวร่วมสนับสนุนจากทุกภาคส่วนของสังคม ทั้งภาคประชาสัมคม ภาครัฐ และภาคเอกชน

นายสุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการ สสส. กล่าวว่า สสส. มุ่งลดความเหลื่อมล้ำทางสุขภาพ และสร้างความเท่าเทียม ยุติธรรม ไม่แบ่งแยก ซึ่งประเทศไทยและนานาประเทศให้ความสำคัญต่อการพัฒนาที่ยั่งยืน สร้างความเป็นธรรมทางสุขภาพและสังคมให้ปรากฏขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมในทุกมิติ ได้มีการพัฒนาข้อเสนอเชิงนโยบายที่ครอบคลุม. พัฒนาระบบกลไกเพื่อขับเคลื่อนนโยบายทั้งในระดับประเทศและระดับพื้นที่ การพัฒนาศักยภาพภาคีเครือข่าย รวมถึงการสร้างสรรค์นวัตกรรมต่างๆ ให้เกิดการสร้างเสริมสุขภาวะที่ดีในประชากรกลุ่มเฉพาะ ซึ่งมีผลงานเชิงประจักษ์ในหลายประเด็น อาทิ สสส. ได้สร้างพื้นที่ต้นแบบการทำงานลดความเหลื่อมล้ำของประชากรกลุ่มเปราะบาง 4 ด้าน

คือ 1.พัฒนาสิทธิและการพิสูจน์สิทธิของประชากรเพื่อการเข้าถึงบริการทางสุขภาพ หรือสวัสดิการสังคมตามสิทธิที่พึงมีพึงได้ 2.พัฒนากลไกการสร้างเสริมสุขภาพ สิทธิประโยชน์ ระบบบริการที่เหมาะสมกับบริบทที่แตกต่างกันของแต่ละกลุ่มประชากร 3.พัฒนากลไกเสริมเพื่อการเข้าถึงความเป็นธรรมทางสุขภาพ 4.สื่อสารเพื่อการสร้างความเข้าใจการสร้างเสริมสุขภาวะของประชากรกลุ่มเฉพาะ