กนอ.ลุยถกสัญญามาบตาพุด

กนอ.ลุยถกสัญญามาบตาพุด

ครม.อนุมัติผลเจรจามาบตาพุดเฟส 3 ระหว่าง กนอ.กับ กัลฟ์-ปตท. ลดเงินร่วมลงทุนจาก 720 ล้านบาท เป็น 710 ล้านบาทต่อปี

ชี้ กนอ.ได้ผลตอบแทนเพิ่ม 115 ล้านบาท รวมวงเงินร่วมลงทุนกับเอกชน 2.7 หมื่นล้านบาท สั่งเดินหน้าเจรจาร่างสัญญา คาดก่อสร้างแล้วเสร็จปี 2568

นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ โฆษกประจำรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 11 มิ.ย.ที่ผ่านมามีมติเห็นชอบการขอปรับปรุงหลักการของโครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดระยะที่ 3 (ช่วงที่ 1) ตามที่สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เสนอ

กนอ.ลุยถกสัญญามาบตาพุด

โดยให้มีการปรับปรุงจำนวนเงินร่วมลงทุนของรัฐในโครงการนี้ตามที่การนิคมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ได้มีการเจรจาเพิ่มเติมกับภาคเอกชนผู้ชนะการประมูลในโครงการ ได้แก่ กลุ่มบริษัทกิจการร่วมค้า บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ และบริษัทพีทีที แทงค์ เทอร์มินัล (บริษัทลูกกลุ่ม ผตท.) ตามที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้เสนอไปก่อนหน้านี้

สำหรับ สาระสำคัญคือการให้เปลี่ยนแปลงจำนวนเงินร่วมลงทุนของรัฐ หักค่าให้สิทธิการร่วมลงทุนของภาคเอกชนจากเดิมที่ กนอ.ต้องจ่ายให้ภาคเอกชน 720 ล้านบาท เป็นระยะเวลา 30 ปี ปรับเปลี่ยนเป็น กนอ.ร่วมลงทุนปีละ 710 ล้านบาท เป็นระยะเวลา 30 ปี รวมวงเงิน 21,300 ล้านบาท

กนอ.รับผลตอบแทนลงทุนขึ้น

ทั้งนี้ ส่งผลให้ผลตอบแทนทางการเงินขั้นต่ำของ กนอ.จากการร่วมลงทุนกับภาคเอกชนช่วงที่ 1 และช่วงที่ 2 รวมเท่ากับมูลค่าปัจจุบันสุทธิ (NPV) 6,721 ล้านบาท ปรับเพิ่มขึ้นจากเดิมที่ กนอ.จะได้รับอยู่ที่ 6,606 ล้านบาท โดยเป็นผลตอบแทนในช่วงโครงการช่วงที่ 1 อยู่ที่ 139 ล้านบาท

ส่วนผลตอบแทนโครงการช่วงที่ 2 กนอ.จะได้รับ 6,582 ล้านบาท โดยการเจรจานี้เป็นการคิดตามสมมุติฐานอัตราคิดลดจากอัตราดอกเบี้ยที่ภาคเอกชนสามารถกู้ได้ที่ประมาณ 4% ต่อปี ซึ่งสูงกว่าในครั้งที่ประชุม ครม.เมื่อวันที่ 30 ต.ค.2561 ซึ่งเคยใช้อัตราส่วนเงินกู้ 2.5% ต่อปีซึ่งเป็นอัตราส่วนที่เป็นการกู้ยืมระหว่างภาครัฐหรือเป็นไปตามสัดส่วนเงินกู้พันธบัตรรัฐบาล (Reference Price)

ทั้งนี้ ผลตอบแทนทางการเงินของ กนอ.ตลอดโครงการคิดเป็นอัตราผลตอบแทนทางการเงิน (FIRR) 9.21% ส่วนผลตอบแทนของภาคเอกชนที่ชนะการประมูลหลังการต่อรองลดลงจากเดิม 14,371 ล้านบาท เป็น 14,298 ล้านบาท คิดเป็น FIRR 10.73%

เดินหน้าเจรจาร่างสัญญา

นายณัฐพร กล่าวว่า ขั้นตอนต่อไปให้มีการเจรจาร่างสัญญาร่วมลงทุนกับภาคเอกชนและเสนอผลการเจรจาสัญญาให้กับคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) และ ครม.พิจารณาตามขั้นตอนต่อไป

นอกจากนี้ กนอ.ได้นำเสนอรายละเอียดของโครงการให้ที่ประชุม ครม.รับทราบว่าโครงการก่อสร้างท่าเรือมาบตาพุดระยะที่ 3 เป็นโครงการสำคัญในอีอีซีมีกำหนดการก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2568 มูลค่าการก่อสร้างโครงการรวม 55,400 ล้านบาท โดยเป็นโครงการร่วมลงทุนระห่างเอกชนกับภาครัฐ

รัฐร่วมลงทุน2.7หมื่นล้าน

ทั้งนี้ กนอ.ร่วมลงทุนตลอดทั้งโครงการวงเงินรวม 27,714.64 ล้านบาท แบ่งเป็นค่าธรรมเนียมการใช้ประโยชน์ที่ดิน 199.76 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานที่ท่าเทียบเรือ 1,100.15 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายในการบริหารโครงการ 1534.20 ล้านบาท ต้นทุนค่าบริการสาธารณูปโภค 490.69 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายตามมาตรการผลกระทบสิ่งแวดล้อม 89.84 ล้านบาท และเงินที่กนอ.ร่วมลงทุนในโครงการในส่วนของโครงสร้างพื้นฐานวงเงิน 24,300 ล้านบาท

รวมทั้งเมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จโครงการนี้จะช่วยเพิ่มศักยภาพการขนส่งท่าเทียบเรือก๊าซจำนวน 3 ท่า ในพื้นที่ 200 ไร่ ความยาวหน้าท่าประมาณ 1,415 เมตร สามารถรองรับสินค้าได้รวมกว่า 10.8 ล้านตันต่อปี ส่วนท่าเรือสินค้าเหลวมีท่าเทียบเรือจำนวน 2 ท่า มีพื้นที่ประมาณ 200 ไร่ ความยาวหน้าท่า 814 เมตร รองรับสินค้าได้ประมาณ 4 ล้านตันต่อปี คลังสินค้าธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องโดยมีพื้นที่หลังท่าประมาณ 150 ไร่ โดยรายละเอียดเป็นไปตามที่ กนอ.กำหนดภายหลัง

สศช.ห่วงผลตอบแทนรัฐ

รายงานข่าวจาก กนอ.ระบุว่า การประชุม ครม.เมื่อวันที่ 21 พ.ค.ที่ผ่านมา มีมติให้ กนอ.กลับไปเจรจากับภาคเอกชนใหม่ โดย สศช.ได้ให้ความเห็นประกอบการพิจารณาของ ครม.ครั้งนั้นว่า ในการเจรจากับภาคเอกชนควรมีเป้าหมายให้ค่าใช้จ่ายและผลตอบแทนอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับรายงานผลการวิเคราะห์การศึกษาที่เคยทำไว้ เนื่องจากวงเงินลงทุนของโครงการได้ครอบคลุมถึงค่าเผื่อเหลือเผื่อขาด และอัตราค่าเสียโอกาสทางการเงินไว้แล้ว

อีกทั้งการลงทุนดังกล่าวจะทำให้เอกชนได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนในงานโครงสร้างพื้นฐานของการพัฒนาโครงการนี้อยู่ในระดับที่ดี และสูงกว่าผลตอบแทนจากการลงทุนที่มีความเสี่ยงในระดับเดียวกัน
โดยหากคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนฯ ไม่สามารถดำเนินการเจรจาต่อรองให้บรรลุเป้าหมายได้ก็ให้พิจารณาทางเลือกอื่นที่จะช่วยลดภาระค่าลงทุนของการพัฒนาโครงการของ กนอ.ในภาพรวม เช่น การระดมทุนจากการออกพันธบัตร ซึ่งจะช่วยให้ได้รับผลตอบแทนทางการเงินจากการดำเนินโครงการนี้ตามที่ประมาณการไว้อีกทั้งช่วยลดความเสี่ยงทางการเงินของ กนอ.ในอนาคตด้วย

พลาดเป้าลงนามสัญญา

ทั้งนี้ เดิม กนอ.ประเมินว่าจะสามารถลงนามในสัญญาร่วมลงทุนกับภาคเอกชนเข้าพัฒนาในส่วนของโครงสร้างพื้นฐานได้เดือน มิ.ย.2562 แต่จะต้องเลื่อนออกไป เพราะคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนฯ เพิ่งจะเริ่มไปเจรจาสัญญากับภาคเอกชนหลังจาก ครม.มีมติวานนี้ (11 มิ.ย.)

รวมทั้งเมื่อคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนฯ เจรจาร่างสัญญาแล้วเสร็จก็ต้องส่งรายละเอียดไปยังอัยการสูงสุด เพื่อตรวจพิจารณาร่างร่างสัญญาของโครงการดังกล่าว ซึ่ง กนอ.ตั้งเป้าหมายที่จะดำเนินการให้เกิดประโยชน์สูงสุดที่ภาครัฐจะได้รับจากการเปิดให้ภาคเอกชนเข้าบริหารจัดการท่าเรือในระยะ 30 ปี
สำหรับการพัฒนาท่าเรือมาบตาพุดเฟส 3 เปิดให้เอกชนยื่นซองประมูลเมื่อวันที่ 15 ก.พ.ที่ผ่านมา ซึ่งกพอ. ต้องการประมูลเสร็จภายในเดือน มิ.ย.นี้ เพราะเป็นโครงการเร่งด่วน

ในขณะที่การพัฒนาท่าเรือมาบตาพุดเฟส 3 จะรองรับการพัฒนาธุรกิจเกี่ยวเนื่อง เพราะปัจจุบันการใช้งานท่าเรือมาบตาพุดใกล้เต็มศักยภาพแล้วจึงต้องขยายเป็นระยะที่ 3 เพื่อรองรับการขนถ่ายก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) และสินค้าเหลวสำหรับอุตสาหกรรมปิโตรเคมีเพิ่มอีก 14 ล้านตันต่อปี ในอีก 30 ปีข้างหน้า