สร.รฟท.ยื่นหนังสื่อต่อ 'วรวุฒิ' ร้องเปิดเผยสัญญา 'รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน'

สร.รฟท.ยื่นหนังสื่อต่อ 'วรวุฒิ' ร้องเปิดเผยสัญญา 'รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน'

"ภิญโญ" แกนนำ สร.รฟท. ยื่นหนังสือรักษาการ "ผู้ว่าการรฟท." เรียกร้องให้เปิดเผยสัญญา โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน

เมื่อเวลาประมาณ 9.00 น. ที่ตึกบัญชาการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย (สร.รฟท.) นำโดยนายภิญโญ เรือนเพ็ชร รองประธานพร้อมกรรมการบริหารเข้าพบนายวรวุฒิมาลา รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจการบริหารสินทรัพย์ รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย

พร้อมกับยื่นหนังสือแสดงเจตจำนงของ สร.รฟท.เพื่อให้โครงการขนาดใหญ่ “โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา”ซึ่งรัฐบาลให้การรถไฟเป็นผู้รับผิดชอบในการกำกับดูแล

โดยนายภิญโญฯกล่าวว่าการเข้าพบและยื่นหนังสือในครั้งนี้เพื่อขอให้การรถไฟฯเปิดเผยสัญญาที่จะลงนามกันให้ สร.รฟท.และสาธารณชนได้รับทราบ เพราะโครงการดังกล่าวเป็นโครงการขนาดใหญ่มูลค่าโครงการสูงถึง 2.2 แสนล้านบาทและรัฐร่วมลงทุนถึง 1.4 แสนล้านบาทซึ่งงบประมาณทั้งหมดล้วนมาจากภาษีของประชาชน ประชาชนควรรับทราบ ประกอบกับเมื่อไม่นานมานี้การรถไฟฯถูกศาลปกครองสูงสุดพิพากษาให้ชดใช้ค่าเสียหายให้แก่บริษัทโฮปเวลล์ตามคำวินิจฉัยขอม๕ระอนุญาโตตุลาการเป็นเงินสูงถึงเกือบ 2 หมื่นล้านบาท ในการลงนามครั้งนั้น สร.รฟท.และสาธารณชนก็ไม่ทราบถึงสาระของสัญญาจนนำไปสู่ “ค่าโง่”อย่างที่สื่อมวลชนนำเสนอ ดังนั้นในการลงนามในครั้งนี้จึงขอให้เปิดเผยให้ประชาชน สื่อมวลชนรับรู้กันอย่างกว้างขวางเพื่อร่วมกันตรวจสอบ ตามหลักธรรมาภิบาล

นายภิญโญฯกล่าวต่อไปว่าจากนี้ไปก็ต้องรอคำตอบจากการรถไฟฯและส่วนที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะรัฐบาลว่าจะตอบรับเรื่องนี้อย่างไรหรือไม่ เพราะที่สุดแล้วคนที่ตัดสินใจจริงๆคือรัฐบาลดังนั้นในขั้นตอนต่อไปจะประชุมหารือกับสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์(สรส.)ในฐานะที่ สร.รฟท.เป็นสมาชิกอยู่ รวมทั้งเครือข่ายองค์กรภาคประชาชนอื่นๆว่าจะขับเคลื่อนเรื่องนี้อย่างไรต่อไป เพราะก่อนหน้านี้เครือข่ายภาคประชาชน 45 องค์กร นำโดยกลุ่มธรรมาภิบาลไทย และ สรส.ได้เคยยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีไปแล้วเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2562

สำหรับรายรายละเอียดในหนังสือที่ยื่นมีดังนี้
เรื่อง ขอให้เปิดเผยข้อมูลสัญญา เงื่อนไขในโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม ๓ สนามบิน(ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) และข้อมูลรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ของโครงการฯ

เรียน รักษาการผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (คุณวรวุฒิ มาลา)
ตามที่สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย(สร.รฟท.)มีวัตถุประสงค์ในการดำเนินงานในการให้ความร่วมมือและดำเนินการเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและรักษาผลประโยชน์ของรัฐวิสาหกิจตามพระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๔๓ มาตรา ๔๐(๔) เพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ข้างต้น และป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายแก่การรถไฟแห่งประเทศไทย ดังเช่นค่าเสียหายจากกรณียกเลิกสัญญากับบริษัทโฮปเวลล์เนื่องจากกรณีโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม ๓สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา)ระยะทาง ๒๒๐ กม. มูลค่าโครงการจำนวน ๒๒๔,๕๔๔ ล้านบาท จะมีการลงนามสัญญาโครงการฯระหว่างการรถไฟฯ กับกลุ่มกิจการร่วมค้าบริษัทเจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัดและพันธมิตร (กลุ่ม CPH)ที่กำหนดภายในวันที่ ๑๕มิถุนายน ๒๕๖๒ มีความจำเป็นต้องเลื่อนออกไปเพราะติดปัญหา ๒ ประเด็น คือแผนส่งมอบที่ดินล่าช้าและยังต้องเจรจากันต่อในวันที่ ๑๕ มิถุนายน ๒๕๖๒ และยังต้องรอผลที่ประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติในวันที่ ๒๔ มิ.ย. ๖๒ นั้น

จากกรณีปัญหาข้างต้นในเรื่องการส่งมอบพื้นที่โดยจะทำการเจรจาตั้งแต่ดอนเมือง-อู่ตะเภา ซึ่งมีหลายประเด็นที่ต้องหารือ เช่น ๑.มีผู้บุกรุกกี่จุด ช่วง กม.ใดบ้าง ๒.ติดปัญหาสัญญาเช่ากี่จุด ๓.ช่วงดอนเมือง-บางซื่อ ซึ่งทับซ้อนกับโครงการรถไฟไทย-จีน รถไฟไทย-ญี่ปุ่น และช่วงสถานีจิตรลดาที่ทับซ้อนกับสายสีแดง ซึ่งทาง ซี.พี.จะต้องก่อสร้างไปก่อนโดยเผื่อสายสีแดงด้วยแล้วค่อยใช้คืนภายหลัง ๔.เสาตอม่อโฮปเวลล์จะต้องดำเนินการรื้อย้ายอย่างไร ๕.พื้นที่เวนคืนส่วนใหญ่ที่ฉะชิงเทรา รอการออกพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) การกำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน พื้นที่กรุงเทพฯ สมุทรปราการ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง มีเวนคืนที่ดิน ๘๕๐ ไร่ และสิ่งปลูกสร้าง ๒๔๕ หลัง วงเงิน ๓,๕๗๐ ล้านบาท ซึ่งทาง ซี.พี.ทราบขั้นตอนแล้ว โดยหลักการจะต้องหารือว่า ซี.พี. มีแผนจะเริ่มงานก่อสร้างจุดใดก่อน ขณะที่ ร.ฟ.ท. พร้อมจะส่งมอบให้ได้อย่างไร เมื่อใด ต้องคุยกัน วางแผนร่วมกัน เพราะจุดที่มีปัญหาจะต้องใช้เวลาในการจัดการก่อนส่งมอบ โดยพื้นที่มีเวลาส่งมอบภายใน ๕ ปีอย่างไรก็ตาม การรื้อย้ายสาธารณูปโภคต่างๆ อยู่ในความรับผิดชอบของ ซี.พี. ส่วน ร.ฟ.ท.จะรับผิดชอบ เรื่องการโยกย้ายผู้บุกรุก รวมถึงเสาตอม่อโฮปเวลล์ด้วย สำหรับพื้นที่ที่จะมีการพัฒนาเชิงพาณิชย์ หรือ TOD มีทั้งหมด ๑๕๐ไร่ โดยจะ ส่งมอบส่วนแรก ๑๐๐ไร่ก่อน ส่วนอีก ๕๐ไร่ที่เหลือทยอยส่งมอบภายใน ๕ปี เนื่องจากจะต้องย้ายพวงรางออกจากพื้นที่ก่อนซึ่งในการส่งมอบพื้นที่จะส่งผลกระทบเป็นวงกว้างต่อการดำเนินกิจการของการรถไฟ

ต้องเผชิญกับค่าโง่โฮปเวลล์ฯ และส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของประชาชนเป็นอย่างมาก และถ้าหากค่าเสียหายหลายหมื่นล้านบาทนั้น เกิดจากการรถไฟฯไม่สามารถส่งมอบพื้นที่ตามเส้นทางได้ภายในกำหนดเวลา
ดังนั้นสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย (สร.รฟท.) มีความประสงค์ที่จะให้การรถไฟแห่งประเทศไทยเปิดเผยข้อมูลสัญญา เงื่อนไข ในโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม ๓ สนามบิน(ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ- อู่ตะเภา) และข้อมูลรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ของโครงการและรวมถึงข้อมูลอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับโครงการฯนี้ให้กับทาง สร.รฟท.และประชาชนผู้ได้รับผลกระทบ รวมถึงสื่อมวลชนเพื่อให้เห็นถึงสาระสำคัญและรายละเอียดของโครงการฯ หวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้รับข้อมูลจากท่าน จึงขอขอบคุณล่วงหน้ามา ณ โอกาสนี้