วิดีโอออนดีมานด์ลงทุนเอเชียพุ่งหมื่นล.ดอลล์

วิดีโอออนดีมานด์ลงทุนเอเชียพุ่งหมื่นล.ดอลล์

วีดีโอออนดีมานด์เอเชียพุ่ง "แอลฟาบีตา" เผยปี 65 เม็ดเงินลงทุนทะลุหมื่นล้านดอลลาร์ ดันยอดสมาชิกบริการโตเท่าตัวใน 5 ปี หนุนผู้ให้บริการมุ่งพัฒนาคอนเทนท์ท้องถิ่นเพิ่ม แนะวางกฏยืดหยุ่น ไม่ล้าหลัง

นายคอนสแตนติน แมตตีส์ ผู้จัดการด้านเอ็นเกจเมนต์ ของแอลฟาบีตา บริษัทที่ปรึกษาด้านกลยุทธ์ และเศรษฐศาสตร์ กล่าวว่า จากผลวิจัยเม็ดเงินลงทุนในอุตสาหกรรมวิดีโอออนดีมานด์ (Asia-On-Demand: The Growth of Video-on-demand Investment in Local Entertainment Industries) หรือวีโอดี (VOD) จะลงทุนในเอเชียสูงถึง 10.1 พันล้านดอลลาร์ภายในปี 2565 หรือเพิ่มขึ้น 3.7 เท่าจากปี 2560

ทั้งนี้ เป็นการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ โดยผู้ให้บริการวีโอดีระดับโลกเป็นมูลค่าประมาณ 4 พันล้านดอลลาร์ ส่งผลต่อเศรษฐกิจมากกว่า 3 เท่าของมูลค่าการลงทุน มาจากค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้น เช่น การลงทุนในอุปกรณ์ การขนส่ง อาหาร การตลาด และที่พัก เป็นต้น ทั้งก่อให้เกิดการใช้จ่ายทางอ้อมจากซัพพลายเออร์ ไม่ว่าจะเป็น การซื้อเลนส์กล้องถ่ายภาพ อาหาร และการจัดเลี้ยง ค่าเชื้อเพลิงในการเดินทาง และอื่นๆ รวมถึงการใช้จ่ายที่ขึ้นอยู่กับรายได้ โดยทีมงานหรือคนงานที่มีการใช้จ่ายค่าจ้างเข้ามาในระบบเศรษฐกิจ

รายงานระบุว่า การลงทุนดังกล่าวสามารถสร้างงานใหม่ขึ้นกว่า 736,000 ตำแหน่งภายในปี 2565 และคาดว่าจำนวนผู้จ่ายเงินเป็นสมาชิกการบริการวีโอดีภูมิภาคเอเชียจะเพิ่มขึ้นเท่าตัวใน 5 ปี ขณะที่ ผู้ชมในเอเชียมีความต้องการคอนเทนท์ท้องถิ่นที่มีคุณภาพมากขึ้น ทำให้เกิดการลงทุนผลิตคอนเทนท์ที่เหมาะสมกับท้องถิ่น และมีคุณภาพเพื่อดึงดูดสมาชิกใหม่และรักษาฐานสมาชิกเดิม

นายแมตตีส์ กล่าวต่อว่า บริการวีโอดี คือ ช่องทางเข้าถึงสื่อบันเทิงจากต่างประเทศได้ง่าย เช่น ฮอลลีวู้ด ส่งผลต่อความต้องการคอนเทนท์ท้องถิ่น และลดเลือนคุณค่าทางวัฒนธรรมท้องถิ่น และเมื่อผู้บริโภคมีความต้องการคอนเทนท์ท้องถิ่นอย่างมาก ผู้ให้บริการวีโอดีจึงต้องเพิ่มคอนเทนท์ท้องถิ่นที่มีคุณภาพสูงเพื่อตอบสนองความต้องการดังกล่าว

นอกจากนี้ บริการวีโอดี ยังช่วยให้อุตสาหกรรมบันเทิงเอเชียเข้าถึงผู้ชมกว่า 450 ล้านคนทั่วโลกได้ง่าย คาดว่าผลกระทบด้านเศรษฐกิจจะสูงกว่ามูลค่าการลงทุนด้านคอนเทนท์โดยผู้ให้บริการวีโอดีถึงกว่า 3 เท่า

อย่างไรก็ตาม เขาระบุว่า มากกว่า 80% ของผู้บริหารบริการวีโอดี ต้องการบรรยากาศการลงทุนที่เป็นมิตร กฎระเบียบข้อบังคับอันเอื้อต่อการทำธุรกิจ และสิ่งอำนวยความสะดวกในการผลิตคอนเทนท์คุณภาพสูง คือ ปัจจัยสำคัญในการผลักดันการลงทุนด้านคอนเทนท์ ซึ่งการปรับเปลี่ยนนโยบายจะสามารถสร้างวงจรที่ดี ส่งผลให้เกิดการลงทุนด้านคอนเทนท์ท้องถิ่น เกิดการผลิตคอนเทนต์ที่มีคุณภาพสูง และดึงดูดให้เกิดการลงทุนเพิ่มขึ้น

"การสร้างแนวทางการกำกับดูแลที่ยืดหยุ่น บางประเทศในเอเชียที่มีเศรษฐกิจที่ประสบความสำเร็จมากที่สุด ได้สร้างภาคดิจิทัลที่ยิ่งใหญ่ด้วยการวางกฎระเบียบที่เรียบง่าย สำหรับบริษัทเทคโนโลยีและสตาร์ทอัพในอุตสาหกรรมวีโอดี กฎระเบียบข้อบังคับที่วางไว้ต้องไม่ล้าหลัง หรือไม่สอดคล้องกับลักษณะเฉพาะของอุตสาหกรรม ซึ่งหนึ่งในกับดักสำคัญ คือการหลีกเลี่ยงการนำกฎระเบียบที่ใช้กับอุตสาหกรรมโทรทัศน์และภาพยนตร์แบบดั้งเดิมมาใช้กับบริการวีโอดี เช่น การกำหนดโควต้าให้คอนเทนท์ท้องถิ่น" นายแมตตีส์ กล่าว