ไอบีเอ็ม ดึงโปรเจกต์ระดับโลกลุยไทย

ไอบีเอ็ม ดึงโปรเจกต์ระดับโลกลุยไทย

ผุด“พี-เทค”หนุนทักษะดิจิทัล ผนึกสถาบันการศึกษา- ภาคเอกชน ติวเข้มตอบโจทย์ความต้องการภาคธุรกิจ

“ไอบีเอ็ม” ย้ำไทยยังมีศักยภาพ เดินหน้าลงทุนต่อเนื่อง ล่าสุดลุยโครงการพี-เทค หนุนสร้างทักษะดิจิทัล อุุดช่องว่างขาดแคลนบุคคลากรด้านไอที เล็งจับมือสถาบันการศึกษา ภาครัฐ เอกชน บูรณาการร่วม เผย “ไทย” ตลาดสำคัญ พร้อมลงทุนดันเทคโนฯ อัจฉริยะ คลาวด์ เอไอ บล็อกเชน

แฮเรียต กรีน ซีอีโอและประธาน ไอบีเอ็ม เอเชียแปซิฟิก กล่าวว่า ไอบีเอ็มยังเดินหน้าลงทุนในไทยในไทยต่อเนื่อง เพราะเป็นหนึ่งในประเทศที่มีศักยภาพการลงทุนมากในภูมิภาคนี้ ที่ผ่านมาไอบีเอ็มทำโครงการต่างๆ ร่วมกับเอกชน และภาครัฐ โดยดึงเทคโนโลยีดิจิทัล เช่น เอไอ คลาวด์ บล็อกเชน มาเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงาน ทั้งยังสอดคล้องยุทธศาสตร์ไทยแลนด์ 4.0

"ภูมิภาคเอเชีย เป็นตลาดสำคัญของไอบีเอ็ม ยิ่งปัจจุบันมีดาต้าจำนวนมากเกิดขึ้น มีการเชื่อมต่ออุปกรณ์ต่างๆ เพิ่มขึ้น ไอบีเอ็มต้องการช่วยลูกค้าให้มีเครื่องมือในการบริหารจัดการข้อมูลบนคลาวด์ เช่น ไฮบริด คลาวด์ ให้ลูกค้าได้ใช้ประโยชน์จากข้อมูล เพื่อต่อยอดขีดแข่งขันทางธุรกิจ ทั้งยังเป็นสิ่งสำคัญในการทำดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชั่นที่กำลังตื่นตัวอย่างมากในภูมิภาคนี้"

แฮเรียต กล่าวด้วยว่าการพัฒนาทักษะด้านดิจิทัล เป็นอีกเรื่องสำคัญที่ไอบีเอ็มจะเน้นในภูมิภาคนี้ ล่าสุด ไอบีเอ็ม เตรียมดันโครงการพีเทค (P-TECH : Pathways in Technology Early College High School) เข้ามาทำร่วมกับสถาบันการศึกษาในไทย สนับสนุนการสร้างบุคลากรให้มีทักษะด้านดิจิทัล ที่ตรงกับความต้องการของภาคเอกชน โครงการพี-เทค เกิดขึ้น เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนทักษะด้านไอทีและสเต็ม (วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์) พร้อมเสริมสร้างความแข็งแกร่งด้านวิชาการ และเปิดโอกาสให้นักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย อาชีวศึกษา และมหาวิทยาลัย ได้เรียนรู้และสัมผัส ‘ตำแหน่งงานที่ไม่ต้องมีปริญญา’ ก่อนที่จะจบการศึกษา

"ไอบีเอ็มเริ่มดำเนินโครงการ พี-เทค มาตั้งแต่ปี 54 ปูทางตั้งแต่มัธยมศึกษาตอนปลาย และมหาวิทยาลัยสู่การทำงาน ด้วยการรวบรวมความรู้ ความเชี่ยวชาญของภาคการศึกษาและภาคธุรกิจ ให้สอดคล้องกัน ปัจจุบัน โมเดลพีเทคถูกนำไปใช้ในโรงเรียนกว่า 110 แห่งทั่วโลก และคาดว่าจะมีมากกว่า 200 แห่งภายในสิ้นปี 2562 โดยธุรกิจต่างๆ มากกว่า 550 ธุรกิจในแวดวงเทคโนโลยี การดูแลสุขภาพ และการผลิตขั้นสูง ได้เข้าร่วมโครงการนี้ในฐานะพันธมิตรทางธุรกิจ" แฮเรียต กล่าว

ทั้งนี้ ไทยเป็นประเทศที่ 3 ในภูมิภาคนี้ รองจากฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ที่ไอบีเอ็มเลือกทำโครงการดังกล่าว ขณะนี้อยู่ระหว่างคัดเลือกสถาบันการศึกษาที่จะเข้ามาร่วมโครงการ รวมถึงภาคเอกชนที่จะเข้ามาเป็นเมนเทอร์ โดยจะมีบทบาทสำคัญในการให้คำแนะนำเพื่อการผลิตบุคลากรที่ตรงกับความต้องการของธุรกิจ

ขุมทรัพย์"เอไอ-บล็อกเชน"ในไทย

ปัจจุบันไอบีเอ็มมีโครงการร่วมกับภาคเอกชนไทยหลายโครงการ แต่ละโครงการนำเทคโนโลยีอัจฉริยะเป็นองค์ประกอบสำคัญ “แฮเรียต” เผยว่า ข้อมูลที่เติบโตรวดเร็วในปริมาณมหาศาล กลายเป็นทรัพยากรที่ทรงคุณค่าของโลก แต่กว่า 80% ยังคงเป็นข้อมูลแบบไร้โครงสร้าง ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลจากภาพ เสียง เซ็นเซอร์ วิดีโอ ฯลฯ ที่คอมพิวเตอร์ปัจจุบันไม่สามารถเข้าใจและนำมาใช้ จำเป็นต้องอาศัยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือเอไอถอดรหัสให้ข้อมูลเหล่านั้นเป็นมุมมองเชิงลึก

ขณะที่ ไอบีเอ็ม วัตสัน หนึ่งในเทคโนฯ เรือธง ถูกนำไปใช้แล้วกว่า 16,000 องค์กร ใน 20 อุตสาหกรรม ใน 80 ประเทศทั่วโลก เช่น การเงิน ค้าปลีก การดูแลสุขภาพ เหมืองแร่ การโรงแรม ฯลฯ เป็นเทคโนโลยีเบื้องหลังผลิตภัณฑ์และบริการที่ผู้บริโภคกว่า 1 พันล้านคนทั่วโลกที่กำลังใช้อยู่ในทุกวันนี้ ในไทยไอบีเอ็มมีความร่วมมือหลายองค์กร เช่น ปตท.ใช้ไอบีเอ็ม วัตสัน ไอโอที ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานและการดำเนินการของโรงแยกก๊าซธรรมชาติ

นอกจากนี้ ในส่วนไอบีเอ็ม ซิเคียวริตี้ หรือ Cyber Security Operation Center (CSOC) ยังจับมือกับกลุ่มสามารถนำระบบ Watson for Cyber Security วิเคราะห์ข้อมูลหาสาเหตุภัยคุกคามในไทยใช้แนวทางเดียวกับศูนย์ CSOC ของไอบีเอ็มทั่วโลก

บล็อกเชน เป็นอีกเทคโนโลยีกลยุทธ์ของไอบีเอ็ม มีความร่วมมือธนาคารแห่งประเทศไทย ทดสอบบริการบน Regulatory Sandbox รวมถึงร่วมกับธนาคารกสิกรไทย ดึงบล็อกเชนสร้างระบบต้นแบบ ใช้รับรองเอกสารต้นฉบับ รวมไปถึงปีที่ผ่านมา ไอบีเอ็มผนึกกำลังร่วม 14 ธนาคารในไทยและรัฐวิสาหกิจและองค์กรธุรกิจใหญ่ 7 แห่งตั้ง Thailand Blockchain Community Initiative บนแพลตฟอร์ม ไอบีเอ็ม บล็อกเชน ทำโครงการบริการหนังสือค้ำประกันอิเล็กทรอนิกส์บนระบบบล็อกเชนครั้งแรกของไทย พร้อมความร่วมมือ 22 แบงก์ไทยและต่างประเทศ สร้างโครงข่ายหนังสือค้ำประกันแบบอิเล็กทรอนิกส์ 100% นับเป็นครั้งแรกของโลกที่ธนาคารไทยและธนาคารต่างประเทศ 22 แห่ง ร่วมใช้บล็อกเชนบนระบบเดียวกัน