ผ่อนสั้น ผ่อนยาว จุดร่วม 'รัฐบาล-สภาเสียงปริ่มน้ำ'

ผ่อนสั้น ผ่อนยาว จุดร่วม 'รัฐบาล-สภาเสียงปริ่มน้ำ'

การเมืองหลังผ่านการโหวตเลือก นายกรัฐมนตรี ในการประชุมร่วมรัฐสภา ซึ่งผลโหวต 500 เสียง สนับสนุนให้

“พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็น “นายกรัฐมนตรี” คนต่อไป หลังการเลือกตั้ง ยังดูวุ่นวาย เพราะปัญหาว่าด้วย “เก้าอี้รัฐมนตรี”

ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 กำหนดให้ มีคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ไม่เกิน 35 คน เพื่อบริหารราชการตามหลักความรับผิดชอบร่วมกัน แต่สิ่งที่กลายเป็นประเด็นให้สังคมกังขา คือ การแบ่งเค้กให้กับ “พรรคร่วมรัฐบาล” ที่มีมากถึง 18 พรรคการเมือง และยังไม่นับรวมถึง “โควตารัฐมนตรี” ภายใต้ “กลุ่ม คสช.” ทำให้ปรากฏการณ์ “เก้าอี้” ไม่นิ่ง ตามที่ “อุตตม สาวนายน”​ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ โพสต์ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ กลายเป็นประเด็นความเคลื่อนไหวที่ร้อนฉ่า

1_29

อย่างไรก็ตามในทิศทางทางการเมืองตอนนี้ เชื่อว่าคงไม่มีใครกล้างัดข้อ “กลุ่มคสช.” เพราะนั่นคือการเดิมพันที่ “คิดผิด” อย่างใหญ่หลวง เพราะอำนาจของการยุบสภายังเป็น ฟางเส้นสุดท้าย ของเกมการเมืองในระบอบที่ อำนาจทหาร ยังอยู่จุดสูงสุดของการเมืองหลังการเลือกตั้ง

ดังนั้นเพื่อไม่ให้ “การเลือกตั้ง” ต้องเสียเปล่าจึงจำเป็นต้องยอมให้ การเมือง ภายใต้ระบบท็อปบูทคุมเกม และพรรคร่วมรัฐบาลต้องอยู่ในภาวะจำยอม ส่วนโควตารัฐมนตรีจะได้สมใจ หรือ เกลี่ยจนพอรับได้จากหลายฝ่ายหรือไม่ เชื่อว่าหลังจากนี้ไม่เกินสัปดาห์น่าจะทราบความที่ชัดเจน

ส่วน “ส.ว.” ที่เคยเป็นเจ้าของ “คำถามพ่วง” ให้อำนาจ ส.ว. 5 ปี ร่วมโหวตนายกฯ ในรัฐสภา อย่าง “วันชัย สอนศิริ” ชี้ชัดว่า เรื่องนี้ยังไม่ถึงเวลาและแทบจะเป็นไปไม่ได้ในทางปฏิบัติ เพราะอย่างน้อยต้องผ่านการเห็นชอบร่วมกันของ “ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล-ส.ว.” รวมถึงต้องผ่านการทำประชามติ ถามประชาชนว่าจะเห็นชอบกับการแก้ไข ประเด็นนี้หรือไม่

ทั้งนี้ปฏิเสธไม่ได้ว่า โจทย์ใหญ่ว่าด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เป็นประเด็นที่ “พรรคร่วมรัฐบาล” เห็นพ้องต้องกัน ไม่ว่าจะเป็น “พรรคประชาธิปัตย์ และ พรรคชาติไทยพัฒนา” แต่รายละเอียดของการแก้ไขเชื่อแน่ว่าจะไม่ใช่เป็นไปตามแนวทางที่ “พรรคอนาคตใหม่” เซ็ตไว้ เพราะหากยอมรับ เท่ากับว่า “ชน” กับอำนาจ “คสช.” ที่ยังมีอิทธิพลต่อระบบการเมืองหลังเลือกตั้ง

ดังนั้นการเคลื่อนไหวทางการเมืองต่อจากนี้ ถือเป็นสถานะการที่แหลมคม และยากยิ่งที่จะเดาทาง ท่ามกลาง รัฐบาลเสียงปริ่มน้ำ แต่เชื่อแน่ว่า การพยายามสมประโยชน์และต่อรองให้อยู่ในจุดบาลานซ์ กันมากที่สุด คือทางออกของสถานการณ์นี้