“ดิจิทัล” ทลายกำแพง“ภูธร” ที่แบรนด์ต้องรู้..!! 

“ดิจิทัล” ทลายกำแพง“ภูธร” ที่แบรนด์ต้องรู้..!! 

เมื่ออินเทอร์เน็ตทำให้เส้นแบ่งระหว่าง“คนกรุง”กับ“ชนบท”บางลง ฉายให้เห็นอำนาจการซื้อมหาศาล ที่กำลังก่อตัวโดยเฉพาะ จาก55จังหวัด“เมืองรอง” กวักนักการตลาด-แบรนด์ให้ ปรับกลยุทธ์อ่านอินไซท์ เข้าหาเศรษฐีภูธร ผู้มีรสนิยมพิสมัย ไม่แพ้คนเมือง!!

นักการตลาด เชื่อมาตลอดว่า คนกรุงเทพฯ ไม่ใช่ตัวแทนของคนทั้งประเทศ เพราะโดยค่าเฉลี่ยมีรสนิยมที่หรูหรากว่าตามอำนาจซื้อที่สูงกว่า..!!

ทว่า เมื่อโลกอินเทอร์เน็ตกระจายการเข้าถึงจากคนเมืองสู่ท้องถิ่น ความเชื่อเช่นนั้นเริ่มหมดไป

สำทับด้วยผลสำรวจของ We Are Social และ Hootsuite  เรื่อง “Global Digital 2019” ต่อสถานการณ์การใช้งานดิจิทัล และอินเทอร์เน็ต ประจำปี 2562 โดยพบว่า 

ประชากรไทย 69.24 ล้านคน มีผู้มีเบอร์โทรศัพท์ 92.33 ล้านเครื่อง นั่นหมายความว่า หลายคนมีมือถือมากกว่า 1 เลขหมาย มีผู้ใช้อินเตอร์เน็ต 57 ล้านคน โดยมี 55 ล้านคนที่ใช้อินเตอร์เน็ทผ่านมือถือประจำ (Active Users) ขณะที่ 51 ล้านคนใช้งานผ่านโซเชียลมีเดียเป็นประจำ และ 49 ล้านคนใช้งานโซเชียลมีเดียบนมือถือ 

ขณะที่ช่องทางการใช้อินเตอร์เน็ท ในวัยผู้ใหญ่พบว่า ผู้มีโทรศัพท์มือถือเกือบทุกคน โดยใช้งานอินเตอร์เน็ต ผ่านสมาร์ทโฟน 71 % ผ่านคอมพิวเตอร์ ทั้งแบบตั้งโต๊ะ และโน้ตบุ๊ค 25% และ ผ่านแท็บเล็ต 12%

ผลของการใช้อินเทอร์เน็ตที่ได้เข้าถึงชีวิตคนส่วนใหญ่ของประเทศ ทำให้ไลฟ์สไตล์ การใช้ชีวิต ทัศนคติ เปลี่ยนแปลงไป จนนักการตลาดต้องทบทวนพลังอำนาจการใช้จ่ายของคนต่างจังหวัดอีกครั้ง จากเส้นแบ่งพจนานุกรมของ คนชนบทกับ คนกรุงได้แคบลงนี้

นี่คือสิ่งที่ค้นพบจากสำรวจของโครงการ “Hunt 2019” จากมายด์แชร์ เอเยนซี่ เครือข่ายด้านการตลาด และการสื่อสาร ที่เข้าไปวิจัย ผ่านการสัมภาษณ์เชิงลึกถึงทัศนคติเกี่ยวกับความสุข วิถีชีวิตคนต่างจังหวัดในเมืองรอง 55 จังหวัด โดยเข้าไปสัมภาษณ์เชิงลึก (In-depth Interview) ผู้บริโภคใน 4 จังหวัดเมืองรอง ประกอบด้วย ลำปาง สกลนคร นครสวรรค์ และนครศรีธรรมราช รวมการพูดคุย 120 ชั่วโมง เพื่อเข้าใจวิถีชีวิตและแรงจูงใจของผู้บริโภคเมืองรองต่อการเสพสื่อและเลือกซื้อของอุปโภคและบริโภค เพื่อให้นักการตลาดนำข้อมูลไปปรับกลยุทธ์ทางการรตลาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ณัฐา ปิยะวิโรจน์เสถียร ผู้อำนวยการวางแผนและพัฒนาธุรกิจ มายด์แชร์ อธิบายถึงการเข้าไปสำรวจเจาะลึกถึงไลฟ์สไตล์ โดยการลงไปนั่งคุย เพื่อตอบสมมติฐานของนักการตลาด เมื่อคนส่วนใหญ่เข้าถึงอินเทอร์เน็ต นิยามของคำว่า คนกรุง และคนต่างจังหวัด ก็ควรจะปรับเปลี่ยน การวางแผนการตลาด ให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตของพวกเขาในปัจจุบัน

โดยกลุ่มประชากรศาสตร์ถูกแบ่งด้วยนิยามใหม่ เมื่อทุกคนเข้าถึงโลกอินเทอร์เน็ต ทำให้พวกเขามีความเป็นตัวตนที่แตกต่างกัน ประกอบด้วย 

-กลุ่มวัยรุ่น ที่ถูกเรียกว่า The Seeker ผู้ที่ค้นหาตัวตน วัยตามล่าหาฝัน 

-กลุ่มผู้ใหญ่  ที่ถูกเรียกว่า The Builder ผู้ที่เข้าใจตัวเองว่าชอบอะไรและทำให้ความฝันเป็นจริง 

-กลุ่มผู้ใหญ่ที่มีลูก มีสามี และครอบครัว ที่ถูกเรียกว่า The Manager เพราะเป็นผู้ที่ต้องบริหารจัดการหน้าที่กับความชอบ จากทุกอย่างโฟกัสทุ่มเทไปที่ลูก อินเทอร์เน็ตทำให้พวกเขา ได้มีเวลาไล่หาความฝันและความสนใจใหม่ เช่น แม่บ้านระหว่างเรียกลูก ก็หารายได้เสริมโดยการขายสินค้าผ่านอินเทอร์เน็ต

-กลุ่มผู้ที่กำลังจะเข้าสู่ผู้สูงวัย ที่ถูกเรียกว่าThe Restarter หมายถึง คนที่กลับมาเรียนรู้การใช้ชีวิตเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต และโซเชียลมีเดีย หลังจากภาระหน้าที่ได้ผ่อนคลายลง

“นับเป็นมิติใหม่ของการสำรวจ จากจำกัดประชากรแต่ละช่วงอายุวัย ซึ่งไม่ได้เป็นตัวกำหนดพฤติกรรมการเสพสื่อของพวกเขาอย่างชัดเจน เพราะบางคนวัยรุ่น แต่ไม่ได้หมายความว่าไม่ดูทีวี วัยรุ่นบางคนยังดูทีวีละครเป็นต่อทางทีวี ด้วยเหตุผลดูทางทีวีได้อรรถรสดีกว่า หรือ กลุ่มซิลเวอร์ ไม่ใช่ผู้ที่ไกลจากอินเทอร์เน็ต แต่กลับเป็นผู้ที่สามารถใช้เทคโนโลยีได้อย่างคล่องแคล่ว สามารถต่ออินเทอร์เน็ตทางทีวี”

**“7 อินไซท์สะท้อนวิธีคิด คนเมืองรอง

มายด์แชร์ ยังได้แยกการค้นพบ 7 วิธีคิดและพฤติกรรมที่นักการตลาดจะต้องรู้และเข้าใจความต้องการภายใน (Insight) ของคนเมืองรอง 55 จังหวัด ที่สะท้อนไปถึงความเชื่อ ไลฟ์สไตล์และค่านิยม (Lifestyle & Value), การเสพสื่อ (Media) และเส้นทางการตัดสินใจซื้อ (Purchase journey ) ประกอบด้วย

1.ภาคภูมิใจในท้องถิ่น ชุมชน ของตัวเอง รวมถึง มีความสุขกับชีวิต (Proud of my city, Happy with my life) การเติบโตมากับท้องถิ่น ขนบธรรมเนียม ประเพณี เป็นแรงบันดาลใจให้พวกเขารักในความแตกต่าง มีความภูมิใจกับประเพณีที่จัดประจำปีของท้องถิ่น ที่จะต้องรู้สึกหวงแหน ซึ่งทุกคนต้องมีส่วนร่วมไปช่วย และพวกเขามองความสุขเป็นเรื่องที่หาได้ง่ายดาย รอบๆ ตัว

“ตอนที่เราไปสัมภาษณ์เป็นช่วงเวลาเดียวกันกับที่มีขนบธรรมเนียมประเพณีประจำจังหวัด เช่น ตรุษจีน นครสวรรค์ ซึ่งคนในจังหวัดรู้ว่าภูมิใจในภูมิหลัง ประเพณีของท้องถิ่น มีเฉพาะในจังหวัด รู้สึกว่าเป็นสิ่งที่ทำให้จังหวัดมีความแตกต่างจากต่างจังหวัด ไม่ต้องถามว่าไปหรือไม่ เพราะทุกคนต้องไปช่วย”

รวมไปถึงนิยามความสุขของคนต่างจังหวัด ก็หาได้ง่ายได้ เพียงขับรถไปน้ำตกไม่กี่นาที ก็ได้ชื่นชมธรรมชาติ ไม่วุ่นวาย รถติด คำตอบคือ กรุงเทพฯ ไม่ใช่ศูนย์รวมความสุข คนต่างจังหวัดอยากเข้าถึงโอกาสเข้าถึงความทันสมัยเหมือนเช่นกรุงเทพฯ แต่ก็ไม่ได้อยากไปใช้ชีวิตอยู่ในกรุงเทพฯ

2.มีอิสระตัดสินใจเลือกแบบปัจเจกบุคคล (Making a choice of my own) คนต่างจังหวัดในเมืองรอง มีสิทธิ์เลือกการใช้ชีวิตได้เฉพาะตัว หรือ ปัจเจกบุคคล ไม่แตกต่างจากคนกรุง ไม่ว่าจะเป็นอาชีพ การเสพสื่อ และสินค้า (Career, Content,Consume) เริ่มจากอาชีพ ที่สร้างความมั่นคงให้กับตัวเองได้ จากอดีตที่เส้นทางความมั่นคงของชีวิต คือกรุงเทพฯ หรือการรับราชการ หรือ เป็นหมอ เพื่อความมั่นคง แต่คีย์เวิร์ด ค่านิยมของการใช้ชีวิตนั้นเปลี่ยนไป คนส่วนใหญ่ตอบว่า อยากเป็นนายตัวเอง อยากเป็นผู้ประกอบการ

“ทัศนคติที่ปรับเปลี่ยนใหม่ของค่านิยมคนต่างจังหวัดเมืองรองไม่แตกต่างจากรุงเทพฯ หลายคนอยากเป็นนายตัวเอง ข้าราชการไม่ใช่ทุกอย่างจากอดีตครอบครัวมีความฝันอยากให้ลูกรับราชการ แต่ปัจจุบันในสังคมให้ลูกมีทางเลือกมากขึ้น ทั้งความรู้ การสร้างงานอาชีพ การทำธุรกิจ พ่อแม่บางคน ยอมให้ลูกเป็นนักร้อง หากเป็นฝันของลูก เพราะเชื่อว่าอาชีพนี้ก็สร้างเงินเลี้ยงตัวเองได้” 

ขณะที่คนเมืองรองต่างก็ใช้สินค้าแบรนด์เนมไม่แตกต่างจากคนกรุง รวมถึงเทรนด์รักสุขภาพ ก็ไม่ได้เติบโตเฉพาะกรุงเทพฯ แต่มีคนต่างจังหวัด ซึ่งสัมภาษณ์น้องเทรนเนอร์ ในจ.สกลนคร ลุกขึ้นมาทำอาหารคลีนทานเอง และเมื่อขายก็ปรากฎว่าเกิดกระแสอาหารคลีนในต่างจังหวัด การเข้าถึงอินเทอร์เน็ต ส่งผลทำให้คนมีไลฟ์สไตล์เหมือนกัน”เธอเปรียบเทียบ

3.การรวมกลุ่มเป็นชุมชนเหนียวแน่น (MY bonding network) ต่างจังหวัดมีความแข็งแรงในการรวมกลุ่มท้องถิ่น จากอยู่อาศัยร่วมกันเป็นครอบครัวใหญ่ ยังมีวิถีชีวิตเกื้อกูลกันมากกว่า แม้จะมีอินเทอร์เน็ตเข้ามา แต่ชุมชนออฟไลน์ก็ยังแข็งแกร่ง ที่สำคัญโลกออนไลน์กลับช่วยทำให้สังคมนั้นมีความแข็งแกร่งมากขึ้น ดังนั้นอิทธิพลการสื่อสารปากต่อปาก (Word of mouth) ก็ยังแพร่กระจายข่าวสารได้อย่างรวดเร็ว เช่น งานบุญ งานบวช หรืองานโอกาสพิเศษในแต่ละเทศกาล ทุกคนในชุมชนต่างพร้อมใจกันมาช่วย และเจ้าภาพก็เลี้ยงอาหารเป็นการตอบแทน

4.การใช้สื่อหลากหลายและข้ามไปอีกขั้น (My media universe is shifted) เมื่ออินเทอร์เน็ตอยู่ในสังคมไทยมากกว่า 10 ปี คนเมืองรองก็ไม่ใช่เพิ่งเรียนรู้ในไม่กี่ปี หลายคนได้เริ่มเรียนรู้ออนไลน์พร้อมกันกับคนกรุง การใช้อินเทอร์เน็ตจึงถึงจุดที่อายุไม่ใช่ตัวกำหนดพฤติกรรมการใช้ ผู้ใหญ่หลายคนรู้จักการใช้แอพพลิเคชั่น ติ๊กต็อก(Tiktok) หรือ ดูสื่อบนยูทูปอย่าง วทานิกา หรือ เด็กวัยรุ่นต่างจังหวัดก็ดูเนื้อหาออนไลน์ที่โด่งดัง ตลอดจนการใช้ยูทูป ผ่านจอสกรีน ทีวี กุญแจสำคัญไขรหัสในการสื่อสารไม่ใช่เทคโนโลยี แต่คือเนื้อหา ที่ย่อยง่าย เข้าใจง่าย บันเทิง ตลก และจริงใจ

โดยกระแสช่องทางที่เริ่มได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นในช่วงที่ผ่านมา คือ อี -สปอร์ต (e-Sport) และ ไลฟ์สด (Live Content) ที่กลายเป็นมาเนื้อหาที่คนดูไม่ใช่เพียงแค่การซื้อสินค้า แต่เป็นการดูเพื่อความบันเทิง เพราะตลก ดูแล้วสนุก ผ่อนคลายโดยไม่จำเป็นต้องซื้อสินค้า

ส่วนคนที่ซื้อสินค้าทางไลฟ์สด เพราะชอบกับการที่ผู้ขายตอบโต้และตอบคำถามเกี่ยวกับสินค้าได้ทันที เพราะธรรมชาติของคนไทยยังต้องการซื้อสินค้าโดยที่เห็นหน้าพ่อค้าแม่ค้า และตอบโต้เป็นหลัก แต่การจ่ายเงินซื้อสินค้าอาจจะต้องมีการชำระเงินปลายทาง เพราะยังไม่มั่นใจความปลอดภัย

ขณะที่เนื้อหาหนังสือพิมพ์ และสื่อสิ่งพิมพ์ นิตยสารนั้นยังไม่ตาย เพียงแต่เปลี่ยนแพลตฟอร์ม ไปอยู่บนออนไลน์ เพราะข่าวยังมีความสำคัญกับคน แต่เนื้อหาจะต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบ การนำเสนอท่ามกลางการแข่งขันที่หลากหลาย ข่าวจะต้องตอบโจทย์มีความรวดเร็ว สะดวก

“เฟซบุ๊ก คือ ท็อปแพลตฟอร์ม ในการที่คนส่วนใหญ่อ่านข่าวและเนื้อหาโดยผ่านช่องทางเฟซบุ๊ก แต่เฟซบุ๊กไม่ใช่ทุกอย่าง เพียงแต่เป็นเกตเวย์เปิดโลก เมื่อเข้าใจหลักการทำงานของแอพพลิเคชั่นแต่ละชนิดแล้วก็แยกการใช้งานที่แตกต่างกัน เช่น อินสตาแกรม(IG) สำหรับโพสต์รูปภาพ แสดงความเป็นตัวตน, เฟซบุ๊ก สำหรับอ่านข่าวสาร, ทวิตเตอร์ สำหรับ โพสต์ข้อความที่เป็นเชิงลบโดยไม่ต้องการเปิดเผยตัวตน ส่วนยูทูป ก็ไว้ดูวีดิโอ "

สิ่งที่นักการตลาดต้องรู้และพัฒนาต่อยอดคือการเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางการค้นหา(Search) ที่ไม่ใช่มีเพียงกูเกิล แต่ยังรวมถึงแฮชแท็กตามแอพพลิเคชั่นต่างๆ

5.โลกอินเทอร์เน็ต คือผู้สร้าง (Internet is My maker) อินเทอร์เน็ตได้กลายเป็นกลไกที่สร้างโอกาสยกระดับชีวิตคนมากมาย ไดเแก่

-การสร้างตัวตน และสร้างคนให้เป็นอีกด้านที่อยากจะเป็น (Make my identity & Hype me) ทำให้รู้ตัวถึงความชอบความฝัน ความสนใจ ที่ทำให้สิ่งเหล่านั้นชัดเจนขึ้น เช่น รู้ว่าชอบดนตรีก็เรียนดนตรี ผ่านยูทูป เพื่อความฝันอยากไปออดิชั่นเป็นนักร้อง หรือเด็กคนหนึ่งเรียนภาษาผ่านออนไลน์ 

-สร้างการทำงานให้มีประสิทธิภาพ (Make me proficient) ทำให้การทำงานและการติดต่อ รายงานความคืบหน้าโครงการผ่านเจ้านายมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพราะมีหลักฐานถ่ายรูปยืนยัน

-สร้างชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น (Make a living)สร้างเงิน สร้างรายได้ ทำให้การค้าขายบนโลกออนไลน์นั้นง่ายขึ้น สามารถเป็นพื้นที่เชื่อมต่อพัฒนาการเรื่องงาน ติดต่อการทำงาน และยังสร้างรายได้ เช่น คุณแม่ผู้เลี้ยงลูกอยู่บ้าน ใช้เวลาระหวางวันว่างเลี้ยงลูกสร้างรายได้ให้กับตัวเอง โดยการขายมะม่วงดอง ผ่านออนไลน์

“คนให้สัมภาษณ์คนหนึ่งอยู่บ้านเอื้ออาทร มีความฝันอยากปลดหนี้จึงศึกษาอินเทอร์เน็ต เพราะสนใจอยากเล่นหุ้น และเกิดแนวคิดอยากลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์ ไปซื้ออสังหาฯมาปล่อยเช่า จนวันหนึ่งปลดหนี้ได้” เหล่านี้ล้วนเกิดจากการใช้อินเทอร์เน็ตเติมเต็มชีวิตให้ดีขึ้น ทางการสร้างงาน สร้างรายได้ ให้ชีวิตดีขึ้น

-สร้างความโดดเด่น (Make me shine) มีแพลตฟอร์มี่สร้างตัวตนทำใหเกิดตัวตนที่อยากจะเป็น ที่สามารถควบคุมชีวิต ภาพลักษณ์ และไลฟ์สไตล์ที่อยากให้คนเห็นได้บนโซเชียล มีเดีย

-สร้างความรู้และความเข้าใจใหม่ๆ (Make me wiser) เช่น การเลี้ยงลูก ที่หาข้อมูลที่มาบาลานซ์กับความเชื่อที่ว่ากันในอดีต หรือการนำมาเป็นตัวช่วยในการเดินทาง เช่น การขับรถในต่างจังหวัด ใช้อินเทอร์เน็ตหาแผนที่นำทาง

6.สนุกสนานกับตอบโต้ผ่านคนบนออนไลน์ (Enjoy a charm of human interaction) มือถือทำให้การซื้อสินค้าและการเข้าถึงเนื้อหา การสื่อสารทางออนไลน์นั้นสะดวก รวดเร็วและง่าย คนชอบที่จะซื้อสินค้าผ่านพ่อค้าแม่ค้าบนโซเชียลมีเดีย ที่ค้าขายผ่านไลฟ์ เพราะมีการตอบโต้ทันที แต่ สิ่งที่คนต่างจังหวัดในเมืองรอง มองเกี่ยวกับการซื้อสินค้าผ่านอินเตอร์เน็ต คือ ความต้องการเชื่อมั่นความปลอดภัย ไม่ต้องการโดนหลอก ต้องการประสบการณ์การซื้อสินค้าที่ไว้ใจได้ จึงมักจะพูดคุยกับคนขายผ่านไลฟ์ แต่ยังไม่ไว้ใจแบบเต็มร้อย จึงให้ชำระเงินปลายทางมากกว่าออนไลน์

นี่คือโจทย์ที่ธนาคารจะต้องเข้าไปสร้างประสบการณ์ความไว้วางใจให้กับคนต่างจังหวัด ในยุคที่อีคอมเมิร์ซเติบโต หากเข้าถึงการใช้ได้ก่อนก็หยิบฉวยโอกาสตรงนี้ได้ก่อน

“คนต่างจังหวัดยังนิยมที่จะซื้อของแบบตอบโต้กับคนมากกว่าอุปกรณ์มือถือ หรือเทคโนโลยี แม้จะมีมือถือเป็นช่องทางการสื่อสาร แต่การได้พูดคุยกับคนจึงมีความไว้ใจมากกว่า”

7.มองหาความคุ้มค่าของสินค้า (Maximizer under my given resource) ลูกค้าในยุคปัจจุบันเป็นนักเศรษฐศาสตร์ ที่บริหารจัดการทรัพยากรที่มีให้คุ้มค่า ทั้งสื่อที่เข้ามาจำนวนมาก หรือเมมเมอรี่ในโทรศัพท์ที่ความจุไม่เพียงพอกับจำนวนเนื้อหาที่เข้ามา จึงต้องเลือกบริหารจัดการ เสพย์สื่อ และเลือกซื้อเฉพาะที่ตรงกับความต้องการและคิดว่าคุ้มค่า

เช่น การเลือกสินค้าไม่จำเป็นต้องถูกที่สุด แต่ให้มองหาความคุ้มค่าที่สุด แม้จะเป็นสาวกกับแบรนด์ และมีความจงรักภักดี แต่ก็พร้อมทดลองสิ่งใหม่ และหากถูกใจก็สวิชแบรนด์ ปรับเปลี่ยนการใช้แบรนด์อื่นทันทีหากตรงกับความต้องการ นักการตลาดที่ต้องการให้แบรนด์จดจำ จึงต้องสร้างการรับรู้และทำให้จดจำภายในเวลาจำกัดได้ เพราะมีสื่อผ่านตาจำนวนมาก เมื่อผู้บริโภคไปถึงเชลฟ์สินค้าอาจจะลืมได้ จึงต้องทำให้จดจำจนถึงการตัดสินใจซื้อหน้าเชลฟ์ไม่เช่นนั้นจะซื้อผิดแบรนด์

“ผู้ใช้จะต้องมีการวางแผนเปรียบเทียบ บนมือถือ รู้รีซอร์ส ข้อมูลและความจุบนมือถือ มีจำกัด แต่ละคนมีไม่เท่ากันจึงต้องมีการบริหารจัดการทรัพยากรที่มี แบรนด์จึงต้องเข้าไปสร้างการรับรู้ตลอดเส้นทางความสนใจ การรับสื่อ ให้เกี่ยวข้องกับผู้ใช้ และจดจำง่าย จนถึงตัดสินใจซื้อ”

.........................................

“5กลยุทธ์ค้นอินไซท์ นั่งในใจคนเมืองรอง

จากความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นของคนต่างจังหวัดที่มีรสนิยมใกล้เคียงกับคนเมืองกรุง โจทย์ที่นักการตลาดต้องทบทวน ปรับกลยุทธ์ให้สอดคล้องกับความต้องการของสินค้า และกลุ่มเป้าหมาย โดยการเตรียมการ 5 ด้านคือ

1.นักการตลาดต้องมองกลวิธีการสร้างประสบการณ์และเข้าถึงกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย ต้องวิเคราะห์ข้อมูล (Big Data) เพื่อนำสิ่งที่มีให้เข้าถึงความต้องการของกลุ่มลูกค้า มีชีวิตที่ดีขึ้นไม่ต่างจากคนเมืองแต่มีอินไซท์และความภาคภูมิใจในความเป็นตัวตนที่แตกต่างกัน จะหยิบมาใช้อย่างไรให้ตอบโจทย์และสร้างประสบการณ์ที่ดี

2.วางเป้าหมายจากพฤติกรรม ในประชากรดิจิทัล อายุ ไม่ใช่ตัวกำหนดการใช้ชีวิต รายได้ และ อาชีพ ถิ่นที่อยู่ (Demography) จึงต้องวิเคราะห์พฤติกรรมการเลือกรับสื่อ เลือกซื้อสินค้า ความสนใจ หรือการมีไลฟ์สไตล์ จึงไม่ควรติดกับดักแค่อายุ ประชากรศาสตร์ให้เป็นแพทเทิร์นเดียวกัน แต่ต้องศึกษาเชิงลึกถึงความต้องการภายใน(Insight) และพฤติกรรมของกลุ่มเป้าหมายเป็นหลัก

“เมื่อทุกคนเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต ความสนใจและพฤติกรรมการบริโภคไม่แตกต่างกันทั้งคนเมือง และคนต่างจังหวัด”

3.ไม่ใช่ยุคที่หนึ่งไซส์เข้ากับทุกคน และที่สำคัญไม่มีคำว่าคนเมือง หรือคนชนบท อีกต่อไป แต่ให้ไปโฟกัสที่พฤติกรรมการใช้ชีวิตส่วนบุคคล ที่เข้าไปล้วงลึกถึงความต้องการภายในส่วนบุคคล เพราะคนเมืองรอง ก็ต้องการมีชีวิตที่สะดวกสะบายเท่าเทียมกันกับคนเมือง รวมถึงต้องการมีอิสระต้องการ จึงต้องเข้าไปติดตามดูข้อมูลเชิงลึกส่วนบุคคล และจับความต้องการนั้น และเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางการเดินทาง การตัดสินใจของชีวิตพวกเขา

4.การคัดเลือกสิ่งที่สนใจเฉพาะบุคคลให้เข้าไปหาโอกาสสร้างความสนใจให้ลูกค้าเลือก เพราะเป็นยุคที่เนื้อหาข้อมูลบนอินเทอร์เน็ตมีหลากหลาย ผู้บริโภคมีทางเลือกมากขึ้น และส่วนใหญ่เลือกบริโภคและสนใจสื่อตามความชอบตัวเองและสิ่งที่บ่งบอกความเป็นตัวตนเป็นหลัก

“แบรนด์ต้องเปิดช่องทางแสดงออกตัวตน และความชอบของผู้บริโภค โดยที่เปิดโอกาสให้เลือกโดยอิสระ แต่ต้องพยายามรวบรวมเนื้อหา สร้างความสนใจให้ตรงกับตัวตนและสิ่งที่ลูกค้ามองหา เช่น ชอบดูหนังตลก คอนเทนท์ ใช้สนใจ นำเสนอรายการประเภทเดียวกันตัวอย่าง แตกต่างจากสมัยก่อน คนอายุเท่ากัน เห็นข้อมูลเดียว แต่ยุคอินเทอร์เน็ตเลือกตามความสนใจของแต่ละบุคคล"

5.ประสบการณ์ของผู้ใช้งาน ที่เกี่ยวข้องได้ง่าย คือการเชื่อมต่อกับคน ซึ่งตอบโจทย์สะดวก ง่าย ปลอดภัย อุ่นใจไว้วางใจ ซึ่งสิ่งสำคัญก็คือการเชื่อมต่อกับคน เพราะมีการตอบโต้ทันที จึงไม่ควรใช้เทคโนโลยีแทนที่ทุกอย่าง แต่ให้ใช้เป็นตัวช่วยสร้างประสบการณ์ให้ดีขึ้น

“คนต่างจังหวัดยังชอบปฏิสัมพันธ์กับคน แต่เทคโนโลยี ช่วยทำให้ชีวิตดียิ่งขึ้น นักการตลาดควรเอาเทคโนมาปรับใช้ให้ผู้บริโภครู้สึกอุ่นใจและไว้วางใจแต่ไม่แทนที่ทุกสิ่ง เสน่ห์ของต่างจังหวัดยังชอบ พูดคุยพนักงานแบงก์และพนักงนขาย”

เนื้อหายังเป็นสิ่งสำคัญมากที่สุด (Content is the King) ไม่ว่าแพลตฟอร์มจะเกิดขึ้นในออนไลน์ หรือ ออฟไลน์ ต้องทำให้เนื้อหาเข้าไปอยู่ในเส้นทางการค้นหา หรือ การเดินทางของกลุ่มลูกค้าที่ค้นเจอ และเป็นเนื้อหาที่มีคุณภาพน่าสนใจ

นักการตลาดจากมายด์แชร์ได้ทิ้งท้ายการวางแผนสื่อ เมื่อไม่มีช่องว่างระหว่าง คนเมือง กับคนชนบท จึงต้องหาจุดแตกต่างที่ชัดเจนเฉพาะบุคคล หาช่องทางเข้าไปทำกิจกรรม สร้างประสบการณ์ สร้างทัศนคติที่ดีต่อแบรนด์ โดยหากเป็นต่างจังหวัด กลยุทธ์ที่เข้าไปทำกิจกรรมกับคนได้คือ การเข้าไปเป็นสปอนเซอร์ชิพ ส่งผลทำให้แบรนด์เป็นที่จดจำ

อย่าประเมินกำลังซื้อของคนเมืองรองต่ำ เพราะกำลังมีเศรษฐกิจที่เติบโต และเข้าถึงโอกาสจากอินเทอร์เน็ตไม่แตกต่างจากคนกรุง ขณะเดียวกัน ชุมชนออฟไลน์ของคนต่างจังหวัดนั้นยังแข็งแกร่งจึงต้องใช้ออนไลน์เป็นเครื่องมือ ในการเข้าถึง และหาจุดสมดุลระหว่างกิจกรรมออฟไลน์ ที่ยังสำคัญ เสน่ห์ของการวางแผนอยู่ที่การบูรณาการสื่อ

แบรนด์อาจจะเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน พูดจาภาษาเดียวกัน และให้มีส่วนเกี่ยวข้อง (Embrace) ให้เป็นส่วนหนึ่ง ส่วนผู้ทรงอิทธิพล ในท้องถิ่น (Local Influencer) จะต้องมีการนำมาใช้ในแบบเฉพาะที่ใช้ภาษาย่อยง่าย เข้าถึงง่าย โดยดูวัตถุประสงค์การสื่อสารเป็นหลัก