‘รัสเซีย-จีน’ ผนึกกำลังท้าโลก

‘รัสเซีย-จีน’ ผนึกกำลังท้าโลก

งานเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก อีโคโนมิก ฟอรัม ที่รัสเซียจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี แต่ปีนี้บอกได้เลยว่าไม่ธรรมดา เมื่อประธานาธิบดีสี จิ้นผิงของจีนมาร่วมงานเป็นแขกพิเศษ ในช่วงที่สองประเทศเพื่อนบ้านต่างเจอปัญหาหน้าปวดหัวจากสหรัฐเหมือนๆ กัน

สี  มาถึงกรุงมอสโกตั้งแต่วันพุธ (5 มิ.ย.) มีกำหนดเยือนรัสเซีย 3 วัน พร้อมพบปะหารือกับประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ระหว่างที่พบกันที่ทำเนียบเครมลิน สีหยอดคำหวานใส่ เรียกปูตินว่า “เพื่อนซี้”

วานนี้ (7 มิ.ย) ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของการเยือน สีและปูตินไปร่วมงาน “เซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก อีโคโนมิก ฟอรัม” ที่รัฐบาลมอสโกจัดขึ้นเพื่อหวังดึงดูดนักลงทุนต่างชาติ แม้ว่าบรรยากาศการทำธุรกิจในประเทศจะเอาแน่เอานอนไม่ได้ก็ตาม

งานนี้สีจึงได้โอกาสแสดงวิสัยทัศน์ว่าด้วยการพัฒนาอย่างยั่งยืนและความร่วมมือพหุภาคี

คริส วีเฟอร์หุ้นส่วนอาวุโสจากบริษัทที่ปรึกษาแมคโครแอดไวซอรี มองว่า เวทีเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก อีโคโนมิก ฟอรัม ปีนี้สะท้อนให้เห็นชัดเจนว่า ตอนนี้โลกกลายเป็นสองขั้ว

“ในสัปดาห์เดียวกันที่ประธานาธิบดีทรัมป์ ร่วมดื่มน้ำชากับควีนเอลิซาเบธในกรุงลอนดอน ประธานาธิบดีปูติน ก็ต้อนรับประธานาธิบดีสีที่เซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก”

ทริปนี้เกิดขึ้นหลังจากเมื่อ 5 ปีก่อนรัฐบาลมอสโกผนวกคาบสมุทรไครเมียของยูเครนเข้าเป็นของตนเองกลายเป็นชนวนเหตุความขัดแย้งกับโลกตะวันตกขณะเดียวกันรัฐบาลปักกิ่งก็ติดหล่มสงครามการค้าอยู่กับสหรัฐ

ช่วงปีหลังๆ สายสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างมอสโกกับปักกิ่งเติบโตขึ้นมาก แม้ว่าส่วนใหญ่จีนจะได้ประโยชน์มากกว่า ไม่ว่าจะเป็นในแง่ของเศรษฐกิจหรือประชากรศาสตร์ที่บดบังรัศมีรัสเซียไปเลย

การเยือนของสีครั้งนี้  มีการลงนามข้อตกลงการค้ากันหลายสิบฉบับ ทั้งในด้านอีคอมเมิร์ซ โทรคมนาคม ก๊าซ และด้านอื่นๆ และครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่สีมาร่วมงานเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก อีโคโนมิก ฟอรัม นำตัวแทนจีนอีก 1,000 ชีวิตมาร่วมงานด้วย หลังจากระยะหลังทั้งสีและปูตินเจอกันอยู่เป็นประจำ

ก่อนที่สีมาเยือนยูริ ยูชาคอฟที่ปรึกษาทำเนียบเครมลิน เรียกจีนว่า เป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจที่สำคัญที่สุดของรัสเซีย ความเป็นหุ้นส่วนระหว่างกันส่งผลให้ค้าขายระหว่างกันเพิ่มมากขึ้น ปี 2561 โตขึ้นถึง 25% ทะลุ 1.08 แสนล้านดอลลาร์ สูงสุดเป็นประวัติการณ์

อย่างไรก็ตาม แม้การเมืองตึงเครียดและรัสเซียถูกคว่ำบาตรหลายรอบกรณียูเครน แต่สหภาพยุโรป (อียู) ก็ยังเป็นนักลงทุนต่างชาติรายใหญ่สุดของรัสเซีย เหนือกว่าจีนและสหรัฐมากนัก

“จีนกำลังเพิ่มการลงทุนในรัสเซีย แบบช้าแต่ชัวร์ในระยะยาว ไม่อยากเร่งรีบ”ชาร์ลส์ โรเบิร์ตสันหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์จากเรเนซองส์ แคปิตัล ให้ความเห็น พร้อมคาดว่า จีนจะลงทุนก้อนใหญ่ในช่วง 3-5 ปีข้างหน้า หรืออาจจะเร็วๆ นี้ เพราะรัสเซียมีบทบาทสำคัญในโครงการเส้นทางสายไหมใหม่ของจีน

ส่วนความร่วมมือหลักๆ ระหว่างรัสเซียกับจีน เข่น โครงการท่อก๊าซเพาเวอร์ออฟไซบีเรีย ที่ก๊าซพรอมร่วมมือกับรัฐวิสาหกิจซีเอ็นพีซี ทำท่อก๊าซส่งให้จีนในปีนี้

นอกจากนี้  ซีเอ็นพีซีและกองทุนเส้นทางสายไหมยังถือหุ้น 29.9% ในโครงการก๊าซธรรมชาติเหลว “ยามาล แอลเอ็นจี” เมกะโปรเจคในอาร์กติกไซบีเรีย ดำเนินการโดยบริษัทโนวาเทคของรัสเซีย แต่นักวิเคราะห์ย้ำถึงข้อจำกัดของความเป็นพันธมิตร

“ความสัมพันธ์ในทุกด้านอสมมาตร ที่เห็นได้ชัดก็คือด้านเศรษฐกิจ” รายงานของสถาบันเพื่อการเมืองระหว่างประเทศศึกษา (ไอเอสพีไอ) ในมิลาน เผยแพร่เดือนก่อนระบุไว้

ดูง่ายๆ วันนี้ผลผลิตมวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ของรัสเซียยังไม่เท่าจีดีพีมณฑลกวางตุ้ง งบประมาณกลาโหมรัสเซียก็แค่ 1 ใน 3 ของจีน

“ความสัมพันธ์นี้ใครเหนือใครดูได้ไม่ยาก” รายงานไอเอสพีไอเผยนัย