วธ. เปิดตัวเพลงรองรับประธานอาเซียน ดันรามเกียรติ์ สู่ตราสัญลักษณ์

วธ. เปิดตัวเพลงรองรับประธานอาเซียน ดันรามเกียรติ์ สู่ตราสัญลักษณ์

วธ. เปิดตัวเพลงพลังอาเซียน – เพลงอาเซียนยั่งยืน รองรับไทยเป็นประธานอาเซียน เนื้อหาสะท้อนความเป็นหนึ่งเดียวของอาเซียนเพื่อก้าวสู่อนาคตร่วมกัน โดยมีนักประพันธ์เพลง นักขับร้อง และศิลปินแห่งชาติ ร่วมสร้างสรรค์ เปิดให้ประชาชนดาวน์โหลด

เมื่อวันที่ 7 มิ.ย.62 นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานงานแถลงข่าวเปิดตัว “เพลงสำหรับการเป็นประธานอาเซียนของไทย” ณ โรงละครแห่งชาติ (โรงเล็ก) โดยมีนายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม นายกฤษศญพงษ์ ศิริ ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม ผู้บริหารกระทรวงวัฒนธรรม ผู้แทนจากสถานเอกอัครราชทูตประเทศสมาชิกอาเซียน และผู้แทนกระทรวงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วม จากการที่ประเทศไทย ในฐานะประธานอาเซียน ปี พ.ศ. 2562 ต่อจากประเทศสิงคโปร์ ทางคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเมื่อวันที่ 25 ธ.ค. 2561 มอบหมายให้กระทรวงวัฒนธรรม(วธ.) ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและหน่วยงานต่างๆ จัดกิจกรรมและโครงการตลอดปี 2562 เพื่อส่งเสริมบทบาทของไทยและเชิดชูเกียรติภูมิของอาเซียนด้วยมิติทางวัฒนธรรม ตลอดจนเป็นการยืนยันความพร้อมของไทยในการเป็นศูนย์กลางแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทางศิลปะและวัฒนธรรมของอาเซียนและประเทศคู่เจรจาในการเป็นประธานอาเซียน ประจำปี 2562 ซึ่งสอดคล้องกับมติที่ประชุมรัฐมนตรีอาเซียนที่กำกับดูแลงานด้านวัฒนธรรมและศิลปะ ครั้งที่ 8 เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2561 ณ เมืองยอกยาการ์ตา สาธารณรัฐอินโดนีเซีย เห็นชอบให้ปี 2562 เป็นปีแห่งวัฒนธรรมอาเซียน (ASEAN Cultural Year 2019) เพื่อส่งเสริมเผยแพร่วัฒนธรรมอาเซียนในฐานะประชาคมหนึ่งเดียวสู่การรับรู้ของสังคมโลกด้วยแนวคิด ASEAN:Oneness to the World

10000218178880

นายวิษณุ กล่าวว่า การจัดทำ “เพลงสำหรับการเป็นประธานอาเซียนของไทย” เป็นภารกิจที่รัฐบาลมอบหมายให้ กระทรวงวัฒนธรรม และคณะทำงานด้านการจัดการแสดงทางวัฒนธรรมและการจัดเตรียมของขวัญและของที่ระลึกสำหรับผู้นำประเทศและคู่สมรส และผู้เข้าร่วมการประชุมระดับต่างๆ ในช่วงการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 34 ซึ่งจะจัดขึ้นวันที่ 22-23 มิถุนายน พ.ศ. 2562 และครั้งที่ 35 ซึ่งถือเป็นการประชุมครั้งใหญ่และเป็นการส่งต่อการเป็นประธานอาเซียนให้แก่ประเทศเวียดนามในช่วงต้นเดือนพฤศจิกายนนี้

10000218140757

“สำหรับในการเตรียมการประชุมครั้งที่ 34 ที่จะถึงนี้ ทุกฝ่ายได้เตรียมการทั้งเนื้อหาในการประชุม เตรียมพิธีการในการต้อนรับผู้นำประเทศต่างๆ ที่เข้าร่วมประชุมเรียบร้อยทั้งหมด พร้อมเตรียมการซักซ้อมการจัดแสดงต้อนรับผู้นำทั้ง 9 ประเทศและคู่สมรส ทั้งอาหาร ที่พัก รถรับส่ง รวมถึงด้านการรักษาความปลอดภัยทุกด้าน” รองนายกฯ กล่าว

10000218106501

ทั้งนี้ บทเพลงดังกล่าว จะใช้ประกอบการจัดการแสดงและการประชาสัมพันธ์สำหรับการจัดการประชุมสุดยอดอาเซียน จำนวน 2 เพลง ได้แก่ “เพลงพลังอาเซียน” (Advancing Together as One) เนื้อหาบอกถึงการรวมเป็นหนึ่งเดียวของ 10 ประเทศอาเซียน เหมือนกับนิ้วทั้งสิบที่ประสานรวมกัน ร่วมกันสร้างสรรค์และเคียงข้างกันไปสู่อนาคต แต่งคำร้องภาษาไทยโดย นายชัยรัตน์ วงศ์เกียรติ์ขจร นักประพันธ์เพลง และคำร้องภาษาอังกฤษโดย นายจักรกฤษณ์ สีวลี เอกอัครราชทูต ณ กรุงบูดาเปสต์ ทำนองโดย นายวิรัช อยู่ถาวร ศิลปินแห่งชาติ เรียบเรียงเสียงประสานโดย นายทรงวุฒิ จรูญเรืองฤทธิ์ และขับร้องภาษาไทยโดย นายถิรวัฒน์ ศรีสุรางค์ และนางสาวณัฐธิกา เอี่ยมท่าไม้ สำนักการสังคีต กรมศิลปากร ขับร้องภาษาอังกฤษโดย นายภาสกรณ์ รุ่งเรืองเดชาภัทร์ และนางสาวภัทรานิษฐ์ เพฑูริยาเวทย์ นักร้องวงเฉลิมราชย์

10000218080363

และ “เพลงอาเซียนยั่งยืน” (ASEAN Will Go Far) เนื้อหาเกี่ยวกับความสามัคคีร่วมมือร่วมใจกันของประเทศสมาชิกอาเซียนทั้ง 10 ชาติ และมิตรภาพระหว่างกันที่ยั่งยืนนี้ จะสร้างอนาคตอันสดใสก้าวไกลให้แก่ประชาคมอาเซียน คำร้องภาษาไทยโดย นายประภาส ชลศรานนท์ ศิลปินแห่งชาติ คำร้องภาษาอังกฤษโดย นายประภาส ชลศรานนท์ ศิลปินแห่งชาติ และนายกิตตินันท์ ชินสำราญ นักร้องอาชีพและอาจารย์สอนขับร้อง วิทยาลัยดนตรี มหาวิทยาลัยรังสิต ทำนองและเรียบเรียงเสียงประสานโดย นายจักรพัฒน์ เอี่ยมหนุน นักดนตรีอาชีพและผู้กำกับเพลง และขับร้องภาษาไทยและภาษาอังกฤษโดย นายกิตตินันท์ ชินสำราญ

10000217967308

นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า ทั้งสองเพลงได้รับเกียรติจากนักประพันธ์เพลง ผู้ขับร้อง และศิลปินแห่งชาติ ได้แก่ นายประภาส ชลศรานนท์ และอาจารย์วิรัช อยู่ถาวร มาร่วมสร้างสรรค์ โดยทั้งสองเพลงจะมีทั้งเวอร์ชั่นภาษาไทยและภาษาอังกฤษ กว่าจะมาเป็นวันนี้ได้ต้องผ่านการปรับแก้ทั้งเนื้อร้องและทำนองดนตรีกันหลายรอบ จนวันนี้ก็ถือว่าสำเร็จ 100% ซึ่งจะมีการเผยแพร่ทั้งทางสถานีโทรทัศน์ สื่อออนไลน์ และทุกช่องทาง เพื่อให้ประชาชนได้รับทราบในการเป็นประธานอาเซียน

ด้าน นายวิรัช อยู่ถาวร ศิลปินแห่งชาติ ในฐานะผู้ประพันธ์ทำนองเพลงพลังอาเซียน กล่าวว่า รู้สึกดีใจและภูมิใจที่ได้ทำเพลงในระดับชาติ ตอนแรกที่ได้รับการติดต่อมาก็ต้องมาคิดว่าเราจะแต่งทำนองอย่างไรให้มีบรรยากาศของความเป็นไทย ฟังแล้วรู้สึกคุ้นหู และคนสามารถร้องตามได้ในเวลาไม่นาน เมื่อแต่งทำนองลงตัวแล้ว จึงส่งต่อให้คนแต่งคำร้องจนออกมาตามความต้องการ โดยเริ่มกระบวนการตั้งแต่ปลายปี 2561 ใช้เวลาเกือบครึ่งปีในการปรับเพื่อให้ตรงวัตถุประสงค์ของอาเซียน ในฐานะที่มีส่วนร่วมในการแต่งทำนองคาดหวังว่าคนฟังจะชอบและร้องตามได้ ประชาชน สามารถดาวน์โหลด “เพลงสำหรับการเป็นประธานอาเซียนของไทย” ได้ที่เว็บไซต์ของกระทรวงวัฒนธรรม www.m-culture.go.th

ทั้งนี้ จากมติที่ประชุมรัฐมนตรีอาเซียน เห็นชอบให้ปี 2562 เป็นปีแห่งวัฒนธรรมอาเซียน เพื่อส่งเสริมเผยแพร่วัฒนธรรมอาเซียนในฐานะประชาคมหนึ่งเดียวสู่การรับรู้ของสังคมโลก นำมาสู่การผลักดันรามเกียรติ์ซึ่งเป็นที่รู้จักและเข้าใจของประเทศสมาชิกอาเซียนเกือบทั้งหมด ให้เป็นตราสัญลักษณ์อาเซียนในปีนี้และปีต่อๆ ไป

นายวิษณุ กล่าวเพิ่มเติมว่า เพื่อให้เกิดความร่วมมือของอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ ในด้านวัฒนธรรมต่อไป ประเทศไทยจึงเสนอรามเกียรติ์ ซึ่งถือเป็นศิลปะวัฒนธรรมที่เกือบทุกประเทศเข้าใจ เพื่อเป็นตราสัญลักษณ์ของอาเซียน และเพื่อให้การเป็นประธานอาเซียนในปีนี้มีสีสัน เนื่องจากภูมิภาคอาเซียนมีประชากรอยู่กว่า 655 ล้านคน ถือเป็นกลุ่มใหญ่ หากผนึกกำลังกันจะสามารถขับเคลื่อนได้ในหลายด้าน สร้างพลัง และสร้างความเข้าใจในการเป็นอาเซียนได้ดีมากยิ่งขึ้น