บอร์ดก.ล.ต. ไฟเขียวตั้งคณะอนุกรรมการพัฒนาศักยภาพด้านการแข่งขันของตลาดทุน

 บอร์ดก.ล.ต. ไฟเขียวตั้งคณะอนุกรรมการพัฒนาศักยภาพด้านการแข่งขันของตลาดทุน

คณะกรรมการ ก.ล.ต. มีมติเห็นชอบการแต่งตั้ง “คณะอนุกรรมการพัฒนาศักยภาพด้านการแข่งขันของตลาดทุน” ซึ่งจะมีบทบาทสำคัญในการศึกษาและเสนอแนะแนวทางพัฒนาศักยภาพด้านการแข่งขันของตลาดทุนและส่งเสริมศักยภาพของผู้ที่เกี่ยวข้อง

นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการ ก.ล.ต. เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการ ก.ล.ต. ประจำเดือนมิถุนายน 2562 ดังนี้
1. คณะกรรมการ ก.ล.ต. มีมติเห็นชอบหลักการในการออกประกาศคณะกรรมการ ก.ล.ต. ว่าด้วยการยกเว้นค่าธรรมเนียมการยื่นคำขออนุญาตเสนอขายตราสารหนี้เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม (Green Bond) ตราสารหนี้เพื่อพัฒนาสังคม (Social Bond) และตราสารหนี้เพื่อความยั่งยืน (Sustainability Bond) จากผู้ออกตราสารหนี้ โดยอัตราค่าธรรมเนียมการยื่นคำขอจะอยู่ที่ 10,000 และ 30,000 บาท ขึ้นกับประเภทการเสนอขาย ซึ่งการยกเว้นดังกล่าวจะมีผลตั้งแต่วันที่ประกาศการยกเว้นค่าธรรมเนียมมีผลใช้บังคับจนถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2563 ทั้งนี้ ผู้ออกตราสารหนี้จะต้องมีวัตถุประสงค์ในการนำเงินที่ระดมทุนได้ไปใช้ในโครงการที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมหรือการพัฒนาสังคมในประเทศไทย โดยสำนักงาน ก.ล.ต. ได้มีการออกประกาศยกเว้นค่าธรรมเนียมการยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายตราสารหนี้ หรือแบบไฟลิ่ง ให้บริษัทที่ขออนุญาตเสนอขายตราสารหนี้ 3 ประเภทข้างต้น โดยมีผลใช้บังคับแล้ว ตั้งแต่วันที่ 17 พฤษภาคม 2562 จนถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2563 เช่นเดียวกัน

2. คณะกรรมการ ก.ล.ต. มีมติเห็นชอบการแต่งตั้ง “คณะอนุกรรมการพัฒนาศักยภาพด้านการแข่งขันของตลาดทุน” ซึ่งจะมีบทบาทสำคัญในการศึกษาและเสนอแนะแนวทางพัฒนาศักยภาพด้านการแข่งขันของตลาดทุนและส่งเสริมศักยภาพของผู้ที่เกี่ยวข้อง (stakeholder) ทั้งหมดในตลาดทุน โดยสนับสนุนให้ประชาชนทั่วไปมีความรู้ความเข้าใจและเห็นความสำคัญของการออมและการลงทุน และสามารถใช้ตลาดทุนเพื่อตอบโจทย์เป้าหมายทางการเงินของตนเองได้โดยสะดวก กิจการต่าง ๆ สามารถเข้าถึงตลาดทุนเพื่อระดมทุนทั้งระยะสั้นและระยะยาว ด้วยต้นทุนทางการเงินที่เหมาะสมกับรูปแบบและสภาพของธุรกิจ โดยยึดหลักธรรมาภิบาลในการประกอบกิจการ ผู้ประกอบธุรกิจมีความเป็นมืออาชีพและคำนึงถึงประโยชน์ของผู้ลงทุนเป็นสำคัญ รวมถึงตลาดทุนมีผลิตภัณฑ์การลงทุนที่หลากหลาย ตอบสนองความต้องการของผู้ระดมทุนและผู้ลงทุนภายใต้ความเสี่ยงที่เหมาะสม

ทั้งนี้ คณะอนุกรรมการดังกล่าวประกอบด้วย(1) นายเทวินทร์ วงศ์วานิช ประธานอนุกรรมการ(2) นายสุภัค ศิวะรักษ์ อนุกรรมการ(3) นายสุวิชญ โรจนวานิช อนุกรรมการ(4) นางภัทรียา เบญจพลชัย อนุกรรมการ(5) นายเจษฎา พรหมจาต อนุกรรมการ(6) นายพสุ เดชะรินทร์ อนุกรรมการ(7) นางปะราลี สุคนธมาน อนุกรรมการ(8) นางวิภา แซ่โง้ว อนุกรรมการ(9) ผู้แทนสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ อนุกรรมการ(10) ผู้แทนสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย อนุกรรมการ(11) นางสาวจอมขวัญ คงสกุล อนุกรรมการและเลขานุการ

3. คณะกรรมการ ก.ล.ต. มีมติเห็นชอบให้สำนักงาน ก.ล.ต. แสดงเจตจำนงต่อ International Organization of Securities Commissions (IOSCO) เพื่อเสนอเป็นเจ้าภาพจัดประชุม IOSCO ประจำปี 2565 เป็นต้นไป ซึ่งมีความยืดหยุ่นได้ในช่วงปี 2565-2567 โดยการเป็นเจ้าภาพสอดรับกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ด้านความสามารถในการแข่งขันในเรื่องการขยายโอกาสทางการค้าและการลงทุน และแผนแม่บทในด้านการต่างประเทศว่าด้วยการส่งเสริมบทบาทเชิงรุกอย่างสร้างสรรค์ของประเทศไทย เพื่อเป็นผู้เล่นสำคัญในเวทีโลกและมีความร่วมมือกับนานาชาติ อีกทั้งการรับเป็นเจ้าภาพในปี 2565 ยังเป็นปีที่ไทยดำรงตำแหน่งประธาน กรอบความร่วมมือ Asia-Pacific Economic Cooperation (APEC) และตรงกับปีที่สำนักงาน ก.ล.ต. มีอายุครบรอบ 30 ปีอีกด้วย

นอกจากนี้ จะก่อให้เกิดประโยชน์ต่าง ๆ โดย (1) แสดงให้เห็นถึงศักยภาพในการแข่งขันของไทยในการเป็นผู้นำของตลาดทุนภูมิภาคและในเวทีสากล และสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้ลงทุนไทยและต่างประเทศ (2) สร้างความตื่นตัวและเพิ่มพูนความรู้ให้บุคลากรในตลาดทุนไทยในประเด็นที่เกี่ยวกับพัฒนาการของต่างประเทศ (3) สนับสนุนโอกาสทางวิชาการและพัฒนามุมมองจากการจัดสัมมนาที่มีผู้เชี่ยวชาญที่มีชื่อเสียงจากทั่วโลก (4) เพิ่มโอกาสในการสร้างเครือข่ายทั้งในภาครัฐและเอกชน และ (5) สนับสนุนเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว และเผยแพร่วัฒนธรรมของประเทศ รวมถึงอุตสาหกรรมการจัดประชุมและแสดงนิทรรศการนานาชาติของไทย

ทั้งนี้ IOSCO มีสมาชิกประกอบด้วยหน่วยงานกำกับดูแลตลาดทุนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 225 องค์กร จากกว่า 140 ประเทศทั่วโลก และการประชุมประจำปีแต่ละครั้งจะมีผู้เข้าร่วมประชุมโดยเฉลี่ยประมาณ 600 คน และจะเปิดรับคัดเลือกประเทศสมาชิกที่ประสงค์เป็นเจ้าภาพจัดประชุมล่วงหน้า 3 ปี โดย ก.ล.ต. จะยื่นแสดงความจำนงและข้อเสนอเป็นเจ้าภาพต่อ IOSCO ในวันที่ 7 มิถุนายน 2562 ตามกรอบเวลาของ IOSCO และหากผ่านการพิจารณาเบื้องต้น จะต้องไปนำเสนอความพร้อมต่อคณะกรรมการบริหารของ IOSCO เพื่อพิจารณาคัดเลือกในเดือนตุลาคม 2562 ณ กรุงมาดริด ประเทศสเปน ต่อไป