อุตฯลุ้นตั้งโรงงาน 'แสนล้าน'

อุตฯลุ้นตั้งโรงงาน 'แสนล้าน'

กรมโรงงานเปิดตัวเลขตั้งกิจการใหม่-ขยายโรงงาน 5 เดือนแรกปี 2562 ในอีอีซี มีมูลค่าลงทุน 6.3 หมื่นล้านบาท โต 320% คาดทั้งปีทะลุ 1 แสนล้านบาท เผยปิโตรเคมีลงทุนสูงสุด 3.6 หมื่นล้านบาท

นายทองชัย ชวลิตพิเชฐ อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ยอดการขอตั้งโรงงานใหม่ และขยายโรงานในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ในรอบ 5 เดือน แรกของปี 2562 (ม.ค.-พ.ค.) ในอีอีซี 3 จังหวัด (ชลบุรี ระยองและฉะเชิงเทรา) มียอดการขอประกอบและขยายกิจการโรงงานสูงถึง 209 โครงการ มีเงินลงทุน 63,651 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันของปี 2561 ที่มีเงินลงทุน 1.5 หมื่นล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 320% และสูงกว่าในปี 2560 ที่มีเงินลงทุน 2.3 หมื่นล้านบาท

อุตฯลุ้นตั้งโรงงาน \'แสนล้าน\'

ทั้งนี้ ปัจจัยหลักที่ทำให้มีการตั้งโรงงานใหม่หรือขยาย เนื่องจากอุตสาหกรรมที่เข้ามาลงทุนมาขนาดใหญ่ใช้เงินลงทุนสูง โดยคาดว่าในปี 2562 อีอีซีจะมียอดการลงทุนสูงกว่า 1 แสนล้านบาท ซึ่งเงินลงทุนนี้จะเป็นการลงทุนตั้งกิจการใหม่ 80% และขยายโรงงาน 20%
สำหรับ โรงงานที่เข้าไปขอประกอบกิจการใหม่ และขยายกิจการในอีอีซีรอบ 5 เดือนแรก ใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย มี 39 โครงการ ยอดเงินลงทุน 16,133 ล้านบาท สูงกว่ายอดรวมทั้งปีในปี 2561 ที่มี 50 โครงการ ยอดเงินลงทุน 5,432 ล้านบาท และในปี 2560 ที่มี 51 โครงการ เงินลงทุน 12,497 ล้านบาท

ชี้ลงทุนอีอีซีโตก้าวกระโดด

โดยปีนี้อุตสาหกรรมเป้าหมายที่ขอประกอบกิจการใหม่และขยายกิจการ ได้แก่ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ 13,031 ล้านบาท รองลงมาเป็นอุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคต 2,599 ล้านบาท อุตสาหกรรมหุ่นยนต์และแขนกล 170 ล้านบาท อุตสาหกรรมท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพ 170 ล้านบาท และอุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร 162 ล้านบาท

นอกจากนี้ หากรวมทุกกิจการพบว่า อุตสาหกรรมปิโตรเคมี มียอดการขอประกอบกิจการใหม่และขยายกิจการมากที่สุด มีเงินลงทุน 36,459 ล้านบาท รองลงมาเป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์ 12,325 ล้านบาท และอุตสาหกรรมพลาสติก 2,949 ล้านบาท
“การลงทุนที่เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดมาจากนโยบายการส่งเสริมการลงทุนในอีอีซี ซึ่งตั้งแต่เริ่มนโยบายส่งเสริมอีอีซีทำให้นักลงทุนทั้งไทยและต่างชาติ สนใจเข้ามาขอรับการส่งเสริมจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เป็นจำนวนมาก และในช่วง 1-2 ปีแรกนักลงทุนใช้เวลาในการพิจารณาจัดทำรายละเอียดโครงการจากนั้นก็ตัดสินใจลงทุน ทำให้เกิดการลงทุนจริงเป็นจำนวนมากในปีนี้ และคาดว่าในปี 2563 การลงทุนประกอบกิจการใหม่และขยายกิจการจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากปีนี้”

ระยองตั้งโรงงานมากที่สุด

นอกจากนี้ ทุกจังหวัดในอีอีซีมียอดลงทุนก้าวกระโดด โดย จ.ระยองในรอบ 5 เดือนของปี 5562 มีเงินลงทุน 18,231 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2561 ทั้งปีที่มียอดเงินลงทุน 5,616 ล้านบาท และปี 2560 มีเงินลงทุน 9,594 ล้านบาท โดยในปีนี้อุตสาหกรรมที่ลงทุนใน จ.ระยองมากที่สุด ได้แก่ อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์ 12,227 ล้านบาท รองลงมาเป็นอุตสาหกรรมยานพาหนะและอุกปกรณ์ 1,537 ล้านบาท และอุตสาหกรรมโลหะ 1,497 ล้านบาท

ส่วน จ.ชลบุรี ในรอบ 5 เดือนของปี 2562 มียอดเงินลงทุน 42,777 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2561 ทั้งปี ที่มียอดเงินลงทุน 5,885 ล้านบาท และปี 2560 ที่มียอดเงินลงทุน 9,233 ล้านบาท โดยอุตสาหกรรมที่มียอดเงินลงทุนสูงสุด ได้แก่ อุตสาหกรรมปิโตรเคมี 36,415 ล้านบาท รองลงมาเป็นอุตสาหกรรมพลาสติก 2,161 ล้านบาท และอุตสาหกรรมโลหะ 1,115 ล้านบาท

ด้าน จ.ฉะเชิงเทรา ในรอบ 5 เดือนของปี 2562 มียอดเงินลงทุน 2,643 ล้านบาท ในปี 2561 ทั้งปี มียอดเงินลงทุน 4,188 ล้านบาท และในปี 2560 มียอดเงินลงทุน 5,108 ล้านบาท โดยอุตสาหกรรมที่มียอดเงินลงทุนสูงสุด ได้แก่ อุตสาหกรรมยานพาหนะและอุปกรณ์ 1,014 ล้านบาท รองลงมาเป็นอุตสาหกรรมผลิตเครื่องจักรและเครื่องกล 715 ล้านบาท และอุตสาหกรรมอื่น 532 ล้านบาท
ตั้งโรงงานทั่วประเทศ1.7แสนล้าน

สำหรับยอดการขอประกอบกิจการและขยายกิจการโรงงานทั่วประเทศในรอบ 5 เดือนของปีนี้ มียอดเงินลงทุนกว่า 1.7 แสนล้านบาท แบ่งเป็นการตั้งกิจการใหม่ 9.7 หมื่นล้านบาท และขยายกิจการโรงงาน 7.3 หมื่นล้านบาท คาดว่ายอดรวมทั้งปี 2562 จะมีมูลค่าการลงทุนรวมไม่ต่ำกว่า 3 แสนล้านบาท

ส่วนสงครามการค้าที่เกิดขึ้น มองว่าน่าจะเป็นผลบวกกับการลงทุนไทย เพื่อใช้ไทยเป็นฐานการผลิตสินค้าไปยังประเทศต่างๆ หลีกเลี่ยงการตอบโตทางการค้า เพราะไทยไม่ได้เป็นศัตรูทางการค้ากับทุกฝ่าย ทำให้ที่ผ่านมานักลงทุนทั้งจากญี่ปุ่น ไต้หวัน เกาหลีใต้ และจีน ต่างการเข้ามาขยายการลงทุนในไทยเพิ่มขึ้น

รับมือผลกระทบสิ่งแวดล้อม

นายทองชัย กล่าวว่า แม้จะมีการตั้งโรงงานในอีอีซีเพิ่มขึ้น แต่มั่นใจว่าจะไม่เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อม เนื่องจากอุตสาหกรรมใหม่ที่เข้ามาลงทุน โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูง จะดำเนินการผลิตแบบเซอร์คูลาร์อีโคโนมี หรือเศรษฐกิจหมุนเวียน เพื่อใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด ลดต้นทุนมากที่สุด ทำให้มีกากอุตสาหกรรมเหลือทิ้งน้อยมาก รวมทั้งในปัจจุบันก็เกิดธุรกิจกำจัดกากอุตสาหกรรมเพิ่มมากขึ้น

ขณะเดียวกันกรมโรงงานอุตสาหกรรมก็เพิ่มความเข้มงวดในการกำจัดกากอุตสาหกรรม โดยล่าสุดได้ติดระบบ จีพีเอส กับรถขนส่งกากอุตสาหกรรมไปแล้วกว่า 900 คัน และจะทยอยติดตั้งให้ครบทั้ง 4 พันคันในเร็วๆนี้ ทำให้กรมฯ สามารถเข้มงวดการขนส่งกากอุตสาหกรรมตั้งแต่โรงงานกำเนินกากไปจนถึงโรงงานกำจัดกากอุตสาหกรรม ไม่สามารถจะออกนอกเส้นทางไปลักลอบทิ้งในที่สาธารณะได้ และยังทำให้รู้ถึงปริมาณกากอุตสาหกรรมที่อยู่ในโรงงานแต่ละแห่งแบบเรียลไทม์

“ชลบุรี” ศูนย์กลางเฝ้าระวัง

นอกจากนี้ กรมโรงงานมีแผนที่จะยกระดับศูนย์ตรวจวัดคุณภาพน้ำและอากาศที่ จ.ชลบุรี ให้เป็นศูนย์เฝ้าระวังสิ่งแวดล้อมอุตสาหกรรมเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ ศูนย์อีอีซีไออี โดยในระยะที่ 1 (ปี2562-2563) จ้างที่ปรึกษาเพื่อศึกษาข้อมูลเบื้องต้นถึงความเหมาะสมโครงการจัดตั้งศูนย์อีอีซีไออี ระยะที่ 2 (ปี2563-2564) การก่อสร้างอาคารส่วนที่ 1 การกับกับดูแลสิ่งแวดล้อม ความปลอดภัย และวัตถุอันตรายในภาคอุตสาหกรรม

ทั้งนี้ จะตั้งศูนย์ข้อมูลและเฝ้าระวังสิ่งแวดล้อมอุตสาหกรรม ศูนย์ข้อมูลด้านความปลอดภัย และศูนย์ข้อมูลวัตถุอันตรายภาคอุตสาหกรรม รวมทั้งส่วนสนับสนุนการจัดการของเสียอันตราย ส่วนติดตามการขนส่งของเสีย และเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงในการลักลอบทิ้ง และหน่วยปฏิบัติการพิเศษด้านสิ่งแวดล้อม เป็นหน่วยเคลื่อนที่เร็วซึ่งมีสถานีตรวจวัดมลพิษเคลื่อนที่ รถฉุกเฉิน และระยะที่ 3 (ปี2564-2565) การก่อสร้างอาคารศูนย์ประชุม ฝึกอบรม แสดงนิทรรศการ และถ่ายทอดเทคโนโลยี