'สมคิด' ดึงกวางตุ้งลงทุนอีอีซี

'สมคิด' ดึงกวางตุ้งลงทุนอีอีซี

เผยทัพนักธุรกิจกวางตุ้ง 100 บริษัท เยือนไทย 8-11 มิ.ย.นี้ ลงอีอีซีดูลู่ทางลงทุน ไทยเล็งดึงอุตฯไฮเทคมาลงทุนเพิ่มเติม เชื่อมภาคผลิต-การเงินเกรทเตอร์เบย์ แอร์เรีย กับภาคตะวันออกของไทย

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ระหว่างวันที่ 8-11 มิ.ย.2562 นักธุรกิจชั้นนำจากมณฑลกวางตุ้ง สาธารณะประชาชนจีน กว่า 100 คน นำโดยนายลี้ ชี (Li Xi) เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์และผู้ว่าการมณฑลกวางตุ้ง จะเดินทางมาเยือนประเทศไทย เพื่อแสวงหาความร่วมมือทางเศรษฐกิจร่วมกันระหว่างไทยและกวางตุ้ง โดยเฉพาะการลงทุนในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี)

สำหรับนักธุรกิจกลุ่มนี้มีกำหนดการเดินทางไปดูความเป็นไปได้ในการลงทุนในอีอีซีในวันที่ 10 มิ.ย.นี้ และในวันที่ 11 มิ.ย.นี้ จะมีการจัดสัมนาร่วมกันกับหน่วยงานของไทย ได้แก่ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรม สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) และสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.)

'สมคิด' ดึงกวางตุ้งลงทุนอีอีซี

ทั้งนี้ การเดินทางมาเยือนประเทศไทยของคณะนักธุรกิจจากมณฑลกวางตุ้งในครั้งนี้ทำให้เห็นความเชื่อมโยงและความร่วมมือที่มีต่อเนื่องทางเศรษฐกิจระหว่างพื้นที่อีอีซีของไทยกับศูนย์กลางทางการเงินและธุรกิจแห่งใหม่ของจีนหรือเกรทเตอร์เบย์ แอร์เรีย (Greater Bay Area) ที่ประกอบไปด้วยเขตเศรษฐกิจฮ่องกง มาเก๊า และ 9 เมืองในมณฑลกวางตุ้ง ได้แก่ กวางโจว เซินเจิ้น จูไห่ฝอซาน ฮุ่ยโจว ตงกวน จงซาน เจียงเหมิน และเจ้าชิ่ง

ดึงจีงลงทุนอุตฯสมัยใหม่

นายสมคิด กล่าวว่า พื้นที่ดังกล่าวมีการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว โดยมณฑลกวางตุ้งถือว่าเป็นพื้นที่ที่มีการผลิตอุตสาหกรรมไฮเทค อุตสาหกรรมสมัยใหม่ และอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของจีนที่มีการเติบโตอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน ขณะที่ธุรกิจและภาคการผลิตของจีนที่ได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าก็มีแนวโน้มที่จะย้ายฐานการผลิตมายังประเทศไทย ซึ่งเป็นโอกาสที่นักธุรกิจจากจีนจะมาดูความพร้อมและโอกาสการลงทุนในอีอีซี

สำหรับการเชื่อมโยงเศรษฐกิจระหว่างเกรทเตอร์เบย์ แอร์เรีย และอีอีซี ในประเทศไทยก่อนหน้านี้นายสี จื้นผิง ประธานาธิบดีของจีน และนายชินโซะ อาเบะ นายกรัฐมนตรี ของญี่ปุ่นได้มีการหารือกันเรื่องการร่วมลงทุนในประเทศที่ 3 ซึ่งอีอีซีของประเทศไทยถือเป็นพื้นที่แรกที่จีนและญี่ปุ่นมีความตกลงที่จะลงทุนร่วมกัน

โดยก่อนหน้านี้เขตเศรษฐกิจพิเศษฮ่องกงนำโดยนางแครี่ หล่ำ (Carrie Lam) ผู้บริหารสูงสุดเขตบริหารพิเศษฮ่องกง ได้นำนักคณะธุรกิจฮ่องกงมาเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการเมื่อเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา รวมทั้งได้มีการเปิดสำนักงานเศรษฐกิจและการค้าฮ่องกงในไทย (HKETO)

เชื่อมภาคผลิต-การเงินของจีน

“การเดินทางมาเยือนไทยของนักธุรกิจกวางตุ้งกว่า 100 บริษัท ถือเป็นการเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจของไทยกับเกรทเตอร์เบย์ แอร์เรีย ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของ One belt one road ของจีน กับพื้นที่อีอีซีของไทยในฐานะประตูการลงทุนของอาเซียน ซึ่งก่อนหน้านี้เรามีความร่วมมือกับฮ่องกงซึ่งเป็นศูนย์กลางทางการเงินแล้ว เมื่อเราสามารถเชื่อมโยงและมีความร่วมมือกับกวางตุ้งได้ก็เท่ากับว่าเราสามารถเชื่อมโยงความร่วมมือทั้งภาคการเงินและภาคการผลิตของเกรทเตอร์เบย์ แอร์เรียได้ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับเศรษฐกิจของทั้ง 2 ประเทศในอนาคต” นายสมคิด กล่าว

สำหรับเศรษฐกิจของมณฑลกวางตุ้งมีขนาดผลิตภัณฑ์มวลรวม (จีดีพี) อยู่ที่ประมาณ 1.45 ล้านล้านดอลลาร์ มีการเติบโตเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 10.8% ต่อปีในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา โดยมีการเติบโตของจีดีพีสูงสุดเมื่อเปรียบเทียบกับทุกๆ มณฑลในจีนติดต่อกันถึง 30 ปีตั้งแต่ปี 1989-ปัจจุบัน รวมทั้งเป็นมณฑลที่มีการนำเข้าและส่งออกสินค้ามากที่สุดติดต่อกันกว่า 33 ปีตั้งแต่ปี 1986 เป็นต้นมา รวมทั้งเป็นมณฑลที่มีการบริโภคสินค้าและบริการสูงที่สุดของจีนติดต่อกัน 36 ปี นับตั้งแต่ปี 1983 เป็นต้นมา ประชากรมีรายได้เฉลี่ยต่อหัว 86,412 หยวน เพิ่มขึ้นกว่า 148.2 เท่าเทียบกับปี ค.ศ.1949 ที่มีรายได้เฉลี่ยเพียง 73 หยวน

ชี้ “กวางตุ้ง” ฮับธุรกิจดิจิทัล

นอกจากเป็นเมืองที่มีการค้าและการส่งออกอันดับ 1 ของจีน กวางตุ้งยังเป็นเมืองที่ได้รับการพัฒนาให้รองรับอุตสาหกรรม สมัยใหม่ในปี 2018 ที่ผ่านมา โดยมีมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจคิดเป็น 25.5% ของจีดีพีซึ่งเป็นบริษัทและวิสาหกิจที่ใช้เทคโนโลยีใหม่และเทคโนโลยีชั้นสูงกว่า 45,280 แห่ง กวางตุ้งมีโรงงานอุตสาหกรรมที่ผลิตหุ่นยนต์ที่ใช้งานในด้านต่างๆ กว่า 32,000 ตัวคิดเป็นสัดส่วนกว่า 20% ของการผลิตหุ่นยนต์ทั้งหมดในจีน มีบริษัทที่ดำเนินการเกี่ยวกับอุตสาหกรรมอินเทอร์เน็ตกว่า 3,000 บริษัท อุตสาหกรรมการสื่อสารและสมาร์ทโฟนที่อยู่ในจีนกว่า 47% อยู่ในกวางตุ้งและมีการใช้งานการสื่อสารบางส่วนผ่านเครือข่าย 5จี รวมทั้งยังมีการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า

โดยการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมของกวางตุ้ง เป็นผลมาจากการลงทุนในเรื่องการวิจัยและพัฒนา (R&D) โดยสภาเมืองของกวางตุ้งซึ่งเป็นหน่วยงานในการบริหารมณฑลได้จัดสรรงบประมาณกว่า 250 ล้านหยวน คิดเป็นสัดส่วน 2.65% ของงบประมาณของเมืองในการลงทุนเรื่อง R&D ถือว่าสูงที่สุดในประเทศจีน โดยในปี 2017 มีการขอยื่นขอรับสิทธิบัตรกว่า 793,800 รายการ และในปี 2018 มีการยื่นขอรับสิทธิบัตรสินค้าและนวัตกรรม 478,400 รายการ

ดันยุทธศาสตร์ “อินโดแปซิฟิก”

นายสมคิด กล่าวถึงการหารือกับนายฮิโรกิ มิทสึมาตะ ประธานองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (เจโทร กรุงเทพฯ) ว่า นายฮิโรกิได้เข้ามาพบเพื่ออำลาตำแหน่ง เนื่องจากครบวาระการดำรงตำแหน่งที่กรุงเทพฯ ซึ่งได้กล่าวขอบคุณนายฮิโรกิถึงความร่วมมือที่เจโทรมีบทบาทส่งเสริมให้ญี่ปุ่นเข้ามาลงทุนในไทยมากขึ้น และช่วยให้การจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยปรับตัวดีขึ้นในการจัดอันดับในปีที่ผ่านมา

ทั้งนี้ ยังได้หารือกับประธานเจโทรถึงยุทธศาสตร์อินโดแปซิฟิก ซึ่งสหรัฐกำลังให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก โดยนำชักชวนประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจขนาดใหญ่และมีการเติบโตทางเศณษฐกิจอย่างรวดเร็ว ได้แก่ ญี่ปุ่น อินเดีย และอินโดนิเซีย เข้ามาร่วมมือกัน
สำหรับ ยุทธศาสตร์ดังกล่าวถือว่าเป็นยุทธสาสตร์ที่จะใช้ถ่วงดุลกับยุทธศาสตร์ One belt one road ของจีน ทั้งนี้มองว่าประเทศไทยสามารถเข้าร่วมกับทั้ง 2 ยุทธศาสตร์ได้เนื่องจากมีที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ที่เหมาะสมเป็นประเทศที่อยู่ในจุดที่ยุทธศาสตร์ทั้งของสหรัฐและจีนพาดผ่าน ซึ่งประเทศไทยสามารถเข้าร่วมเพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจร่วมกันได้