พฤกษาจี้ปรับเกณฑ์ "แอลทีวี" ฟื้นตลาดอสังหาฯ 

พฤกษาจี้ปรับเกณฑ์ "แอลทีวี" ฟื้นตลาดอสังหาฯ 

พฤกษา เผยผลกระทบแอลทีวี  แตะเบรกเปิดตัวโครงการไตรมาสแรกเหลือ 5 โครงการ ลดลง 3 เท่าเทียบปีก่อนหน้า ยอดปฏิเสธสินเชื่อขยับ แก้เกมผนึกแบงก์อัดแคมเปญช่วยโอน ล่าสุดผนึก ช้อปปี้ จองบ้านรับสิทธิพิเศษผ่านหน้าร้านช้อปปี้ ดันตลาดออนไลน์

หลังธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกมาตรการคุมเข้มสถาบันการเงินปล่อยสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ เริ่มบังคับใช้ในวันที่ 1 เม.ย.ที่ผ่านมา โดยกำหนดอัตราการให้สินเชื่อต่อมูลค่าที่อยู่อาศัย (แอลทีวี) ส่งผลให้ผู้ซื้ออสังหาฯต้องเพิ่มเงินดาวน์สำหรับที่อยู่อาศัยสัญญาที่ 2 (บ้านหลังที่2) ในสัดส่วน 20% ของมูลค่าที่อยู่อาศัย หากผ่อนที่อยู่อาศัยหลักแรกไม่ถึง 3 ปี และเพิ่มเงินดาวน์ เป็น 30% ของมูลค่าที่อยู่อาศัย สำหรับสัญญาที่ 3 (บ้านหลังที่3)

โดยมาตรการดงกล่าวเริ่มส่งผลกระทบต่อภาพรวมตลาดอสังหาฯ ทำให้ยอดการเปิดโครงการลดลง สัดส่วนการปฏิเสธสินเชื่อเพิ่มขึ้น จนผู้ประกอบการอสังหาฯรายใหญ่อย่าง บมจ.พฤกษา เรียลเอสเตท ต้องออกมาเรียกร้องให้ธปท.ผ่อนเกณฑ์แอลทีวี เพื่อลดผลกระทบ 

นางสุพัตรา เป้าเปี่ยมทรัพย์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัท พฤกษา โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงภาพรวมตลาดอสังหาริมทรัพย์ ในไตรมาสแรก (ม.ค.-มี.ค.) ว่า ตลาดรวมติดลบ18%  ขณะที่ตลาดคอนโดมีเนียมติดลบ 25% ส่วนหนึ่งเป็นเพราะผู้บริโภคกังวลต่อมาตรการแอลทีวี ทำให้แตะเบรกการซื้อที่อยู่อาศัย  ขณะที่หลังมาตรการแอลทีวี เริ่มบังคับใช้ พบว่า ในช่วงเดือน เม.ย.-พ.ค. ยอดจองโครงการต่างๆในภาพรวมลดลงราว 10-25 %

ในส่วนของพฤกษา พบว่า มียอดปฎิเสธสินเชื่อเพิ่มขึ้นเป็น 7-8% ส่งผลให้ไตรมาสแรก เปิดตัวโครงการไปเพียงแค่ 5 โครงการน้อยกว่าช่วงเดียวกันกับปี2561 ที่เปิดตัวโครงการ 15 โครงการ เนื่องจากสถานการณ์ไม่เอื้อ โดยเฉพาะการได้รับผลกระทบจากมาตรการแอลทีวี จึงอยากให้ธปท.ปรับหลักเกณฑ์ที่เหมาะสมใหม่ 

อาทิ การตัดผู้กู้ร่วมออกไป โดยให้ผู้กู้ร่วมยังอยู่ในเกณฑ์การขอสินเชื่อบ้านหลังแรก แทนที่จะเข้าข่ายบ้านหลังที่ 2 หรือขยับเกณฑ์คุมเข้มสินเชื่ออสังหาฯจากบ้านหลังที่ 2 เป็นบ้านหลังที่ 3 เพราะปัจจุบันมาตรการฐานใหม่ของชีวิตเมือง การมีบ้านหลังที่ 2 ถือเป็นเรื่องปกติ เพื่อลดผลกระทบของตลาดอสังหาฯ

นางสุพัตรา กล่าวว่า จากผลกระทบดังกล่าว ทำให้พฤกษาต้องปรับกลยุทธ์การตลาดใหม่ ตั้งแต่ไตรมาสที่ 2 โดยเลือกเปิดตัวโครงการใหม่เฉพาะในทำเลที่มีศักยภาพจริงๆ รวมถึงเร่งขายบ้านที่ยังสร้างไม่เสร็จ เพื่อให้ลูกค้ามีระยะเวลาผ่อนดาวน์นานขึ้นจากภาระเงินดาวน์ที่เพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันยังได้ร่วมกับพันธมิตรที่เป็นสถาบันการเงิน จัดแคมเปญต่างๆ เพื่อแบ่งเบาภาระให้กับผู้ซื้อบ้าน

นอกจากนี้ยังได้ปรับโครงสร้างแบรนด์ใหม่จาก48แบรนด์ให้เหลือ 14แบรนด์ เพื่อให้ง่ายต่อการบริหารจัดการและทำการตลาดได้ครอบคลุม พร้อมทั้งจัดแคมเปญการตลาด พฤกษา ลีฟวิ่ง เทค โดยนำเทคโนโลยีผสานกับนวัตกรรมทางธรรมชาติมาปรับใช้กับสินค้าของพฤกษาทั้ง 14 แบรนด์ ให้ครอบคลุมที่อยู่อาศัย 4 ด้าน ได้แก่ เทคโนโลยีที่อยู่อาศัยเพื่อสุขภาพ สิ่งแวดล้อม ความปลอดภัย และการเชื่อมต่อกับเทคโนโลยีแบบเรียลไทม์ เช่น การควบคุมระบบต่างๆภายในบ้าน

พร้อมกันนี้ยังได้ร่วมทำพันธมิตรเปิดตัว Pruksa Official Shop ที่ Shopee พร้อมด้วยExclusive Deal ซื้อ Pruksa Voucher มูลค่า 10,000 บาท ในราคาพิเศษเพียง 6 บาท โดย Pruksa Voucher สามารถใช้จองโครงการทาวน์โฮม บ้านเดี่ยว และคอนโดกว่า 59 โครงการ มากกว่า 700 ยูนิต ตั้งแต่วันนี้ (6 มิ.ย.) – 6 ก.ค.นี้ นอกจากนี้ลูกค้าที่จองและโอนกรรมสิทธิ์ก่อน 30 ก.ย.นี้้ พิเศษ รับเพิ่มอีก 5,000 เหรียญ

นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า ขณะนี้ยอดปฏิเสธสินเชื่อบ้านของกลุ่มผู้มีรายได้น้อยของธนาคารอยู่ในอัตรา 30% เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากระยะที่ผ่านมา แต่ถือว่าอยู่ในระดับต่ำกว่าธนาคารพาณิชย์อื่น โดยเรื่องของรายได้ของผู้กู้ที่อยู่ในระดับต่ำและมีรายได้ไม่ต่อเนื่องเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ไม่ได้รับอนุมัติสินเชื่อ ธนาคารจึงมีแนวคิดจะออกมาตรการมาช่วยเหลือกลุ่มผู้มีรายได้น้อย วงเงินรวม 2 หมื่นล้านบาท

โดยเบื้องต้นวางไว้ 2-3 แนวทาง คือ 1.ในกลุ่มผู้มีรายได้น้อยที่ประกอบอาชีพอิสระ เช่น พ่อค้า แม่ค้า ธนาคารจะเพิ่มเครดิตด้านการเงินให้ ผ่านการออมก่อนกู้ เช่น ถ้าต้องการกู้บ้านในราคา 1 ล้านบาท อัตราการผ่อนขั้นต่ำโดยเฉลี่ยจะอยู่ที่ 7,000บาทต่อเดือน ธนาคารก็จะให้ออมกับธนาคารเดือนละ 7,000บาท เป็นระยะเวลา 1 ปี เพื่อแสดงให้เห็นว่ามีความสามารถในการผ่อนชำระได้ โดยที่ธนาคารไม่ต้องวิเคราะห์รายได้ของผู้กู้ เป็นต้น

2.ธนาคารจะปล่อยกู้แก่ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ โดยให้ผู้ประกอบการนำเงินกู้ก้อนดังกล่าวไปปล่อยกู้ให้แก่ประชาชนที่ซื้อบ้านเหมือนกับการผ่อนดาวน์ 10%เป็นระยะเวลา 2 ปี โดยในระหว่าง 2 ปีนั้น ผู้กู้จะทยอยผ่อนชำระหนี้ให้แก่ผู้ประกอบการ และเมื่อครบ 2 ปี จะโอนลูกหนี้ผ่อนดาวน์มาเป็นลูกหนี้ของธนาคาร

3.นำรายได้ของผู้กู้ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตมาคำนวณเป็นรายได้ของผู้กู้ เช่น กรณีผู้กู้เป็นลูกจ้างบริษัทเอกชน อาจจะได้รับการปรับขึ้นเงินเดือนในอัตรา 5-6%ในระยะ 3 ปีข้างหน้า ดังนั้นรายได้ที่จะนำมาคำนวณเพื่อพิจารณาสินเชื่อก็จะเพิ่มขึ้น เป็นต้น

“มาตรการดังกล่าว ถือเป็นมาตรการที่จะช่วยให้ผู้มีรายได้น้อยมีที่อยู่อาศัยได้ง่ายขึ้น โดยจะเสนอให้คณะกรรมการของธนาคารพิจารณาอนุมัติดำเนินมาตรการในเร็วๆนี้”