ศาลยกคำร้อง 'เรืองไกร' ตรวจสอบคุณสมบัติ 'ประยุทธ์'

ศาลยกคำร้อง 'เรืองไกร' ตรวจสอบคุณสมบัติ 'ประยุทธ์'

ศาลปค.สูงสุดไม่รับคำร้อง เรืองไกร ปมขอวินิจฉัยเพิกถอนมติกกต.ที่ชี้ว่า "บิ๊กตู่" มีชื่อเป็นเจ้าของเฟซบุ๊ก ไม่เข้าข่ายเป็นเจ้าของสื่อ

วันนี้(5มิ.ย.) ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งยืนตามศาลปกครองกลาง ไม่รับคำร้อง ที่นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ฟ้อง คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ขอให้เพิกถอนมติของ กกต.ที่วินิจฉัยว่า การที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เปิดช่องทางสื่อสารกับสาธารณชนในรูปแบบ เฟซบุ๊ก อินสตาแกรม ทวิตเตอร์ รวมถึง เว็บไซต์ส่วนตัว ไม่อาจถือว่าเข้าข่ายการเป็นเจ้าของกิจการสื่อมวลชนใด ๆ อันจะมีผลเป็นการเข้าลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ โดยศาลปกครองสูงสุดเห็นว่า ศาลรัฐธรรมนูญเป็นองค์กรที่มีอำนาจหน้าที่ในการวินิจฉัยว่า ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัวด้วยเหตุขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ ตามมาตรา 170วรรคสาม ประกอบมาตรา 82 และมาตรา 210 ของรัฐธรรมนูญ กกต.จึงมีอำนาจที่จะพิจารณาวินิจฉัยว่ากรณีใดที่จะต้องส่งเรื่องให้ ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยหรือไม่ การที่กกต.มีมติไม่รับกรณีตามหนังสือของนายเรืองไกร จึงเป็นการใช้อำนาจของกกต. อันเป็นกระบวนการและขั้นตอนที่บัญญัติไว้เป็นการเฉพาะในรัฐธรรมนูญ ข้อพิพาทนี้จึงไม่ใช่คดีปกครองที่อยู่ในอำนาจพิพากษาของศาลปกครอง

นายเรืองไกร ซึ่งเดินทางมาฟังคำสั่งศาลฯกล่าวว่า เมื่อศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งเช่นนี้ ว่าเป็นอำนาจของกกต .ที่จะส่งให้ศาลวินิจฉัยหรือไม่ ก็อยากจะเรียกร้อง ให้กกต เร่งพิจารณา กรณีที่ตนเอง ได้ร้องขอให้ตรวจสอบ ส.ส.จากหลายพรรคการเมืองที่ถือครองหุ้นสื่อ ว่าเข้าข่ายทำให้ขาดคุณสมบัติในการดำรงตำแหน่งส.ส. หรือไม่และเสนอเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยโดยเร็ว เพื่อให้ศาลฯ พิจารณาวางบรรทัดฐานว่าคำว่า "สื่อ "นั้นมี ความหมาย ถึงอะไรบ้าง รวมถึง การมีชื่อเป็นเจ้าของเฟซบุ๊ก อินสตราแกรมด้วยหรือไม่ ซึ่งกกต. ไม่ควรเลือกที่จะส่งศาลฯพิจารณาเฉพาะ ในบางเรื่องอย่าง ส่งเฉพาะของกรณีนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่แต่ควรทำกับส.ส.คนอื่นๆในมาตรฐานเดียวกัน

นอกจากนี้นาย เรืองไกรยังเห็นว่า ในวันนี้ที่ที่ประชุม สมาชิกรัฐสภาจะมีการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีนั้น ทราบว่ามีญัตติของพรรคอนาคตใหม่ ที่จะเสนอต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรให้พิจารณาคุณสมบัติ ของพลเอกประยุทธ์ กรณี เป็นหัวหน้า คสช ถือเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ ซึ่งต้องห้ามในการดำรงตำแหน่ง นายกรัฐมนตรีหรือไม่ แต่นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้มีการแจ้งต่อน.พ. ชลน่าน ศรีแก้วส.ส.พรรคเพื่อไทยว่า ไม่มีการบรรจุ ญัตติดังกล่าว ให้ที่ประชุมได้พิจารณา ซึ่งถ้าเป็นเช่นนี้ ก็คือจะมีการข้ามไปประชุมสมาชิกรัฐสภา เพื่อโหวตนายกรัฐมนตรีเลย ตนเห็นว่าเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องซึ่งเคยมีกรณี ของการโหวตพลเอกศิรินทร์ ธูปกล่ำ เป็นกกต.และ คุณหญิงจารุวรรณเมณฑกา เป็นผู้ว่าสตง. ที่เมื่อมีการทำผิดขั้นตอน การโหวตดังกล่าวก็ถือว่าเป็นโมฆะ ดังนั้น ถ้าที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรไม่มีการพิจารณาเรื่อง คุณสมบัติ ของพลเอกประยุทธ์ แล้วข้ามไป ประชุมสมาชิกรัฐสภา เพื่อโหวตนายกรัฐมนตรีเลย ก็จะถือว่าเป็นการทำข้ามขั้นตอน ตนก็จะยื่นให้ป.ป.ช.พิจารณาว่า ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเหล่านี้จงใจใช้อำนาจ หน้าที่ขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 234(1)หรือไม่ หาก ป.ป.ชชี้มูลก็จะมีผลให้ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่