ครม.ไฟเขียวมาตรการภาษี เพื่อส่งเสริมบรรจุภัณฑ์พลาสติกชีวภาพ

ครม.ไฟเขียวมาตรการภาษี เพื่อส่งเสริมบรรจุภัณฑ์พลาสติกชีวภาพ

ครม.ไฟเขียวมาตรการภาษี เพื่อส่งเสริมบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่ย่อยสลายได้เองทางชีวภาพ ให้หักรายจ่ายเพิ่ม 1.25 เท่า รัฐสูญเสียรายได้ 1300 ล้านบาทต่อปี แต่ช่วยหนุนการรักษาสิ่งแวดล้อมส่งเสริมการเป็นไบโอฮับของอาเซียน

นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ โฆษกประจำรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ เปิดเผยว่าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่ย่อยสลายได้เองทางชีวภาพ ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้วดำเนินการต่อไป


ทั้งนี้กระทรวงการคลังรายงานให้ ครม.รับทราบว่าแนวทางกำหนดมาตรการทางการเงินหรือการคลังในการสนับสนุนผู้ประกอบการหรือประชาชนที่สามารถลดปริมาณการใช้พลาสติกที่จะกลายเป็นขยะตกค้างที่ย่อยสลายได้ตามมติ ครม.17 ก.ค.2561 พิจารณาแล้วเห็นสมควรกำหนดมาตรการโดยการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลสามารถนำรายจ่ายจากการซื้อบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่ย่อยสลายได้เองทางชีวภาพที่ได้รับใบรับรองผลิตภัณฑ์จากกระทรวงอุตสาหกรรม มาหักเป็นรายจ่ายได้อีก 25% หรือหักภาษีได้ 1.25 เท่า ทั้งนี้สำหรับรายจ่ายที่ได้จ่ายไปสำหรับเงินได้ที่ได้จ่ายไปตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2562 – 31 ธ.ค. 2564


“การลดหย่อยภาษีให้กับนิติบุคคลที่ซื้อพัสดุภัณฑ์ที่เป็นพลาสติกที่ย่อยสลายได้ เป็นการส่งเสริมให้ลดขยะพลาสติกที่ย่อยสลายไม่ได้ หรือย่อยสลายยากซึ่งช่วยลดภาระของภาครัฐในการจัดการขยะ โดยการเพิ่มการลดหย่อยภาษีอีก 25% เท่ากับนิติบุคคลที่ซื้อพลาสติกที่ย่อยสลายได้เท่ากับ 100 บาทจะได้ลดภาษี 125 บาท”


โดยกระทรวงการคลังรายงานว่ามาตรการนี้สถาบันพลาสติกได้จัดทำประมาณการตลาดที่คาดว่าจะตอบรับมาตรการการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีว่า ผู้ประกอบการจะเปลี่ยนมาใช้เม็ดพลาสติกชีวภาพเพื่อการผลิตบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่ย่อยสลายได้เองทางชีวภาพประมาณ 10% ต่อปี ของปริมาณบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่มีการผลิตอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งการกำหนดสิทธิประโยชน์ทางภาษีนี้จะทำให้ภาครัฐสูญเสียรายได้ประมาณ 1,300 ล้านบาท แต่จะช่วยส่งเสริมการผลิตและการใช้ผลิตภัณฑ์ที่ย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ เป็นทางเลือกของการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อใช้ทดแทนพลาสติกที่สลายตัวไม่ได้ทางชีวภาพ รวมทั้งช่วยส่งเสริมให้บรรลุเป้าประสงค์ในการผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางพลาสติกชีวภาพ (Bio Hub of ASEAN) ช่วยลดต้นทุนบรรจุภัณฑ์และส่งเสริมให้มีการใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกที่ย่อยสลายได้เองทางชีวภาพ ส่งเสริมให้ภาคธุรกิจรวมทั้งประชาชนมีความสนใจตระหนักในการประหยัดพลังงานและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้น ช่วยลดปริมาณขยะและสิ่งตกค้างที่ไม่ย่อยสลาย ส่งผลดีในเรื่องการดูแลปัญหาสิ่งแวดล้อมของประเทศและลดงบประมาณของภาครัฐในการกำจัดขยะตกค้างและการดูแลปัญหาสิ่งแวดล้อมได้