BetterBox สตาร์ทอัพจากกลยุทธ์ปั้นคนเก่งในเอสซีจี

BetterBox สตาร์ทอัพจากกลยุทธ์ปั้นคนเก่งในเอสซีจี

BetterBox 1 ใน 50 สตาร์ทอัพซึ่งเป็นพนักงานเอสซีจี ที่ผ่านการคัดเลือกให้เข้าร่วมบ่มเพาะจาก ZERO TO ONE by SCG หนึ่งในกลยุทธ์บ่มเพาะบุคลากรภายในองค์กรให้เป็นสตาร์ทอัพ หรือคิดและทำงานแบบสตาร์ทอัพ

BetterBox 1 ใน 50 สตาร์ทอัพซึ่งเป็นพนักงานเอสซีจี ที่ผ่านการคัดเลือกให้เข้าร่วมบ่มเพาะจาก ZERO TO ONE by SCG หน่วยงานใหม่ที่มาพร้อมภารกิจการพัฒนาทักษะและ กระตุ้นศักยภาพบุคลากรในองค์กรให้มีแนวคิดและวิธีการทำงานในรูปแบบสตาร์ทอัพ แนวทางการผลักดันคนของเอสซีจีให้เป็นสตาร์ทอัพ จะดำเนินการเป็นขั้นบันไดอย่างเป็นระบบตามกลยุทธ์ Hatch-Walk-Fly ตั้งแต่ระยะฟักไข่ (hatch) เน้นการเริ่มทำความเข้าใจลูกค้า ค้นหาปัญหา และทดสอบความเป็นไปได้ในการแก้ไขปัญหานั้น ระยะเดิน (walk) ที่เน้นการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้สามารถตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าได้ พร้อมทั้งทดสอบตลาดและโมเดลธุรกิจ และระยะบิน (fly) ที่เน้นการขยายฐานลูกค้าเพื่อการเติบโตอย่างก้าวกระโดดในแบบฉบับของธุรกิจสตาร์ทอัพ


ภาณุ พรศิลป์อนันต์ ผู้ร่วมก่อตั้ง BetterBox ซึ่งเป็นสตาร์ทอัพระยะเดินในโครงการ ZERO TO ONE by SCG กล่าวว่า ขณะนี้อยู่ในช่วงของการทดสอบตลาดสำหรับโมเดลธุรกิจของทานเล่นสำหรับพนักงานออฟฟิศ โดยยกตู้ขนมและเครื่องดื่มมาไว้ในสำนักงาน หลังการตกผลึกทดลอง 2 โมเดลธุรกิจคือ ผู้ประกอบการให้พื้นที่ให้เขาดูแลการขายสินค้าเอง หรือบริษัทเป็นผู้ซื้อขนมและเครื่องดื่มให้เป็นสิทธิประโยชน์กับพนักงาน โดยได้ทดลองตลาดใน 6 พื้นที่ แบ่งเป็นภายในเอสซีจี 2 ที่และบริษัทภายนอกอีก 4 ที่ เบื้องต้นพบว่าผลตอบรับดี จึงเตรียมพร้อมที่จะขยายเพิ่มเป็น 40 สาขาในปี 2562 พร้อมกับการเสริมโมบายแอพพลิเคชั่นที่ช่วยให้การซื้อขายง่ายและคล่องขึ้น

“ปีที่ผ่านมา เราเข้าร่วมโครงการอยู่ในระยะตั้งไข่ (Hatch) ก่อนที่จะพัฒนาขึ้นมาอีกขั้น หลังจากแนวคิดของไมโครมาร์เก็ตที่นำขนมขบเคี้ยวกลุ่ม Tasty&Healthy เข้าใกล้มือผู้บริโภคมากขึ้นนั้น มีความเป็นไปได้โดยการนำตู้เครื่องดื่มและชั้นของกินเล่นเข้าไปวางในสำนักงานอาจจะเป็นห้องแพนทรี หรือพื้นที่ส่วนกลาง แถมยังสามารถซื้อผ่านโมบายแบงกิ้งได้ด้วย”

ด้าน วสันต์ ภักดีสัตยพงษ์ Head of deep tech Innovation, หัวหน้าฝ่ายซีโร่ทูวันฯ กล่าวว่า นอกจากการสนับสนุนเรื่องเงินทุนแล้ว ทางสตูดิโอยังได้ติดอาวุธส่วนอื่นๆ เพื่อช่วยให้สตาร์ทอัพสามารถสร้างธุรกิจได้เร็วขึ้น และเพิ่มโอกาสความสำเร็จได้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น การรวบรวมความรู้ กระบวนการทำงาน รวมถึงแนวทางการวัดผลที่เหมาะสมขึ้นเป็น playbook เพื่อปรับใช้กับสตาร์ทอัพในระยะต่างๆ การจัด mentoring session ให้คำแนะนำและแบ่งปันประสบการณ์โดยบุคลากรผู้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ ทั้งจากเอสซีจีและเจ้าของสตาร์ทอัพที่ประสบความสำเร็จ ทั้งยังให้การสนับสนุนด้านการพัฒนาแอพพลิเคชัน และการดำเนินการทางบัญชีและกฎหมายที่ช่วยให้สามารถใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการพัฒนาธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ ปัจจุบันมีสตาร์ทอัพซึ่งเป็นพนักงานเอสซีจีผ่านเข้าร่วมโครงการแล้วมากกว่า 50 ทีม โดยอยู่ในระยะ walk 7 ทีม และระยะ fly 4 ทีม หลังจากนี้จะเริ่มขยายฐานลูกค้าและสร้างการเติบโตทางธุรกิจให้มากขึ้นต่อไป


ส่วนทิศทางต่อไปของ ZERO TO ONE by SCG คือ การพัฒนาสตาร์ทอัพภายในองค์กรให้ดีและเร็วยิ่งขึ้น รวมถึงมองหาโอกาสสร้างสตาร์ทอัพผ่านการร่วมมือกับหน่วยงานภายนอก ที่สนใจจะพัฒนาธุรกิจร่วมกัน (Venture Builder Program) ที่สำคัญ การนำความรู้และประสบการณ์จากการพัฒนาสตาร์ทอัพที่ผ่านมา กลับไปช่วยสร้างนวัตกรรมให้เกิดขึ้น ในกลุ่มธุรกิจหลักและภาพรวมของเอสซีจีได้อย่างรวดเร็ว ผ่านการสนับสนุนการสร้างและพัฒนาสตูดิโอฯ ในหน่วยธุรกิจย่อยด้วย


ทั้งนี้ การพัฒนาความสามารถด้านเทคโนโลยีดิจิทัลให้บุคลากรภายในองค์กรเป็นสิ่งที่เอสซีจีให้ความสำคัญ เพื่อให้การทำดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่นประสบผลสำเร็จได้ดียิ่งขึ้น ทั้งการใช้ดาต้าอนาไลติกส์วิเคราะห์ข้อมูลต่างๆ เพื่อพัฒนาสินค้า บริการและกระบวนการทำงานให้ตอบโจทย์ปัญหาของหน่วยงานต่างๆ ตลอดจนตอบสนองความต้องการที่หลากหลายของผู้บริโภค รวมทั้งการประยุกต์ใช้ปัญญาประดิษฐ์หรือเอไอ แมชชีนเลิร์นนิ่ง บล็อกเชน เทคโนโลยีเออาร์และวีอาร์ เพื่อให้กระบวนการทำงานและบริการต่างๆ มีประสิทธิภาพมากขึ้น

“แน่นอนว่า โครงการนี้จะดึงดูดคนเก่ง ด้วยเป็นการปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงาน กระตุ้นให้คนทำมากกว่าที่เคยทำ แม้ว่าจะเกิดการดึงดูดกลุ่มครีมหรือคนเก่งมาทำสตาร์ทอัพ แต่ก็จะไม่ส่งผลกระทบกับทรัพยากรบุคคลขององค์กร เพราะเรามองว่า เอสซีจีเองไม่เปลี่ยนไม่ได้ คนที่อยู่ตรงนี้ก็ต้องขยับปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงาน รับการเปลี่ยนแปลงที่จะ เกิดขึ้นในอนาคต”