กรมชลฯ ลุยตรวจประตูระบายแม่น้ำตรัง

กรมชลฯ ลุยตรวจประตูระบายแม่น้ำตรัง

กรมชลฯ ลุยตรวจประตูระบายแม่น้ำตรัง เตรียมขุดลอกช่องทางลัดป้องกันน้ำเค็มรุกตัวฤดูแล้ง

นายเฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ รองอธิบดีกรมชลประทานฝ่ายวิชาการ กล่าวภายหลังลงพื้นที่สำรวจความคืบหน้าโครงการก่อสร้างประตูระบายน้ำแม่น้ำจังหวัดตรัง บริเวณสะพานหัวคลองขุด บ้านเกาะเคี่ยม ต.กันตังใต้ อ.กันตัง จ.ตรัง ว่า ขณะนี้โครงการก่อสร้างประตูระบายน้ำแม่น้ำจังหวัดตรังอยู่ระหว่างว่าจ้างกลุ่มบริษัทที่ปรึกษา ประกอบด้วย บริษัท ซิกม่า ไฮโดร คอนซัลแตนท์ จำกัด บริษัท เอช ทู โอ คอนซัลท์ จำกัด บริษัท เอเซีย แล็ป แอนด์ คอนซัลแตนท์ จำกัด และบริษัท แอมเพิล คอนซัลแทนท์ (ไทยแลนด์) จำกัด ศึกษาความเหมาะสมและวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ซึ่งดำเนินการตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2561 คาดว่าจะมีพื้นที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินโครงการรวม 3,670 ตารางกิโลเมตร แบ่งเป็นลุ่มน้ำตรัง 3,433 ตารางกิโลเมตร และพื้นที่ต่อเนื่องถึงทะเล 237 ตารางกิโลเมตร โดยกำหนดจุดตรวจสอบพื้นที่ 2 จุด คือ จุดท้ายน้ำบริเวณสะพานหัวคลองขุด บ้านเกาะเคี่ยม ต.กันตังใต้ อ.กันตัง จ.ตรัง โดยโครงการดังกล่าวมีจุดประสงค์เพื่อบรรเทาปัญหาน้ำท่วมในเขต อ.เมือง และพื้นที่ท่วมซ้ำซาก การกักเก็บน้ำเพื่อใช้ในฤดูแล้ง ตลอดจนเพื่อป้องกันการรุกตัวของน้ำเค็ม

นายเฉลิมเกียรติกล่าวต่อไปว่า การศึกษาความเหมาะสมและทำ EIA โครงการก่อสร้างประตูระบายน้ำแม่น้ำจังหวัดตรัง แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ 1.ส่วนประตูระบายน้ำ เพื่อควบคุมการไหลของน้ำก่อนไหลผ่านบริเวณตัวเมือง และทดน้ำเข้าคลองผันน้ำหลาก โดยมีการออกแบบให้สามารถระบายน้ำสูงสุดได้ไม่น้อยกว่า 600 ลูกบาศก์เมตร/วินาที ในช่วงฤดูน้ำหลาก ซึ่งมีพื้นที่ที่เหมาะสม จากการศึกษาเบื้องต้นบริเวณด้านท้ายน้ำของสะพานโคกสูง ท่าส้มหรือห่างจากปากคลองผันน้ำมาทางด้านท้ายน้ำของแม่น้ำตรังประมาณ 1,600 เมตร มีระยะทางระหว่างแนวคันกั้นน้ำฝั่งซ้าย-ขวาประมาณ 400 เมตร มีระยะทางระหว่างตลิ่งซ้าย-ตลิ่งขวา ประมาณ 300 เมตร โดยบริเวณดังกล่าวมีระดับท้องแม่น้ำต่ำกว่าระดับน้ำทะเล 2 เมตร และมีระดับตลิ่งสูงกว่าระดับน้ำทะเล 8.36 เมตร

2.การขุดลอกและปรับปรุงแม่น้ำตรัง พร้อมขุดช่องลัดแม่น้ำตรังช่วงท้ายน้ำ เนื่องจากจุดบรรจบคลองผันน้ำ มีลักษณะคดเคี้ยว เป็นอุปสรรคต่อการระบายน้ำ โดยการขุดแบ่งเป็น 4 แนว ได้แก่ 1) ขุดช่องลัดใหม่บริเวณตำบลนาโต๊ะหมิง อำเภอเมือง จังหวัดตรัง 2) ขุดช่องลัดใหม่ บริเวณตำบลโคกยาง อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง 3) ปรับปรุงแนวคลองเดิมบริเวณตำบลโคกยาง อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง และ 4) ปรับปรุงแนวคลองเดิมบริเวณตำบลควนธานี อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง รวมระยะทาง 2.03 กิโลเมตร ช่วยย่นระยะทางได้ 6.04 กิโลเมตร จากระยะทางเดิม 8.07 กิโลเมตร

“โครงการก่อสร้างประตูระบายน้ำในแม่น้ำตรัง มีชาวบ้านได้รับผลกระทบและต้องมีการเวนคืนที่ดิน จำนวน 17 ราย จำนวน 19 ไร่ โดยการจัดทำโครงการต้องให้ความยุติธรรมในเรื่องของการเวนคืนที่ดินทั้งราคาที่ดิน โดยมีคณะกรรมการกำกับดูแลเพื่อให้เกิดความยุติธรรมและพึงพอใจทั้ง 2 ฝ่าย ขณะนี้อยู่ในระหว่างการศึกษาประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ส่วนงบประมาณการเวนคืนนั้นยังไม่ได้ตั้งไว้ ต้องพิจารณาราคาประเมินที่ดิน ราคาซื้อขาย หรือราคาของภาครัฐและต้องศึกษาครอบคลุม ทรัพยากรกายภาพ ทรัพยากรชีวภาพ คุณค่าการใช้ประโยชน์ของมนุษย์ และคุณค่าต่อคุณภาพชีวิต” นายเฉลิมเกียรติกล่าว

ด้านนายพิทักษ์ หาบหา ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 4 บ้านเกาะเคี่ยม ต.กันตังใต้ กล่าวว่า บริเวณหัวสะพานคลองขุด เกิดน้ำท่วมเป็นประจำ ชาวบ้านจึงร้องขอภาครัฐมาช่วยขุดลอกคลองให้ลึกขึ้นเพื่อให้น้ำไหลลงทะเลได้สะดวก