รามาวตาร ฉบับแอนิเมชั่น สุนทรียะไร้ช่องว่างระหว่างวัย

รามาวตาร ฉบับแอนิเมชั่น สุนทรียะไร้ช่องว่างระหว่างวัย

ไม่มีวาทกรรมคนรุ่นเก่า คนรุ่นใหม่ ไม่มีช่องว่างระหว่างวัย เพราะรามาวตาร จิตรกรรมฝาผนังมีชีวิต ภาพยนตร์แอนิเมชั่นที่เนรมิตภาพจิตรกรรมฝาผนังให้มีชีวิต ล้วนเป็นผลผลิตจากยอดฝีมือในแต่ละสาขาตั้งแต่วัยยี่สิบไปจนถึงครูบาอาจารย์วับแปดสิบ

ไม่น่าแปลกใจเลยที่ได้เห็นภาพเด็กน้อยวัยเพียงสามขวบสนทนากับคุณทวดผู้มีชีวิตผ่านร้อนผ่านหนาวมากว่าสี่แผ่นดินว่าด้วยเรื่องรามเกียรติ์ได้อย่างออกรส หลังได้ชมภาพยนต์แอนิเมชั่น รามาวตาร จิตรกรรมฝาผนังมีชีวิต ที่ถอดแบบตัวละครมาจากภาพจิตกรรมฝาผนังรอบระเบียงพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดารามแล้วสร้างสรรค์ให้มีการเคลื่อนไหวตามแบบการแสดงโขน นำเสนอในเทคนิคที่พรั่งพร้อมไปด้วยแสง สี เสียง ในรูปแบบกระชับฉับไว

กรุงเทพวันอาทิตย์ ชวนคุยกับ อธิปัตย์ กมลเพ็ชร ผู้กำกับภาพยนตร์ และ ดลยา กมลเพ็ชร ผู้อำนวยการสร้าง ว่าด้วยเรื่องปรากฏการณ์รามาตาร รวมไปถึงช่องทางการชมภาพยนตร์

 60 นาทีกับ 12 ปีที่รอคอย

ใครเลยจะรู้บ้างว่ากว่าจะมาเป็นภาพยนต์แอนิเมชั่นเวลา 60 นาที ทีมงานต้องใช้เวลาเตรียมงานถึง 12 ปี ด้วยอุปสรรคในเรื่องเงินทุนกว่าจะได้ลงมือทำอย่างอย่างจริงๆหลังจากได้รับทุนจากกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2561

แม้เวลาลงมือทำงานจะเร่งรัด แต่ผลลัพธ์ออกมาผู้อำนวยการสร้างกล่าวว่าเป็นไปตามคาด

“คนที่เข้าไปดูหนังโดยที่ไม่รู้ข้อมูลใดๆมาก่อน มาเพราะลูกชวนมาดู พอดูหนังเสร็จบอกกับเราว่ามันขนาดนี้เลยเหรอ สนุกมากจริงๆ คนที่เคยติดตามงานของเราบอกว่าดูแล้วอิ่มใจมากขึ้น มีภาพและเสียงที่ครบอรรรสมากขึ้น

เด็กสามขวบนี่ก็ตื่นเต้น ดูรู้เรื่อง ครูอาจารย์ดูแล้วบอกว่า หนังมันเวิร์คมากเลยนะสอนเด็กมาหลายปีเด็กสอบตกวิชานี้ แต่ถ้าได้ดูหนังเรื่องนี้สอบผ่านแน่นอน” ดลยา กล่าวถึงเสียงตอบรับของผู้ชมที่ทางทีมงานได้ทำสถิติอายุของผู้เข้าชมที่น้อยที่สุดอยู่ที่ 3 ขวบ มากที่สุดอยู่ที่ 83 ปี

“ผมคิดว่าอิมแพ็คมันจะเกิดต่อเมื่อได้ดูหนัง ฟีดแบ็คที่ออกมาจากผู้ชมเป็นไปตามคาด คือ ภาพมันสวยมากอยู่แล้ว เราพยายามเล่าเรื่องให้กระชับขึ้น ไม่ได้ตั้งใจจะสอนอะไร นำเสนอให้สนุกเหมือนดูหนัง พอดีเราเป็นคนทำโฆษณาเราทำหนังแบบชัดๆตรงประเด็น เมื่อภาพมา เสียงมา อิมแพ็คมันจะเกิด” อธิปัตย์ กล่าว

“คนที่จะดูรามเกียรติ์ส่วนใหญ่จะดูโขนเป็นหลัก โขนจะมีลักษณะเป็นตอนๆ แต่ไม่เห็นภาพรวมว่าเรื่องราวเป็นมายังไง แต่ละตอนมาต่อกันยังไง หนังเรื่องนี้เป็นเหมือนปฐมบทให้รู้ว่ามีตัวละครอะไร มีความขัดแย้งอย่างไร ถึงได้เกิดสงครามในตอนต่อไป เลยจบตรงตอนหนุมาณจองถนน เพื่อนำไปสู่ตอนต่อไป”

ผู้กำกับแย้มว่าตอนที่สองจะพบกับฉากรบ 3 ศึกใหญ่ อันประกอบไปด้วย ศึกไมยราพณ์ ศึกกุมภกรรณ และศึกอินทรชิต ถ้าเป็นไปได้จะทำให้เป็น 3 มิติมากขึ้น แค่ได้ยินก็น่าตื่นเต้นแล้ว แต่ต้องอดใจรออีกประมาณปีครึ่ง

เชื่อมอดีตกับปัจจุบัน

ยิ่งศึกษา ยิ่งค้นคว้าทำให้พบว่า “รามเกียรติ์” มีอิทธิพลกับคนไทยในหลากหลายมิติทางวัฒนธรรม ไม่ว่าจะเป็นการเมือง การปกครอง วัฒนธรรม คติความเชื่อ

“เราจะนำสิ่งเหล่านี้ไปต่อยอดอย่างไร กระแสการนำของเก่ามานำเสนอให้คนรุ่นใหม่มองเห็นคุณค่าน่าจะเป็นเรื่องที่น่าสนใจ พอเทคโนโลยีไปถึงสามารถทำให้คนรุ่นใหม่เข้าใจเรื่องในอดีตได้ เป็นเป้าหมายหลักของเรา” ผู้กำกับภาพยนตร์กล่าว

“ความยาก คือ การนำของบนหิ้งซึ่งเป็นของสูงมีเรื่องราวสืบทอดมายาวนานเป็นร้อยๆปี จะหยิบมานำเสนอยังไงให้คนรุ่นใหม่ได้อินได้เข้าใจในเทคนิคที่เขาอยากได้อยากดู

ส่วนองค์ความรู้มีมายาวนาน เราก็ต้องปรึกษาครูบาอาจารย์ โปรเจคนี้จึงประกอบด้วยทีมงานที่มีอายุตั้งแต่เด็กฝึกงานอายุยี่สิบไปจนถึงครูบาอาจารย์อายุเจ็ดสิบถึงแปดสิบปีทำงานร่วมกัน

เพราะเราพูดว่าจิตรกรรมฝาผนังมีชีวิต เราตั้งใจที่จะหยิบคุณค่าของจิตรกรรมฝาผนังที่วัดพระแก้วความยาว 2 กิโลเมตร เป็นการนำสิ่งที่ประเทศอื่นไม่มีขึ้นมาทำพร้อมกับบทพระราชนิพนธ์ของรัชกาลที่ 1 ซึ่งพระองค์ได้ปรับแต่งให้เข้ากับนิสัยของคนไทย ความเข้าใจในแบบไทย บ้านเราเชื่อในเรื่องไตรภูมิ ผนวกความเชื่อทางศาสนาเข้าไปเป็นเสมือนรากเหง้าที่อยู่กับเรามานานแสนนานตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัย” ดลยาเสริม

เพื่อความเข้าใจในการเคลื่อนไหวร่างกายตัวละครแบบโขน ผู้อำนวยการสร้างจึงต้องจัดเวิร์คช้อปให้เหล่าแอนิเมเตอร์วัยรุ่นได้เรียนรู้และเข้าถึง

“แรกๆน้องๆจะบอกว่าตัวละครพี่ขยับแปลกจัง ลิงทำไมต้องฉีกขา ฉีกขาแล้วจะเดินกันยังไง ทำให้เราต้องจัดเวิร์คช้อป เพราะถ้าเขาไม่เข้าใจตัวละครจะเดินกันไม่ได้ เด็กรุ่นใหม่ได้เรียนรู้ไปกับเรา เป็นโลกใหม่ของเขาที่สนุกไปกับเรา โดยมีครูบาอาจารย์ท่าช่วยชี้นำ เช่น การเกา เกาลงเป็นหมานะ เป็นลิงต้องเกาขึ้นนะ” เกร็ดความรู้ที่หลายคนอาจไม่รู้

ส่วนกลวิธีการนำเสนอนั้น “จากประสบการณ์ในการทำโฆษณามาก่อน เรามีวิธีเล่าแบบตรงประเด็น ยิงให้ตรงใจ สร้างความหวือหวาหน่อย โดยตั้งอยู่บนพื้นฐานบทพระราชนิพนธ์ของรัชกาลที่ 1 พัฒนาได้แต่ไม่ได้เล่าเรื่องใหม่ ทำให้คนรุ่นเก่าเข้าใจได้

ประกอบกับเราไปขอความรู้จากครูที่เขียนบทโขนมาเล่าความลึกของตัวละครให้เราเข้าใจ เพราะภาพยนตร์สมัยใหม่ตัวละครจะต้องพัฒนาบุคลิกภาพไปเรื่อยๆ เจอเรื่องนี้ต้องค่อยๆเรียนรู้ ทำให้คนรุ่นใหม่ไม่ปฏิเสธ จะมองเห็นว่าตัวละครไม่แบน จึงเป็นเหมือนจุดกึ่งกลางของงานรุ่นเก่ากับรุ่นใหม่มาประสานกัน” อธิปัตย์ อธิบาย

ช่องทางการรับชม

ภาพยนตร์แอนิเมชั่นรามาวตาร เดินทางสัญจรไปฉายให้ชมฟรีทางภูมิภาคต่างๆมาแล้วตั้งแต่เดือนเมษายนเป็นต้นมา โดยในเดือนมิถุนายนนี้มีโครงการจัดฉายให้ผู้สนใจจำนวนหนึ่งแสนคนได้ชมกันสามารถลงชื่อได้ทาง www.facebook.com/ramaavatar.animation

ในกรณีที่หน่วยงาน ห้างร้าน บริษัท หรือผู้สนใจต้องการเหมารอบเพื่อจัดฉายในโรงภาพยนตร์ (รอบละ 30,000 บาท จำนวน 200 ที่นั่ง) สามารถติดต่อผ่านทางสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ข้อความของ www.facebook.com/ramaavatar.animation หรือ ติดต่อผ่านดลยาได้ที่โทร. 08 1900 6841

ชมภาพยนตร์ตัวอย่างได้ทาง https://ramavatar.net/

เรื่อง : ปิ่นอนงค์ ปานชื่น

ภาพ : ศูนย์ภาพเนชั่น