“เทวดา คอร์ป” ส่งโดรนไฮบริด พลิกชีวิตชาวนาสู่มั่งคั่ง

“เทวดา คอร์ป” ส่งโดรนไฮบริด พลิกชีวิตชาวนาสู่มั่งคั่ง

“เทวดา คอร์ป ” สตาร์ทอัพสายยูเอวี (UAV) หรือ อากาศยานไร้คนขับผู้ให้บริการโดรนด้านการเกษตร และชีวภัณฑ์ หวังกระดับคุณภาพชีวิตชาวนาไทยสู่ความยั่งยืน วางเป้าหมายก้าวสู่ ยูนิคอร์น

จากแนวโน้มของ “แรงงาน” ในภาคการเกษตรไทยที่มีปริมาณ ‘ลดลง’ ไม่แพ้กับกับภาคอุตสาหกรรม ที่กำลังเผชิญกับปัญหาสูงวัยของแรงงาน เร็วกว่าภาพรวมของประเทศไทยที่กำลังก้าวสู่สังคมผู้สูงวัยอย่างเต็มรูปแบบ จากข้อมูลทะเบียนเกษตรกรและสำมะโนเกษตร ระบุว่า โดยเฉลี่ยครัวเรือนเกษตรไทยใช้จำนวนแรงงาน 0.51 คนต่อไร่ในการทำการเกษตรและเกือบ 100% ของครัวเรือนใช้เครื่องจักรกลในการผลิต 

แต่มีเพียง68% ของครัวเรือนที่ใช้เครื่องจักรกลสมัยใหม่ โดยการใช้แรงงานเกษตรต่อไร่ของครัวเรือนเกษตรไทย‘ลดลง’ ในเกือบทุกพื้นที่ สวนทางกับจำนวนครัวเรือนที่ใช้เครื่องจักรกลที่เพิ่มมากขึ้น

ทว่า นั่นยังไม่ตอบโจทย์กับหนทางการแก้ไขปัญหาของเกษตรกรรุ่นใหม่‘ขาด’ทักษะและประสบการณ์ หนึ่งในทางเลือกที่น่าจะตอบโจทย์ คือการใช้โดรน” ซึ่งจัดอยู่ในประเภทอากาศยานไร้คนขับ หรือ Unmanned Aerial Vehicle (UAV) ที่เริ่มต้นนำมาใช้งานด้านการทหารก่อนจะถูกพัฒนามาใช้ในหลายรูปแบบ เช่น ติดกล้องเพื่อสามารถถ่ายภาพมุมสูง การส่งสินค้า รวมถึงการพัฒนาด้านการเกษตรโดยใช้โดรนพ่นสารเคมี ปุ๋ย ฮอร์โมนพืช

จากประสบการณ์ ธีรพงษ์ กาญจนกันติกุล ผู้เคยทำงานวิจัยและพัฒนาด้านโดรน ให้กับกระทรวงกลาโหมมานาน7 ปีภายใต้ บริษัท ทามอส คอร์ปอเรชั่น จำกัด จึงมองเห็น “โอกาส” ในการนำโนว์ฮาวเกี่ยวกับโดรนเข้ามาประยุกต์ใช้ทางการเกษตร เนื่องจากไทยเป็นประเทศที่มีภูมิประเทศเหมาะสมกับการทำเกษตรมากที่สุดในโลกติดอันดับ1 ใน3 มีพื้นที่ปลูกข้าวกว่า 80 ล้านไร่ และมีมูลค่าการส่งออกข้าวแต่ละปีกว่าแสนล้านบาท แต่เกษตรกรกลับ “ไม่มี” เทคโนโลยีที่เข้ามาช่วยการทำเกษตรให้มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร โดยเฉพาะ “โดรน” ที่เป็นเทคโนโลยีใหม่

จึงเริ่มต้นจากการพัฒนา ‘โดรนไฮบริด’ สำหรับปลูกข้าวที่สามารถบินได้ขั้นต่ำ 30 นาทีหรือครึ่งชั่วโมง-2ชั่วโมง แล้วแต่น้ำหนักบรรทุกและต้นทุนพลังงาน ใช้เครื่องยนต์น้ำมัน จากปกติใช้แบตเตอรี่ได้บินได้8-12นาที ขณะเดียวกันได้ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญด้านเกษตรในการอารักขาพืช ที่ใช้หลักทางวิทยาศาสตร์และปราชญ์ชาวบ้าน นำมาผสมผสานกับเทคโนโลยี มาเป็น’ เครื่องมือ’ช่วยเกษตรกรโดยตั้งเป็นบริษัท เทวดา คอร์ป จำกัดเพื่อให้บริการเป็น เซอร์วิสโพรไวเดอร์ให้กับเกษตรกร ขณะที่ ทามอสเป็นบริษัทผลิตเทคโนโลยี

วัตถุประสงค์เพื่อใช้โดรนสำรวจดูว่าข้าว หรือ พืชปลูกมีสุขภาพดีหรือไม่ดี เป็นโรคหรือไม่ ดินแห้งแล้งไหมจากนั้นนำข้อมูลที่ได้ไปวิเคราะห์ เพื่อปรับสูตรการให้ปุ๋ยหรือชีวภัณฑ์ ที่ผลิตจากจุลินทรีย์ เช่น เชื้อรา แบคทีเรีย ที่ฆ่าแมลงศัตรูพืชแบบยั่งยืนโดยไม่ทิ้งสารเคมีตกค้าง ปลอดภัยทั้งเกษตรกรผู้ใช้และผู้บริโภค ที่เหมาะกับความต้องการของพืชนั้นๆ

1 ปีที่ผ่านมาได้ผลตอบรับที่ดี หลังจากที่ได้ทำแปลงการทดลองในจ.สุพรรณบุรี จ.ฉะเชิงเทราจ. อุบลราชธานี ให้เกษตรกรได้เห็นถึงประสิทธิภาพของการใช้โดรน และสารชีวภัณฑ์ว่า สามารถเพิ่มประสิทธิภาพได้จริง โดยต้นทุนเท่าเดิมยกตัวอย่าง นาข้าว จ. สุพรรณบุรี ขนาด 50 ไร่ ของกรมการข้าว ต้นทุนผลิตเท่าเดิม แต่ได้ผลผลิต1,000-1,200 กิโลกรัมต่อไร่ จากปกติได้ 500-800 กิโลกรัมต่อไร่ ซึ่งปีหนึ่งทำนา 2 ครั้ง

“เราใช้โดรนในการฉีดพ่น สำรวจแปลงข้าว วัดปริมาณปุ๋ยในแปลง เพื่อจะให้ปุ๋ยได้อย่างถูกต้องตามความต้องการของพืช จากเดิมเกษตรกร ไม่มีเครื่องมือวัด มักซื้อปุ๋ยตามร้านใส่ตามสูตรที่คนขายบอก ซึ่งเราเข้ามาปรับเปลี่ยนกระบวนการนั้น ด้วยการวัดความต้องการก่อนให้ปุ๋ย ซึ่งสูตรของสารชีวภัณฑ์จะถูกปรับเปลี่ยนไปตามสภาพที่ดินว่า ขาดสารอะไร เพื่อเกิดความเหมาะสม ไม่ใช่สูตรตายตัว”

ปกติเกษตรกรใช้สารเคมีฉีดฆ่าแมลงแต่สารชีวภัณฑ์จะอารักขาพืช ซึ่งเป็นการสร้างระบบนิเวศใหม่ เมื่อดินสมบูรณ์ขึ้นการใช้ปุ๋ยจะลดลง และปล่อยธาตุอาหารได้มากขึ้น สามารถช่วยลดต้นทุน25-35% และผลผลิตเพิ่มขึ้นในสัดส่วนเดียวกัน โดยใช้เวลา6-9เดือนจะเห็นผลว่า ต้นทุนค่าใช้จ่ายลดลง จากเดิมเกษตรกรจะมีต้นทุน 4,500-5,500 บาทต่อรอบต่อไร่ ลดลงเหลือ 3,500-4,500 บาท และลดลงเรื่อยๆหากดินอุดมสมบูรณ์ขึ้น

ความยากคือการเปลี่ยนทัศนคติของเกษตรกรให้หันมาใช้สารชีวภัณฑ์และเทคโนโลยีโดรน ซึ่งการจะทำลายกำแพงต้องทำให้เห็นผลลัพธ์ที่ได้ว่ามากกว่าเดิมเพื่อให้เกษตรกรเปิดใจยอมรับ

โมเดลธุรกิจของ‘เทวดา คอร์ป’จะเป็นแพลตฟอร์มการดูแลข้าวที่มีผลผลิตเพิ่มขึ้น ขณะที่ต้นทุนเท่าเดิม ซึ่งเหมาะกับเกษตรแปลงใหญ่ในหลายๆชุมชน ที่มีพื้นที่50 ไร่ขึ้นไป โดยบริษัทตั้งศูนย์บริการ หรือให้เกษตรกรเป็นเจ้าของศูนย์ โดยบริษัทจะถ่ายทอดความรู้ สนับสนุนอุปกรณ์ เทคโนโลยีทุกอย่างเพื่อให้บริหารจัดการชุมชนได้เอง และอีกส่วนหนึ่งสร้างตลาดให้เกษตรกร

ด้วยการ ระดมทุนจากนักลงทุนที่อยากจะลงทุนในแปลงนาของเกษตรกร โดยเทวดา คอร์ปจะทำหน้าที่เป็นผู้บริหารจัดการ นักลงทุนได้ข้าวหรือขายคืนให้บริษัทซึ่งจะมีตลาดรองรับอยู่แล้ว นักลงทุนจะกำไรในส่วนนี้ ขณะที่เกษตรกรทำนาไม่ต้องใช้เงินทุนตัวเองเพราะมีนักลงทุนลงทุนให้ ทำหน้าที่ดูแลไร่นาและมีเทคโนโลยีเข้าไปช่วยทำให้มีรายได้และเวลาไปสร้างรายได้เพิ่มจากงานอื่น

“เราใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมมาช่วยลดความเสี่ยงและบริหารจัดการให้ทุกคนที่เข้ามามีส่วนร่วมในเครือข่ายได้รับผลประโยชน์ร่วมกันแบบWin-Win ”

จากการประเมินตัวเลขในปีนี้ บริษัทจะมีรายได้10 ล้านบาทจากค่าบริการโดรน การจำหน่ายสารชีวภัณฑ์และ ปัจจัยการผลิตต่างๆ เท่านั้นแต่ในปี 2563 รายได้จะเติบโตแบบก้าวกระโดดถึง 500 ล้านบาท เนื่องจากระบบการบริหารจัดการทั้งในการลงทุน การเข้าไปทำงานร่วมกับเกษตรการแปลงใหญ่ ออเดอร์ข้าวจากโรงสี ผู้ซื้อรายย่อย และการพัฒนาอี-มาร์เก็ตเพลสที่เกี่ยวกับสินค้าการเกษตรไม่เฉพาะข้าวเท่านั้น เพื่อให้เกษตรกรสามารถขายตรงให้ลูกค้าได้เสร็จสมบูรณ์

หลังจากในปีที่ผ่านมาเป็นการทดลองตลาด ปีนี้เริ่มพัฒนาระบบการทำนา ปัจจุบันมีเกษตรกรเข้ามาจำนวน70ราย แต่ละรายมีพื้นที่ขั้นต่ำ 20 ไร่ และกำลังขยายตลาดไปยังต่างประเทศ เช่น ประเทศแคเมอรูน ติดต่อเข้ามาเพื่อนำระบบนี้ไปใช้ในประเทศ รวมที่สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวต้องการนำระบบนี้ไปประยุกต์ใช้ในการปลูกข้าว

“อนาคตเราจะเป็นสตาร์ทอัพก้าวเข้าสู่ระดับยูนิคอร์น ที่มีมูลค่าการลงทุนสูงกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์ หรือ 33,000 ล้านบาทในอนาคต มาจากเงินลงทุนในระบบ และเงินจากการขายสินค้าที่อยู่ในอี มาร์เก็ตเพลส ระดับ1,000 ล้านบาท จากตลาดรวมหลายแสนล้านบาท ยังไม่นับตลาดต่างประเทศ ”

---------------------------

จุดเด่นของเทคโนโลยียูเอวี

-ลดเวลาการทำงาน

-ลดต้นทุนแรงงานคน

-ความปลอดภัยต่อผู้ใช้

-เพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน