"ฟาร์มลอยฟ้า"-"กุ้งจากแล็บ"อาหารในอนาคตของสิงคโปร์

"ฟาร์มลอยฟ้า"-"กุ้งจากแล็บ"อาหารในอนาคตของสิงคโปร์

สิงคโปร์ วางแผนสร้างเขตอาหารเกษตรในร่มและสร้างฟาร์มแมลงของประเทศภายในกลางปี 2564

สิงคโปร์ ประเทศเล็กๆที่มีประชากรเพียง 5.6 ล้านคนกำลังปฏิวัติรูปแบบการทำฟาร์มทั้งการเพาะกุ้งในห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ และการปลูกผักชั้นดาดฟ้าของอาคารที่พักอาศัย โดยตั้งเป้าว่าจะผลิตอาหารเหล่านี้ให้มากขึ้นเพื่อเลี้ยงประชากรในประเทศและพึ่งพาอาหารนำเข้าจากประเทศต่างๆให้น้อยลง

ทั้งนี้ สิงคโปร์ ผลิตอาหารในสัดส่วนประมาณ 10% ของปริมาณอาหารทั้งหมดแต่เนื่องจากปัญหาสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงและการเติบโตของประชากรคุกคามแหล่งอาหารทั่วโลก สิงคโปร์จึงตั้งเป้าที่จะผลิตอาหารเพิ่มขึ้นให้ได้ 30% ภายในปี 2573 แต่สิ่งที่ท้าทายความตั้งใจของสิงคโปร์คือ พื้นที่ว่าง โดยปัจจุบัน สิงคโปร์มีพื้นที่ว่างสำหรับทำการเกษตรในสัดส่วนเพียงแค่1% เท่านั้น และต้นทุนการผลิตพืชผักผลไม้สูงกว่าประเทศอื่นๆในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเรื่องนี้สร้างความกดดันแก่บรรดาเกษตรกรหน้าใหม่ในเขตเมืองอย่างมาก เพราะต้องตอบโจทย์รัฐบาลที่เน้นปลูกให้มากลงทุนให้น้อย

“พอเราพูดถึงความมั่นคงด้านอาหารในสิงคโปร์ ผมจะบอกกับบรรดาเพื่อนๆว่า ไม่ต้องคิดเรื่องที่ดิน แต่ให้คิดเรื่องพื้นที่ว่าง เพราะแค่คุณมีพื้นที่ว่างคุณก็จะปลูกพืชผักได้ทั้งในแนวดิ่งและแนวราบ”พอล เต็ง ผู้เชี่ยวชาญพิเศษด้านเกษตรกรรมจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีนันยาง กล่าว

บริษัทซัสเทเนีย อะกริคัลเจอร์ เป็น1ในกลุ่มที่การทำฟาร์มเกษตรในแนวดิ่ง ที่มีอยู่จำนวนกว่า30 แห่งในสิงคโปร์ และในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา มีการทำฟาร์มลักษณะนี้ที่เรียกกันว่าฟาร์มลอยฟ้าเพิ่มขึ้นสองเท่าตัว และเป็นการทำฟาร์มพืชผักและผลไม้ทุกชนิดตั้งแต่ผักเคล มะเขือเทศสีดา และปลูกสตรอว์เบอรีในที่ร่ม และขายผลิตภัณฑ์เหล่านี้ให้แก่ซูเปอร์มาร์เก็ตท้องถิ่น ตลอดจนร้านของชำทางออนไลน์

บริษัทซัสเทเนีย ได้รับเงินสนับสนุน 16 ล้านดอลลาร์ จากหลายบริษัท รวมทั้ง เทมาเส็ก และโกร๊ก เวนเจอร์ ของออสเตรเลียเมื่อปีที่แล้ว ซึ่งบริษัทใช้เงินในส่วนนี้มาขยายธุรกิจในสิงคโปร์ และเปิดตัวธุรกิจนี้ในฮ่องกง นอกจากนี้ เทมาเส็ก ยังจัดหาเงินทุนให้แก่อะพอลโล อะควาคัลเจอร์ กรุ๊ป ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างก่อสร้างบ่อเลี้ยงปลาสูง8ชั้น ที่มีระบบทำงานอัตโนมัติมูลค่า 70 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ ซึ่งอะพอลโล ระบุว่า ฟาร์มรูปแบบใหม่นี้จะช่วยเพิ่มผลผลิตปลากว่า20เท่า จากปัจจุบันที่การเพาะเลี้ยงปลารูปแบบปกติให้ผลผลิตปลาปีละ 110 ตัน

นอกจากการสนับสนุนของบริษัทเทมาเส็กแล้ว รัฐบาลสิงคโปร์ ยังทุ่มงบประมาณ 144 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ไปกับการวิจัยและพัฒนาด้านอาหาร และสนับสนุนเงินทุนแก่บริษัทด้านเกษตรกรรมจำนวน 63 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์เพื่อให้นำเทคโนโลยีมาใช้กับกระบวนการผลิต

สิงคโปร์ วางแผนสร้างเขตอาหารเกษตรในร่มและสร้างฟาร์มแมลงของประเทศภายในกลางปี 2564

“ ขณะนี้บรรดานักลงทุนสนใจการทำเกษตรในเขตเมืองกันมาก ขณะที่แรงกดดันด้านสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาด้านเทคโนโลยีเป็นแรงผลักดันให้เกิดการผลิตอาหารรูปแบบใหม่แก่คนในท้องถิ่น ” อานัจ มเหชวาริ กรรมการผู้จัดการแผนกธุรกิจเกษตรกรรมของเทมาเส็ก กล่าว