'แอร์บัส' ยื้อร่วมทุนบินไทย

'แอร์บัส' ยื้อร่วมทุนบินไทย

"การบินไทย" ลุ้นแอร์บัสยื่นแผนร่วมลงทุนศูนย์ซ่อมอู่ตะเภา 7 มิ.ย.นี้ หลังจากเจรจายืดเยื้อกว่าครึ่งปี เผยแอร์บัสกังวลกฎหมายร่วมลงทุน เล็งนำข้อกังวลแนบท้ายสัญญา พร้อมแจ้งกองทัพเรือเตรียมแผนหากการร่วมลงทุนไม่เกิด

บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ในฐานะหน่วยงานเจ้าของโครงการผู้รับผิดชอบโครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภา (เอ็มอาร์โอ) ได้ออกประกาศเชิญชวนและคัดเลือกเอกชนโดยไม่ใช้วิธีการประมูล แต่ใช้วิธีคัดเลือกแบบเฉพาะเจาะจง ตั้งแต่วันที่ 13 พ.ย.2561 ผลการคัดเลือกพบว่า บริษัท Airbus S.A.S (แอร์บัส) ผ่านคุณสมบัติและมีประสบการณ์เหมาะสมตามที่การบินไทยกำหนดไว้ จนขณะนี้ระยะเวลา 6 เดือนแล้ว แต่กลับพบว่าการดำเนินงานระหว่างการบินไทย และแอร์บัสยังคงไม่ได้ข้อสรุปเพื่อลงนามในสัญญาร่วมลงทุน

นายสุเมธ ดำรงชัยธรรม กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ การบินไทย เปิดเผยว่า หลังจากแอร์บัสมีคุณสมบัติเหมาะสมที่จะเป็นผู้ร่วมลงทุนพัฒนาโครงการนี้ ทำให้การบินไทยได้ยื่นข้อเสนอตามกระบวนการคัดเลือกไปยังแอร์บัส เพื่อให้จัดทำแผนธุรกิจและมาเจรจาการแนวทางการร่วมลงทุน โดยปัจจุบันยอมรับว่าทางแอร์บัสมีข้อกังวลหลายประเด็นที่ตกลงกันไม่ได้ ขณะที่คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) กำหนดให้แอร์บัสต้องยื่นข้อเสนอร่วมทุนภายในวันที่ 7 มิ.ย.นี้

\'แอร์บัส\' ยื้อร่วมทุนบินไทย

นำข้อกังวลแนบท้ายสัญญา

ทั้งนี้ การบินไทยยังมั่นใจว่าจะสามารถยื่นข้อเสนอร่วมทุนให้ กพอ.พิจารณาทันตามกรอบกำหนด เนื่องจากขณะนี้การหารือร่วมกับแอร์บัสถือว่าได้ข้อสรุปไปในระดับหนึ่งแล้ว ประเด็นที่ทางแอร์บัสยังกังวล ก็ได้มีการหารือให้ระบุไว้ในแนบท้ายข้อเสนอการร่วมลงทุน เพื่อทำให้ทั้ง 2 ฝ่ายสามารถเปิดการเจรจากันได้ในภายหลัง แต่หากไม่เริ่มลงนามความร่วมมือก็จะทำให้ขั้นตอนการเจรจาล่าช้าออกไปอีก

สำหรับข้อกังวลที่ทางแอร์บัสมีต่อโครงการนี้ มีหลากหลายประเด็น โดยเฉพาะข้อกฎหมาย เพราะต้องเข้าใจว่าทางแอร์บัสเป็นนักลงทุนต่างชาติที่เข้ามาในไทย ดังนั้นอาจจะไม่เข้าใจในเรื่องของข้อกฎหมาย จึงต้องกังวลเป็นเรื่องปกติ ขณะที่การบินไทยเองมีข้อกังวล เช่น การบริหารต้นทุนเพื่อขอรับเทคโนโลยีจากทางแอร์บัส การค้า และการบริหารจัดการ แต่อย่างไรก็ดี อยากเน้นย้ำว่าการลงทุน MRO ไม่ใช่เรื่องเร่งด่วน ดังนั้นไม่ต้องมีการกำหนดกรอบเวลาให้จบโดยเร็ว แต่จะต้องเจรจาการร่วมทุนให้ชัดเจน

ยืนยันไม่ใช่โครงการเร่งด่วน

นายสุเมธ กล่าวว่า ถ้าหากแอร์บัสยื่นข้อเสนอการร่วมลงทุนศูนย์ซ่อมอู่ตะเภาภายในวันที่ 7 มิ.ย.นี้ การบินไทยและแอร์บัสก็จะต้องเข้าสู่ขั้นตอนเจรจาเพื่อหาข้อสรุปร่วมทุนในหลายประเด็นที่ยังมีความกังวลกันอยู่ แต่เรื่องนี้ไม่ต้องเร่งด่วน เพราะการพัฒนายังต้องใช้เวลาก่อสร้างอีกหลายปี

รวมทั้งตอนนี้ทางกองทัพเรือก็อยู่ระหว่างของบประมาณในการลงทุนโรงซ่อมอากาศยาน (Hangar) ซึ่งต้องใช้เวลาก่อสร้างอย่างต่ำ 3 ปี ดังนั้นแอร์บัสและการบินไทยก็ยังพอมีเวลาในการเจรจา และถ้าแอร์บัสมีเงื่อนไขที่รับไม่ได้ก็คงไม่ได้ไปต่อ และถ้าการบินไทยมีข้อกังวลก็อาจทำให้การบินไทยไม่ไปต่อ

จี้กองทัพเรือเดินหน้าออกแบบ

รายงานข่าวจากกองทัพเรือ (ทร.) เปิดเผยว่า ขณะนี้กองทัพเรือได้เริ่มดำเนินการศึกษา สำรวจและออกแบบโครงสร้างพื้นฐานของศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภาแล้ว ภายหลังได้รับงบประมาณจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อจ้างที่ปรึกษาบริหารโครงการก่อสร้างศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภา และการจ้างที่ปรึกษาบริหารโครงการก่อสร้างทางวิ่งและทางขับที่ 2 วงเงิน 347 ล้านบาท อีกทั้ง ครม.อนุมัติกรอบงบ 6,500 ล้านบาท เพื่อพัฒนาศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภาแล้ว

ขณะที่ทางการบินไทย ซึ่งเป็นเจ้าของโครงการดังกล่าวยังไม่สามารถสรุปรายละเอียดการร่วมลงทุนกับแอร์บัส ซึ่งเป็นผู้รับการคัดเลือกร่วมลงทุน โดยที่ผ่านมากองทัพเรือได้รับหนังสือชี้แจงรายละเอียดของการเจรจาระหว่างการบินไทยและแอร์บัสมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งระบุถึงความต้องการของแอร์บัสที่ขอให้กองทัพเรือลงทุนโครงสร้างพื้นฐานให้พร้อม ทั้งการพัฒนาที่จอดรถ ที่พัก โรงอาหารและลานหลุมจอดอากาศยาน

ชงปรับแบบหากแอร์บัสเมิน

นอกจากนี้ ที่ผ่านมากองทัพเรือได้รับการประสานงานจากทางการบินไทยมา ซึ่งส่วนใหญ่บอกแต่เพียงความต้องการที่แอร์บัสอย่างให้ดำเนินการ เพราะกองทัพเรือรับหน้าที่ในการศึกษาและออกแบบ โดยแอร์บัสได้ชี้แจงความต้องการผ่านการบินไทยมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ภาครัฐดำเนินการ รวมทั้งแอร์บัสต้องการเลือกพื้นที่ที่ดีที่สุดในสนามบินอู่ตะเภา ซึ่งต้องมีถนนใหญ่รองรับ และมีทางเข้า-ออกสะดวกที่สุด

รายงานข่าวระบุ เมื่อไม่นานมานี้ กองทัพเรือ ได้รับหนังสือจากการบินไทย โดยถามถึงความสามารถในการปรับแบบ หรือพัฒนาศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภาเอง ซึ่งการบินไทยชี้แจงว่า หากมีกรณีที่การเจรจากับแอร์บัสไม่ได้ข้อสรุป และทางแอร์บัสไม่ขอร่วมทุนในโครงการนี้แล้ว กองทัพเรือจะสามารถนำแบบก่อสร้างที่อยู่ระหว่างดำเนินการอยู่ไปปรับใช้ รวมทั้งนำพัฒนาเองได้หรือไม่ ซึ่งเรื่องนี้อาจแสดงถึงความไม่ชัดเจนของแอร์บัสและการบินไทยต่อการร่วมทุนโครงการดังกล่าว

ลงทุนระยะแรก6.4พันล้าน

ทั้งนี้ ตามแผนลงทุนของการบินไทยพบว่าโครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานจะดำเนินการบนพื้นที่ประมาณ 210 ไร่ เป็นพื้นที่ของกรมธนารักษ์ที่อยู่ในความครอบครองของกองทัพเรือ โดยแบ่งระยะการลงทุนออกเป็น ระยะแรกช่วงปี 2565-2583 จะลงทุนประมาณ 6,400 ล้านบาท โดยการบินไทยลงทุนเอง 2,000 ล้านบาท ที่เหลือจะเป็นการลงทุนของภาคเอกชน เพื่อใช้ในการก่อสร้างโรงซ่อมบำรุง และจัดซื้ออุปกรณ์

นอกจากนี้จะรองรับการซ่อมบำรุงอากาศยานได้ 80-100 ลำ ตามแผนคาดว่าจะเปิดดำเนินการได้ในปี 2565 มีเป้าหมายสร้างรายได้ในปีแรกอยู่ที่ 400-500 ล้านบาท จากการซ่อมอากาศยาน 10 ลำ และประเมินว่าจะมีการเติบโตของรายได้เฉลี่ยอีกปีละ 2% และในช่วง 50 ปีจะมีรายได้รวม 2 แสนล้านบาท

สำหรับแผนการลงทุนดังกล่าวได้รับการอนุมัติส่งเสริมการลงทุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) แล้วเมื่อเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา ตั้งโครงการที่เมืองการบินภาคตะวันออก จ.ระยอง โดยการบินไทยแจ้งกับบีโอไอว่าโครงการนี้จะยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในด้านการซ่อมบำรุงอากาศยานรุ่นใหม่