'ปิยบุตร' เสนอประชาธิปไตยต้องปรับตัว ยึดหลัก ‘คนเท่ากัน’

'ปิยบุตร' เสนอประชาธิปไตยต้องปรับตัว ยึดหลัก ‘คนเท่ากัน’

"ปิยบุตร" เสนอประชาธิปไตยต้องปรับตัว ยึดหลัก ‘คนเท่ากัน’ ถ้าหยุดนิ่งเสร็จเผด็จการ

เมื่อวันที่ 29 พ.ค.62 นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Piyabutr Saengkanokkul ในการบรรยาย “ประชาธิปไตย (ไม่) สมบูรณ์” ว่าเมื่อวันเสาร์ 18 พ.ค. ผมได้รับเชิญไปบรรยายหัวข้อ “ประชาธิปไตย (ไม่) สมบูรณ์” ระหว่างการจัดกิจกรรมสมัชชาสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ (สกต.) ณ ชุมชนน้ำแดงพัฒนา อ.ชัยบุรี จ.สุราษฎร์ธานี

ผมบรรยายว่า ประชาธิปไตยเป็นโครงการทางการเมืองที่ไม่มีวันสิ้นสุด หลักใหญ่ใจความสำคัญที่ว่าอำนาจสูงสุดเป็นของประชาชนนั้น ประชาชนต้องมีเสรีภาพในการแสดงออกทางความคิดเห็น ถกเถียงกัน และตัดสินใจในเรื่องสาธารณะ ซึ่งการตัดสินใจนี้ต่อไปก็สามารถปรับเปลี่ยนได้แล้วแต่สถานการณ์ นี่คือประชาธิปไตยที่ไม่สมบูรณ์ คือต้องมีการปรับตัวอยู่ตลอดเวลา เพราะถ้าไม่ปรับตัว อยู่นานวันเข้าก็จะกลายเป็นเผด็จการได้

ผมจึงขอยกตัวอย่าง 2 ตัวอย่าง เพื่อจะชี้ให้เห็นว่า ประชาธิปไตยเป็นโครงการใหญ่ ไม่มีวันสิ้นสุด ต้องมีการปรับตัวขยับตัวอยู่ตลอดเวลา

หนึ่งเรื่องรัฐสวัสดิการที่เกิดขึ้นในยุโรปตะวันตก ซึ่งมีที่มาจากระบบทุนนิยมที่มองแล้วว่าต้องแบ่งเรื่องนี้ให้กับอีกฝ่ายก่อนที่จะมีการลุกฮือขึ้นนั้น ตอนนี้เริ่มมีความคิดใหม่ที่ไปไกลกว่าเรื่องรัฐสวัสดิการแล้ว นั่นคือการประกันให้กับประชาชนทั้งหมด หมายความว่าเมื่อเกิดมาในฐานะเป็นพลเมืองของประเทศนี้ จะได้เงินเดือนขั้นต่ำทุกคน

ระบบดังกล่าวนี้ก็มองกันว่าจะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของคนตั้งแต่ต้น เกิดมาแล้วได้เงินเดือน และได้ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์คืน สามารถที่จะตัดสินใจที่จะเลือกงานได้ เพราะไม่ต้องกังวลเรื่องเงินเดือนการครองชีพ ได้ลองผิดลองถูก ลองเปลี่ยนงานไปทำในสิ่งที่ตัวเองชอบให้ดีที่สุด และในอนาคต ความคิดหรือนิยามของคำว่าการทำงานจะเปลี่ยนใหม่ทั้งหมด แม่บ้านที่ต้องลาออกจากงานประจำมาอยู่บ้าน ดูแลลูก ดูแลบ้าน อย่างนี้ก็จะถูกนับว่าเป็นงานหรือไม่ หรืออย่างตนนั่งรถจากสนามบินมาถึงที่นี่ราว 3 ชั่วโมง นั่งคิดว่าจะต้องมาพูดอะไรบ้าง อย่างนี้เป็นงานหรือไม่ เพราะที่ผ่านมามีงานจำนวนมากที่อยู่ในชีวิตประจำวันของเรา แล้วไม่ถูกนับให้เป็นรายได้ มนุษย์ทุกคนทำงานทุกวัน

การปรับตัวตลอดเวลาอีกอย่างที่ทางตะวันตกเริ่มคิดขึ้นจากที่ถูกมองว่าการเลือกตั้งไม่เสมอภาค โดยมองว่าการเลือกตั้งนั้น สุดท้ายคนที่มีเงินมากกว่า มีสื่อในมือ ก็ชนะเลือกตั้งมากกว่าคนอื่น และสมาชิกสภาก็จะเป็นชนชั้นนำหน้าเดิมๆ คนไม่กี่คนสลับกันเข้าไปนั่งในสภา เป็นคณาธิปไตยแบบหนึ่ง

ดังนั้นจึงมีการเสนอเรื่อง “สภาพลเมือง” ขึ้น ซึ่งถ้าเชื่อเรื่องคนเท่ากันจริง ก็สามารถจับสลากคนมาทำหน้าที่ได้ ยกตัวอย่างเช่น วุฒิสภาที่ทำหน้าที่กลั่นกรอง ตรวจสอบ แทนที่จะใช้การแต่งตั้ง ลองมาใช้ระบบจับสลาก กำหนดมีวาระคนละ 2 ปี ใครต้องการทำหน้าที่นี้มาลงชื่อ ถึงเวลาก็จับสลากได้รายชื่อไปทำงาน อย่างนี้ก็จะทำให้ได้คนหน้าใหม่ๆ จากกลุ่มอาชีพที่หลากหลาย จะได้ไม่ต้องถกเถียงกันเรื่องซื้อเสียง เรื่องอิทธิพล หรือในท้องถิ่น นอกจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) จะมีผู้บริหารท้องถิ่นและสภาท้องถิ่นแล้ว ก็อาจตั้งสภาพลเมือง ให้คนในท้องถิ่นลงทะเบียนไว้แล้วจับสลากกันเข้ามาเป็นสมาชิกสภาพลเมือง ทำหน้าที่ตรวจสอบและสะท้อนปัญหาให้ อปท. ถ้าเชื่อเรื่องคนเท่ากัน นี่คือความเสมอภาค จับสลากเวียนกันเป็น นี่คือความคิดใหม่ๆ ของประชาธิปไตยที่มนุษย์คิดค้นขึ้น