'พปชร.-ปชป.' ศึกชิงกระทรวงเกษตรฯ ส่องนโยบายหาเสียง

'พปชร.-ปชป.' ศึกชิงกระทรวงเกษตรฯ ส่องนโยบายหาเสียง

การตั้งรัฐบาลไม่ลงตัว ท่ามกลางกระแสการแย่งชิง "กระทรวงเกษตรฯ" ระหว่าง 2 พรรคใหญ่ "พปชร.-ปชป." ส่องนโยบายหาเสียง

ทุ่มหาเสียง“เกษตรกร” ชูราคาพืชผล-แก้หนี้

การเกษตรและการแก้ปัญหาความยากจนเป็นนโยบายสำคัญของหลายพรรคที่ใช้หาเสียงมาตลอด โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติรายงานภาวะการทำงานเดือน ก.พ.2562 มีแรงงานภาคเกษตร 10.58 ล้านคน ถือเป็นแรงงานกลุ่มใหญ่ที่สุดของประเทศ

นายกรณ์ จาติกวณิช รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่านโยบายเศรษฐกิจของพรรคมุ่งตามกรอบ “แก้จน สร้างคน สร้างชาติ” ซึ่งจะแก้ปัญหาเศรษฐกิจฐานรากที่ใช้นโยบายที่คล้ายช่วงที่พรรคเป็นรัฐบาลเมื่อ 7–8 ปี ที่ผ่านมา โดยเน้นที่ นโยบายประกันรายได้พืช 5 ชนิด คือ ข้าว ยาง ข้าวโพด ปาล์ม และมันสำปะหลัง ซึ่งคำนวณจากต้นทุนของเกษตรกรบวกกับกำไรที่ควรได้

นอกจากนี้ ประเด็นที่ดินทำกินเป็นเรื่องสำคัญ ที่จะสนับสนุนให้นำเอกสาร สปก.ไปเป็นหลักประกันกับสถาบันการเงินเพื่อค้ำประกันเงินกู้ รวมทั้งสนับสนุนการทำงานของธนาคารที่ดินและจัดสรรที่ดินทำกินผ่านนโยบายโฉนดสีฟ้าของพรรคให้เกิดขึ้นจริง

ด้านการดูแลกลุ่มผู้มีรายได้น้อยซึ่งเป็นกลุ่มที่ปัจจุบันถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ซึ่งปชป.มีนโยบายที่จะเพิ่มเงินในส่วนนี้ให้เป็น 800 บาทต่อเดือน และให้ถอนเงินไปซื้อโดยไม่จำกัดแค่ร้านธงฟ้า

นายอุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ กล่าวว่า นโยบายของพรรคที่ได้เปิดตัวไปเป็นกรอบนโยบาย 7:7:7 มีส่วนที่เกี่ยวข้องกับนโยบายเศรษฐกิจหลายด้านได้แก่ ในด้านการเกษตรพรรคสนับสนุนนโยบายเกษตรประชารัฐ 4.0 โดยปรับโครงสร้างภาคเกษตร ด้วยนโยบาย “3 เพิ่ม 3 ลด” คือเพิ่มรายได้ เพิ่มนวัตกรรม และเพิ่มทางเลือกในการเพาะปลูก การดำเนินอาชีพ ส่วนที่ลด 3 เรื่องได้แก่ลดต้นทุน ลดภาระหนี้ และลดต้นทุนของเกษตรกร

\'พปชร.-ปชป.\' ศึกชิงกระทรวงเกษตรฯ ส่องนโยบายหาเสียง

นโยบายด้านเศรษฐกิจฐานรากพรรคได้ให้ความสำคัญกระจายรายได้และกระจายโอกาสในการท่องเที่ยวในชุมชน เพื่อให้ประชาชนมีรายได้เพิ่มจากการท่องเที่ยวชุมชน รวมทั้งเพิ่มนโยบายสวัสดิการคนเมือง ซึ่งคนเมืองที่ยังเป็นคนที่มีรายได้น้อย แต่มีภาระค่าใช้จ่ายสูง ไม่ว่าจะเป็นค่าเดินทาง ค่าที่พัก ค่าเล่าเรียนบุตร นโยบายแก้ปัญหาหนี้เพิ่มเงินออม และช่วยค่าเล่าเรียนบุตร