สทนช.เร่งผุดแผนหลักจัดการน้ำ

สทนช.เร่งผุดแผนหลักจัดการน้ำ

สทนช. จับมือ บริษัท ทีม และจุฬาฯ ร่วมบูรณาการทุกภาคส่วนจัดทำแผนพัฒนาบริหารจัดการทรัพยากรน้ำกลุ่มลุ่มน้ำเจ้าพระยาใหญ่ มั่นใจจะได้แผนหลักภายใน ก.พ.63

นายนิวัฒน์ ภาตะนันท์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นประธานกล่าวเปิดการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 1 (ปฐมนิเทศโครงการ) โครงการศึกษาเพื่อจัดทำแผนหลักการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ กลุ่มลุ่มน้ำเจ้าพระยาใหญ่ โดยมี นายปรีชา สุขกล่ำ ที่ปรึกษาด้านบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวรายงานวัตถุประสงค์ของโครงการ เพื่อนำเสนอแนวคิดและขั้นตอนในการจัดทำแผนหลักการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ กลุ่มลุ่มน้ำเจ้าพระยาใหญ่ ให้ทุกภาคส่วนได้รับทราบ พร้อมรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะ โดยมีผู้เข้าร่วมการประชุม ประกอบด้วยคณะกรรมการลุ่มน้ำ ผู้แทนหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย สื่อมวลชน และประชาชนในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ลุ่มน้ำสะแกกรัง ลุ่มน้ำป่าสัก และลุ่มน้ำท่าจีน จำนวนกว่า 120 คน ณ ห้องสุวรรณภูมิ โรงแรมวรบุรี อยุธยา รีสอร์ท แอนด์ สปา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา


นายนิวัฒน์ ภาตะนันท์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา กล่าวว่า ที่ผ่านมา พื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ประสบปัญหาเรื่องน้ำ ทั้งท่วมและแล้ง โดยเฉพาะน้ำท่วมที่เกิดซ้ำซากและมีแนวโน้มระดับความรุนแรงเพิ่มขึ้น ซึ่งสร้างความเสียหายต่อพื้นที่ชุมชน เกษตรกรรม อุตสาหกรรม รวมทั้งชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน อีกทั้ง เวลาฝนตกกลับประสบปัญหาในการเก็บกักน้ำได้น้อย ทำให้ในช่วงแล้ง ปริมาณน้ำใช้มีไม่เพียงพอต่อความต้องการ

นอกจากนี้ ยังพบปัญหาคุณภาพน้ำ ที่เป็นปัญหาใหญ่ต่อคุณภาพชีวิตของประชาชนและพื้นที่เพาะปลูกอีกด้วย ซึ่งการจัดประชุมปฐมนิเทศโครงการในครั้งนี้ จะเป็นจุดเริ่มต้นของการศึกษาโครงการ เป็นการสะท้อนปัญหาและความต้องการของประชาชนในพื้นที่ได้อย่างแท้จริง และหวังเป็นอย่างยิ่งว่า เมื่อศึกษาโครงการครบ 1 ปี ผลการศึกษาที่ได้จะนำไปสู่แผนงานในการแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำในพื้นที่ได้อย่างยั่งยืน


ด้าน นายปรีชา สุขกล่ำ ที่ปรึกษาด้านบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ สทนช. กล่าวว่า พื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยามักเกิดสถานการณ์อุทกภัยรวมถึงภัยแล้งซ้ำซากหลายครั้ง และมีแนวโน้มความถี่ในการเกิดซ้ำมากขึ้น ซึ่งกระทบกับประเทศทั้งด้านเศรษฐกิจ อุตสาหกรรม สังคม สิ่งแวดล้อม และการท่องเที่ยว รวมทั้งคุณภาพชีวิตของประชาชน ขณะเดียวกัน ปัจจัยจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ในภูมิภาคเอเชีย ยังกลายเป็นปัญหาหลักต่อการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาที่มีประสิทธิภาพต่อไปในอนาคตอีกด้วย


ดังนั้น สทนช. ในฐานะองค์กรหลักด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศ ได้บูรณาการในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยร่วมกับกลุ่มบริษัทที่ปรึกษา ได้แก่ บริษัท ทีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์ แมเนจเมนท์ จำกัด (มหาชน) และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดำเนินการจัดทำแผนหลักในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำกลุ่มลุ่มน้ำเจ้าพระยาใหญ่ และแผนปฏิบัติการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 5 ปี ซึ่งสอดคล้องตามแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ 20 ปี (พ.ศ.2561-2580) ที่อยู่ภายใต้แผนยุทธศาสตร์ชาติ

สำหรับแนวทางการดำเนินการโครงการศึกษาเพื่อจัดทำแผนหลักการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ กลุ่มลุ่มน้ำเจ้าพระยาใหญ่ คาดว่าจะใช้ระยะเวลาการดำเนินงาน 1 ปี โดยจะเร่งศึกษาและจัดทำรายงานแผนหลักการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำแบบบูรณาการในพื้นที่โครงการ ซึ่งจะครอบคลุม 10 ลุ่มน้ำ ประกอบด้วย ลุ่มน้ำแม่น้ำสาละวิน ลุ่มน้ำโขงเหนือ ลุ่มน้ำปิง ลุ่มน้ำวัง ลุ่มน้ำยม ลุ่มน้ำน่าน ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ลุ่มน้ำสะแกกรัง ลุ่มน้ำป่าสัก และลุ่มน้ำท่าจีน พื้นที่รวม 195,026.43 ตารางกิโลเมตร หรือ 121.99 ล้านไร่ ให้มีประสิทธิภาพ รวมถึงจัดทำรายงานการบริหารจัดการน้ำและแผนป้องกันและแก้ไขภาวะน้ำแล้ง ภาวะน้ำท่วม คุณภาพน้ำ โดยจัดทำแบบจำลองทางคณิตศาสตร์อย่างครอบคลุม จัดทำทะเบียนแหล่งน้ำและทางน้ำ จัดทำผังน้ำแสดงระบบทางน้ำสายหลักทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ ควบคู่ไปกับการสำรวจและวิเคราะห์ข้อมูลที่เกี่ยวข้อง ที่มุ่งเน้นการบริหารจัดการน้ำเชิงพื้นที่ให้สามารถเร่งรัดดำเนินการได้ทันที นอกจากนี้ยังจัดให้มีการประชาสัมพันธ์การมีส่วนร่วมของประชาชนตลอดระยะเวลาการดำเนินการด้วย


“สทนช. คาดว่าจะสามารถจัดทำแผนหลักในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ กลุ่มลุ่มน้ำเจ้าพระยาใหญ่ และแผนปฏิบัติการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 5 ปี ที่บูรณาการแนวทางแก้ไขปัญหาวิฤติการณ์น้ำได้อย่างยั่งยืน ให้แล้วเสร็จภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2563 พร้อมทั้งจะเร่งรัดการดำเนินการในโครงการที่มีความพร้อมในทันที อันจะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง และปัญหาคุณภาพน้ำ ที่เกิดผลสัมฤทธิ์สูงสุดได้อย่างรวดเร็ว และตรงกับความต้องการของประชาชนในพื้นที่ได้อย่างแท้จริง หวังให้เป็นต้นแบบต่อยอดขยายผลไปใช้เป็นทิศทางในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำอื่นๆ ต่อไป” นายปรีชา สุขกล่ำ ที่ปรึกษาด้านบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ สทนช. กล่าว


ทั้งนี้ ในการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 1 (ปฐมนิเทศโครงการ) โครงการศึกษาเพื่อจัดทำแผนหลักการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ กลุ่มลุ่มน้ำเจ้าพระยาใหญ่ จะดำเนินการเปิดเวทีอีก จำนวน 2 ครั้ง เพื่อรับฟังความคิดเห็นให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ลุ่มน้ำ ในวันที่ 30 พฤษภาคม 2562 ณ โรงแรมไอยรา แกรนด์พาเลซ จังหวัดพิษณุโลก และ วันที่ 31 พฤษภาคม 2562 ณ โรงแรมคุ้มภูคำ จังหวัดเชียงใหม่