Garden Fresh สปินออฟสู่สตาร์ทอัพนวัตกรรม

Garden Fresh สปินออฟสู่สตาร์ทอัพนวัตกรรม

“ถุงยืดอายุรักษ์โลก” หรือ Garden Fresh ผลงานการพัฒนาร่วมของ 2 สถาบัน เปิดทางสปินออฟสู่สตาร์ทอัพนวัตกรรม ระบุพลาสติกชีวภาพ 100% ยืดอายุผักผลไม้สด 2-10 เท่า ตอบโจทย์เกษตรกรและการส่งออก

โจทย์วิจัยเริ่มจาก “อภิตา บุญศิริ” นักวิจัยจากศูนย์เทคโลยีหลังการเก็บเกี่ยว ภาควิชาพืชสวน คณะเกษตรกำแพงแสน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่เห็นปัญหาของเห็ดฟางที่มีอายุการเก็บรักษาสั้นมาก ไม่ว่าจะในตู้เย็นหรือนอกตู้เย็น เมื่อหมดสภาพก็ไม่สามารถนำไปประกอบอาหาร จึงนำโจทย์มาหา “อนงค์นาฏ สมหวังธนโรจน์” จากภาควิชาวิศวกรรมเคมี คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ทำงานวิจัยด้านพลาสติกอยู่แล้ว

จากโจทย์ดังกล่าวนำมาสู่การพัฒนาถุงพลาสติกชีวภาพ 100% โดยจุฬาฯ คุณสมบัติพิเศษอยู่ที่การพัฒนาสูตรถุงฯ ที่ช่วยการไหลเวียนของออกซิเจนภายในถุงให้มีในปริมาณที่พืชต้องการ เพื่อคงความสด แต่ไม่มากจนเกิดเป็นหยดน้ำ ซึ่งเกิดกับถุงพลาสติกธรรมดา เนื่องจากผักผลไม้เป็นสิ่งมีชีวิตที่มีการหายใจ คายน้ำตลอดเวลา ทำให้เน่าเสียหรือขึ้นราง่าย

“พลาสติก Garden Fresh จะดูดซับความชื้น ควบคุมอัตราการหายใจของพืช โดยลดปริมาณออกซิเจนภายในบรรจุภัณฑ์ แต่ไม่ต่ำเกินไปเพื่อป้องกันการหมักที่ทำให้ผักผลไม้เสียรสชาติ ในขณะเดียวกัน เมื่อเราวิจัยต่อเนื่องพบว่า ผักและผลไม้มีความต้องการต่างกัน จึงพัฒนาถุงพลาสติกชีวภาพนี้ออกมา 2 สูตรสำหรับผัก ส่วนผลไม้ก็แยกมาอีกสูตรต่างหาก” อนงค์นาฏ กล่าว

ถุงการ์เดนเฟรชสำหรับผลไม้ นอกจากจะมีคุณสมบัติเหมือนถุงสำหรับผัก ที่ช่วยคงความสดและยืดอายุการเก็บรักษาได้ 2-10 เท่า ยังมีคุณสมบัติพิเศษในการดูดซับก๊าซเอทิลีน ซึ่งเป็นฮอร์โมนก๊าซที่ทำให้ผลไม้สุก เพื่อชะลอการสุกให้ช้าลง และยังต้องรับน้ำหนักผลไม้ได้มาก มีความเหนียวแต่ฉีกง่าย การทดสอบเริ่มจากเห็ดฟางที่มีอายุเพียง 1 วันสามารถรักษาความสดเป็น 7 วัน ถือว่าประสบความสำเร็จในการทดสอบ ต่อมาก็ได้ส่งออกไปยังบรูไนในปี 2558 และยังได้ทดสอบและได้ผลดีกับมะม่วงน้ำดอกไม้ ใบมะกรูด ถั่วฝักยาว ข้าวโพดฝักอ่อน ตะไคร้ พริกขี้หนู ผักกาดหอม มะนาว มะเขือเทศ กระเทียมปอกเปลือก หอมแดงปอกเปลือก ฯลฯ ที่สำคัญ เมื่อทิ้งฝังกลบสามารถย่อยสลายได้ทางชีวภาพภายใน 6 เดือน

“อย่างไรก็ดี เราประสบความสำเร็จในการวิจัยทดสอบระดับห้องปฏิบัติการเมื่อ 4 ปีที่แล้ว แต่การที่จะผลิตออกสู่ตลาดนั้นจำเป็นต้องขยายกำลังการผลิต ซึ่งตอนนี้เราพร้อมแล้วที่จะออกสู่เชิงพาณิชย์ โดยสปินออฟสู่บริษัทสตาร์ทอัพในชื่อ “การ์เดน เฟรช” (Garden Fresh) โดยมีจุฬาฯ ร่วมถือหุ้นด้วย” อนงค์นาฏ กล่าว

“การ์เดน เฟรช” รับถ่ายทอดเทคโนโลยีจากจุฬาฯ ในช่วงปลายปี 2561 ดังนั้น การทำงานในปี 2562 จะเน้นการทดลองตลาดโดยผลิตแจกล็อตแรก 2 แสนใบ ซึ่งจะพร้อมในเดือน ก.ค. ให้ทดลองใช้และฟีดแบคกลับมา ผ่านทุนสนับสนุนโครงการสนับสนุนเร่งการเติบโตของธุรกิจนวัตกรรมรายใหม่ในอุตสาหกรรมเป้าหมาย (Research Gap Fund) ของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ก่อนจะเริ่มทำตลาดจริงในช่วงไตรมาส 4 ที่จะถึงนี้ อีกทั้งได้รับรางวัลเหรียญทองจากเวทีนิทรรศการและการประกวดสิ่งประดิษฐ์นานาชาติ ครั้งที่ 4 นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส โดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) สนับสนุนนำนักวิจัยเดินทางไปร่วมงาน


อภิตาในฐานะที่ปรึกษาบริษัทสตาร์ทอัพ กล่าวว่า แม้ปัจจุบันราคาถุงพลาสติกชีวภาพจะยังแพงกว่าถุงทั่วไปถึง 3 เท่า แต่ก็เริ่มมีผู้สนใจติดต่อเข้ามาแล้ว โดยกลุ่มเป้าหมายในช่วงแรกจะเน้นที่ B2B ไม่ว่าจะเป็น ผู้ส่งออกผักผลไม้ เกษตรกร เนื่องจากอายุการเก็บรักษาผลผลิตให้สดนานขึ้นจะเป็นโอกาสให้ขายได้มากขึ้นด้วย ขณะที่ผู้ส่งออกจะมีต้นทุนภาษีการกำจัดบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่ต้องแบกรับ หากเปลี่ยนมาใช้ถุงพลาสติกชีวภาพสำหรับผลผลิตทางการเกษตร ก็จะลดค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ไปได้ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้มีกลุ่มเกษตรอินทรีย์สนใจจะนำนวัตกรรมนี้ไปใช้จริง และรอให้ขายอยู่แล้ว ในขณะที่กลุ่มส่งออกผักผลไม้ หากต้องการตรารับรอง ต้องใช้เวลาและงบประมาณหลักล้านบาท ซึ่งต้องขึ้นอยู่กับเอกชนที่ต้องการใช้ อาจลงขันร่วมกันหรือหน่วยงานภาครัฐสนับสนุน

“นวัตกรรมเช่นนี้ทางต่างประเทศพัฒนาแล้ว แต่เหมาะกับพืชผลเมืองหนาว เราจึงเป็นรายแรกสำหรับใช้กับผลผลิตเมืองร้อน ทำให้สามารถทำตลาดได้ทั้งในกลุ่มอาเซียน อินเดียและจีนตอนใต้ ที่จะเป็นกลุ่มเป้าหมายต่อไป” อนงค์นาฏ กล่าว