สถิติ 'ทีแคส' สะท้อนเทรนด์เด็กรุ่นใหม่ ความอยู่รอดของมหาวิทยาลัยไทย

สถิติ 'ทีแคส' สะท้อนเทรนด์เด็กรุ่นใหม่ ความอยู่รอดของมหาวิทยาลัยไทย

สถิติ "ทีแคส" สะท้อนเทรนด์เด็กรุ่นใหม่ ความอยู่รอดของมหาวิทยาลัยไทย

ประกาศผลเป็นที่เรียบร้อย สำหรับ "ทีแคส" หรือการรับสมัครบุคคลเข้าศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษา ประจำปีการศึกษา 2562 รอบ4 แอดมิชชั่นส์ ไปเมื่อเวลา 18.00 น.ของวานนี้ (28 พ.ค.2562) ซึ่งปีนี้ถือเป็นปีแรกที่หน่วยงานรับสมัคร อย่างที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ได้มีการจัดทำสถิติการรับสมัครทีแคส ไว้เพื่อเป็นข้อมูลในการวิเคราะห์จำนวนผู้เรียน มีความสอดคล้องกับที่นั่งในมหาวิทยาลัยหรือไม่.. และมหาวิทยาลัยไทยควรปรับตัวอย่างไรต่อไป

เมื่อย้อนกลับไปดูการรับสมัครเด็กเข้ามหาวิทยาลัยไทยนั้น สัดส่วนระหว่างที่นั่งในมหาวิทยาลัยกับเด็กที่ต้องการเข้าเรียน คงเรียกได้ว่า ต้องแย้งชิงกัน เพราะอดีตจำนวนที่นั่งในมหาวิทยาลัยมีจำนวนจำกัดเกินกว่าที่จะรับเด็กทุกคนเข้าเรียนได้ แตกต่างกัน 1-2 ปีที่ผ่านมาอย่างสิ้นเชิง

จากข้อมูลการรับสมัคร "ทีแคส" ปีการศึกษา 2561 ปีแรกของการเปลี่ยนระบบมาเป็นทีแคส และมีเหตุการณ์วุ่นวายเกิดขึ้นจนเกิดกระแส #เด็ก61 #หนูทดลอง พบว่า ยอดสมัครและที่นั่งว่างในแต่ละรอบนั้น มีเหลือเฟือให้เด็กได้เลือกคณะ มหาวิทยาลัยตามที่ตนเองต้องการ แถมมีให้เลือกถึง 5 รอบ โดยรอบ 1 แฟ้มสะสมงาน (Portfolio) ซึ่งมีการเปิดรับ 2 รอบ ได้แก่ รอบที่ 1/1 เปิดรับ 107,765 คน สมัคร 134,859 คน ยืนยันสิทธิ์ 39,847 คน รอบที่ 1/2 เปิดรับ 60,726 คน สมัคร 64,828 คน ยืนยันสิทธิ์ 25,476 คน ส่วนรอบที่ 2 โควตา รับ 140,437 คน สมัคร 357,252 คน ยืนยันสิทธิ 51,896 คน รอบที่ 3 รับตรงกลางร่วมกัน รับ 95,124 คน มีจำนวนผู้สมัคร 119,871 คน ยืนยันสิทธิ์ 108,121 คน รอบที่ 4แอดมิชชั่น รับ 119,484 ที่นั่ง ยืนยันสิทธิ 44,476 คน และรอบที่5 รับตรงอิสระ ซึ่งมหาวิทยาลัยจะดำเนินการรับตรงเอง ไม่มีการแจ้งตัวเลขมายังทปอ.

ขณะที่ยอดสมัคร ทีแคส ปีการศึกษา 2562 นั้น พบว่าตั้งแต่รอบที่ 1 แฟ้มสะสมงาน (Pofolio) รับ 129,247 คน สมัคร 134,723 คน ยืนยันสิทธิ 58,364 คน คิดเป็น 44.85% รอบที่ 2 โควต้า รับ 99,320 ยืนยันสิทธิ 51,213 คน คิดเป็น 51.71% รอบที่ 3 รับตรงร่วมกัน รับ 95,124 คน สมัคร 119,871 คน ยืนยันสิทธิ 111,068 คน คิดเป็น 44% และรอบที่4 แอดมิชชั่น รับได้ 122,523 ที่นั่ง ยืนยันสิทธิ 69,440 คน และผ่านการคัดเลือกและเข้าสอบสัมภาษณ์ได้จำนวน 52,315 คน ส่วนรอบที่ 5 รับตรงอิสระ ซึ่งมหาวิทยาลัยจะดำเนินการรับตรงเอง และขณะนี้ยังไม่ได้เปิดรับ จึงไม่มีตัวเลขที่ชัดเจน

หากพิจารณาตัวเลขของที่นั่งว่างในมหาวิทยาลัย และเด็กสมัครเข้าเรียน ยืนยันสิทธิ ในปีการศึกษา 2561 สรุปเบื้องต้นได้ว่า มีที่นั่งในมหาวิทยาลัย รวมกัน 4 รอบ จำนวน 523,538 ที่นั่ง และจำนวนเด็กที่สอบเข้ามหาวิทยาลัย ยืนยันสิทธิ 269,816 คน แต่ทั้งนี้ จำนวนที่นั่งอาจจะมีความซ้ำซ้อนกันได้ และเด็กที่ยืนยันสิทธิอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงในภายหลัง ดังนั้น ตัวเลขระหว่างที่นั่งในมหาวิทยาลัยและจำนวนเด็กเข้าเรียน เป็นเพียงการประมาณการเท่านั้น แต่ก็สามารถสะท้อนให้เห็นว่า ขณะนี้เด็กไทย เทรนด์การเข้าเรียนต่อมหาวิทยาลัยอาจจะไม่ได้รับการนิยมอย่างที่ผ่านมา อีกทั้งมหาวิทยาลัยอาจจะไม่ได้เป็นความใฝ่ฝัน เป้าหมายของเด็กไทยอีกต่อไป

เช่นเดียวกัน การรับสมัครทีแคส ปี 2562 ที่กำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้ ถึงจะยังไม่สิ้นสุด แต่ที่นั่งในมหาวิทยาลัยกับจำนวนเด็กที่ต้องการเข้าเรียน ก็สวนทางกัน เมื่อที่นั่งเพิ่มขึ้น เด็กกลับลดลง อย่างที่ นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย เคยออกมากล่าวเตือนว่า มหาวิทยาลัยควรมีการปรับตัวอย่างมาก เพราะดูจากจำนวนนักศึกษาที่รับสมัครผ่านระบบ TCAS 61 ซึ่งมีการรับสมัคร 5 รอบ พบว่าจำนวนนักศึกษาน้อยกว่าจำนวนที่นั่งที่มหาวิทยาลัยจะรับ อีกทั้งในแต่ละรอบมีการสละสิทธิ์จำนวนมาก ถือเป็นเรื่องที่น่ากลัวสำหรับมหาวิทยาลัยไทย เพราะหากจำนวนนักศึกษาน้อยลงเรื่อยๆ และหลักสูตรไม่ได้มาตรฐานต่างชาติ ไม่มีนักศึกษาต่างชาติเข้าเรียน มหาวิทยาลัยจะเจอวิกฤต

ล่าสุด ทปอ.ได้มีการจัดทำข้อมูล หรือ บิ๊กดาต้า (BigData) ทีแคส ปีการศึกษา 2562 เพื่อศึกษาและใช้เป็นข้อมูลในการวัดสถิติจำนวนผู้เรียน ผู้สมัคร และที่นั่งในมหาวิทยาลัย รวมถึง คณะ สาขา ที่ได้รับความสนใจ เทรนด์ในการเลือกคณะเรียนของเด็กในยุคปัจจุบัน ที่สำคัญมหาวิทยาลัยไทยจะได้นำข้อมูลเหล่านี้ ไปปรับปรุงหลักสูตร การเรียนการสอน และกำหนดทิศทางอนาคตของมหาวิทยาลัยต่อไป

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา มีการวิพากษ์วิจารณ์ระบบการคัดเลือกการรับสมัครบุคคลเข้ามหาวิทยาลัยหลายต่อหลายครั้ง ด้วยเหตุที่มีการปรับเปลี่ยนระบบใหม่ๆ เพื่อลดการวิ่งรอกสอบ ความเหลื่อมล้ำระหว่างเด็กจนกับเด็กรวย ให้มีโอกาสเข้ามหาวิทยาลัยได้เช่นเดียวกัน แต่ตอนนี้ด้วยกระแสของคนรุ่นใหม่ ไม่ยึดติดกับการเข้าเรียนมหาวิทยาลัย เพราะต่อให้อยู่เมืองไทยก็อาจจะเข้าเรียนมหาวิทยาลัยต่างชาติได้ หรือคุณภาพของมหาวิทยาลัยไทยเอง ที่เป็นตัวตัดสิน เป็นเหตุผลที่ทำให้เด็กไทยอยากเข้าเรียนหรือไม่

หลังจากนี้..คงต้องติดตามสถานการณ์ ระบบการคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัยว่ายังคงมีความจำเป็นหรือไม่ และจะออกมาในรูปแบบใด สถิติที่ทปอ.กำลังเก็บรวบรวมจะช่วยให้มหาวิทยาลัย ไทยอยู่รอดหรือไม่ อย่างไร????????