ไม่ใช้ 'ส.ส.งูเห่า' โหวตนายกฯ 'บิ๊กตู่' ต้องยอมแลก

ไม่ใช้ 'ส.ส.งูเห่า' โหวตนายกฯ 'บิ๊กตู่' ต้องยอมแลก

พรรคพลังประชารัฐ ผ่านศึกยกแรก กับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร นัดแรก เพื่อเลือก ประธานสภาผู้แทนราษฎร-รองประธานสภา ไปได้แบบหืดจับ

 เพราะการรวมเสียงที่ไม่ทิ้งขาด จาก 7 พรรคร่วมฝั่งเพื่อไทย ทำให้การทำงานในสภาฯ นั้น ต้องใช้การวางแผน ค่ายกลที่แก้เกม และสร้างแต้มต่อ แบบนาทีต่อนาที

ด่านต่อไปจากนี้ คือ การฟอร์มเสียง พรรคที่คาดว่าจะ จัดตั้งรัฐบาล ร่วมกัน ทั้งกับ พรรคภูมิใจไทย พรรคประชาธิปัตย์ พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคชาติพัฒนา พรรคพลังท้องถิ่นไท พรรครวมพลังประชาชาติไทย และพรรคเล็กๆ คือ เกมที่ต้องชิงไหวพริบ และฝ่าด่านสุดเขี้ยวจากบรรดาพรรคที่ได้ชื่อว่า “เก๋าที่สุด” ไปให้ได้

อย่างน้อยต้องเป็นฝ่ายที่ชนะเสียง จาก 7 พรรคร่วมเพื่อไทย ที่ตอนนี้แพ็คเสียงรวมกัน มีถึง 244 เสียง เบื้องต้นสิ่งที่ “พรรคพลังประชารัฐ” ต้องยอมแลก คือ การให้เก้าอี้รายกระทรวง เพื่อเป็นสัญญาใจแลกกับการเข้าร่วมรัฐบาล รวมถึงเสียงสนับสนุนให้ คนของพรรคพลังประชารัฐ ที่ชูเป็น “นายกฯ” ได้รับตำแหน่งประมุขฝ่ายบริหาร

แม้ว่าขั้นตอนของการโหวต “นายกฯ” นั้น ไม่จำเป็นต้องใช้ “เสียง ส.ส.งูเห่า” จากการแปรพักตร์ จาก 7พรรคฝั่งเพื่อไทย เพราะขอแค่มีเสียงหนุนเพียง 126 เสียง ก็พอ เพราะเมื่อรวมเข้ากับเสียง ส.ว. 250 คน ที่มาจากการแต่งตั้งโดยคสช. จะทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไปถึงฝั่งฝันได้ทันที

เพราะตามรัฐธรรมนูญในบทเฉพาะกาล มาตรา 272 กำหนดให้การโหวตนายกฯ ต้องใช้ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา ที่ประกอบด้วย ส.ส.​500 คน และ ส.ว.250 คน ส่วนผลโหวตขั้นต่ำที่กำหนดให้ บุคคลที่ถูกเสนอชื่อเป็นนายกฯ คือ เสียงที่มากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดที่มีอยู่ของสองสภา ที่มียอดรวม 750 เสียง หมายถึง ต้องชนะโหวต 376 เสียงขึ้นไป

เมื่อรวมตัวเลขที่ “พรรคกลุ่มพลังประชารัฐ” ซึ่งคาดว่าจะร่วมรัฐบาลด้วยกัน จำนวน 256 เสียง จึงถือว่ามากพอแล้ว หรือหากพรรคใด ไม่ยอมรับ แคนดิเดตนายกฯ​ จาก พรรคพลังประชารัฐ เขาก็มี พรรคเล็กๆ ที่พร้อมสนับสนุน ไม่ต่ำกว่า 20 เสียงสนับสนุน เมื่อรวมกับ ส.ส.พลังประชารัฐที่มี 120 เสียงก็เพียงพอที่จะแพ็คกับ “ส.ว.” ส่ง “พล.อ.ประยุทธ์” เป็นนายกฯ​ต่อ

และแม้ “ส.ส.งูเห่า” ​ไม่จำเป็นในยกนี้ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า เพื่อให้ “รัฐบาลหนสอง” ของ “บิ๊กตู่” มีเสถียรภาพ และบริหารราชการแผ่นดินได้ยาวสักหน่อย “แกนจัดตั้งรัฐบาล” ต้องยอมเสีย “โควตา”​กระทรวงเกรดเอ ให้กับ พรรคอื่น โดยเฉพาะพรรคสุดเขี้ยว อย่าง “ประชาธิปัตย์ และ ภูมิใจไทย” ที่แพ็คเสียงรวมกันได้เกิน 100 เสียง ซึ่งตั้งเงื่อนไข กุมพรรคละ 7 เก้าอี้

หาก “แกนจัดตั้งรัฐบาล” ​ยอมรับเงื่อนไข แน่นอนว่า ความมั่นคงของรัฐบาลบิ๊กตู่ พอจะมีให้เห็นอยู่บ้าง แต่อย่าลืมว่าภายใต้ ประชาธิปไตยระยะเปลี่ยนผ่าน อำนาจทางทหาร ต้องถูกลดบทบาท ดังนั้นจึงเป็นจังหวะที่ “เกมในสภาหินอ่อน” ได้เปรียบ