วว. หนุนเอกชน พัฒนากัญชาส่งออก ตปท.

วว. หนุนเอกชน พัฒนากัญชาส่งออก ตปท.

วว. ลงนามเอ็มโอยูร่วมกับเอกชน หนุนการวิจัย และพัฒนาด้านการศึกษาวิจัยกัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ ขายในประเทศและต่างประเทศ เล็งส่งออก แคนาดา อเมริกา ยุโรป พร้อมดึงวิสาหกิจชุมชนปลูกกัญชาออแกนิค เสริมรายได้

เมื่อวันที่ 27 พ.ค.62 นางชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กล่าวในพิธีลงนามความร่วมมือระหว่าง วว. และ บริษัท โรงงานเภสัชอุตสาหกรรม เจเอสพี (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ส่งเสริมสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาด้านการศึกษาวิจัยกัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ว่า วว. พร้อมใช้องค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม พัฒนากระบวนการสกัดสารสำคัญในกัญชา ได้แก่ THC (Tetrahydrocannabinol) และ CBD (Cannabidiol) ความบริสุทธิ์สูงในระดับห้องปฏิบัติการและระดับอุตสาหกรรม (Pilot scale) รวมถึงพัฒนาวิธีวิเคราะห์ สำหรับการควบคุมคุณภาพ และประกันคุณภาพ เพื่อสามารถออกเอกสาร Certificate of Analysis (COA) ของสารสกัดกัญชา ตามข้อกำหนดของ อย. ของประเทศเป้าหมาย

“เนื่องจากกัญชาเป็นเรื่องที่มีความสำคัญมากในด้านปริมาณสาร มีทั้งโทษและคุณ ดังนั้น นักวิจัยจะต้องระมัดระวังเป็นอย่างมากในการสกัด การร่วมมือในครั้งนี้จึงมีกรอบระยะเวลา 3 ปี ในการศึกษาวิจัยและพัฒนากรรมวิธีสกัดสารออกฤทธิ์โดยวิธีต่างๆ และการแยกสารบริสุทธ์ที่มีฤทธิ์ทางยา (Active pharmaceutical ingredients, API) จากกัญชาในระดับห้องปฏิบัติการ เนื่องจากด้านการผลิตอาจมีการปนเปื้อน หากเราสร้างเทคโนโลยีป้องกันทำให้สารบริสุทธิ์ จะสามารถช่วยให้นำกัญชามาใช้ประโยชน์ได้มาก โดยหลังจากนี้ต้องแจ้งความประสงค์ในการวิจัยไปยังสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) การทำงานทุกอย่างจะต้องอยู่ในการกำกับดูแลให้มีความปลอดภัยสูงสุด ภายใต้ขั้นตอนทางกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างถูกต้อง” นางชุติมา กล่าว

นายสิทธิชัย แดงประเสริฐ ประธานกรรมการบริหารบริษัท โรงงานเภสัชอุตสาหกรรม เจเอสพี (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า เนื่องจากบริษัทฯ มีความเชี่ยวชาญในการผลิตยาแผนปัจจุบันและแผนโบราณ โรงงานได้มาตรฐาน GMP pic/s และมาตรฐาน ISO 9001 : 2005 เรามุ่งเน้นที่จะผลักดันกัญชาเข้าสู่ตลาดยาแผนโบราณ และการพัฒนายาจากสมุนไพร แต่การจะก้าวถึงการเป็นสารสกัดทางยาได้ ต้องมีองค์ความรู้ในเรื่องกระบวนการสกัด ซึ่ง วว. สามารถช่วยเราในด้านองค์ความรู้ เทคโนโลยี ตั้งแต่กระบวนการสกัดในห้องปฏิบัติการ หลังจากนั้นบริษัทจะนำไปผลิตในเชิงอุตสาหกรรม แต่การจะก้าวไปสู่จุดนั้นได้ต้องได้รับการอนุญาตจากทาง อย. และความร่วมมือกับภาครัฐ เช่น วว. ที่มีเทคโนโลยีขั้นสูงในการสนับสนุนการผลิต

เนื่องจากกัญชา สามารถสกัดสารไปทำยาได้หลากหลาย ดังนั้น การผลิตต้องดูความต้องการของตลาดทั้งในประเทศไทย ซึ่งมีตำรับยา 16 ตำรับ ทางบริษัทฯ จะใช้ทั้ง ต้น ดอก ใบ ในการเอาเข้าตำรับ ผสมกับยาแผนไทยอื่นๆ ครอบคลุมการรักษาหลายโรค และการสกัดสารบริสุทธิ์เพื่อส่งออกต่างประเทศ ซึ่งต้องดูความต้องการของแต่ละประเทศ รวมถึง กฎหมายอนุญาตให้นำเข้ากัญาชาได้ แต่สิ่งที่เน้นคือ กัญชาที่เป็นเกรดทางการแพทย์ เพราะฉะนั้น กลุ่มประเทศเป้าหมายจึงได้แก่ ประเทศแคนาดา อเมริกา และยุโรป ซึ่งกฎหมายเปิด รวมถึงเป็นประเทศที่มีการพัฒนาด้านยาไปไกลกว่าไทยมาก ด้วยความมุ่งมั่นเพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการเติบโตของตลาดโลกด้านการเป็นแหล่งผลิต

นายสิทธิชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า “เมืองไทยน่าสนใจ คือ ด้วยความที่กัญชาเป็นพืชกลุ่มเมืองร้อน และมีเกษตรกรที่มีองค์ความรู้ มีความสามารถ เรามีแดด มีลม มีอุณภูมิที่เหมาะสม และแน่นอนเราต้องพัฒนาสายพันธุ์ให้สามารถผลิตสารสำคัญทางยาได้ ดังนั้น กระบวนการปลูก ทางบริษัทฯ จึงได้ทำความร่วมมือกับ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี โดยมีคณะเกษตรฯ ช่วยให้องค์ความรู้เรื่องการปลูก ควบคุมคุณภาพ และวิทยาลัยแพทย์แผนไทย ช่วยเรื่องการเข้าตำรับยา ขณะนี้ ทางราชมงคลธัญบุรี ได้ยื่นขออนุญาตครอบครอง ผลิต กับทาง อย. เรียบร้อยแล้ว ตั้งเป้าหมายการปลูกอยู่ที่ 20 กิโลกรัมต่อเดือน รวมถึงเดินหน้าร่วมกับเกษตรกรและวิสาหกิจชุมชน เพื่อช่วยในการปลูกภายใต้แปลงขนาดใหญ่ โดยเฉพาะวิสาหกิจชุมชนที่มีความสามารถปลูกแบบปลอดสาร หรือ ออแกนิค ซึ่งจะเป็นตัวช่วยให้เกษตรกรเข้าถึงการปลูกพืชที่มีมูลค่าสูง และทางบริษัทฯ ยา สามารถผลิตยาราคาไม่แพง ทำให้ประชาชนเข้าถึงได้ง่าย”

“ประตูคือ อย. องค์ความรู้คือ วว. และทางบริษัทฯ เอง ก็มีเป้าหมายในการร่วมมือกับภาครัฐหลายหน่วยงาน ซึ่งมีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน รวมถึงเครือข่ายเอกชนอื่นๆ เช่น การขาย การส่งออก ซึ่งต้องดูในระยะยาว 5 ปีขึ้นไปกว่าจะเห็นภาพชัดเจน แต่วันนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญในการใช้สมุนไพรกัญชาอย่างจริงจัง” นายสิทธิชัย กล่าว

ด้าน นายประเสริฐ พลายอินทร์ ประธานวิสาหกิจชุมชน อ.ละแม จ.ชุมพร ตัวแทนจากภาคเกตรกรกล่าวว่า ทางกลุ่มวิสาหกิจชุมชนซึ่งจดทะเบียนก่อตั้งมาตั้งแต่ 2553 เพื่อส่งเสริมการปลูกพืช สมาชิกส่วนใหญ่ปลูกปาล์มน้ำมัน ยางพารา ซึ่งไม่มีราคา ทำให้เกษตรกรลืมตาอ้าปากไม่ได้ ดังนั้น หากกัญชาเดินไปได้ ก็จะสามารถเสริมให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นจากเดิม

“เราพยายามจะรวบรวมเกษตรกรที่มีรายได้น้อยให้เข้าร่วมเพื่อให้มีรายได้เพิ่มขึ้น ซึ่งใช้เวลารวบรวมประมาณ 1 เดือน ตอนนี้มีสมาชิก 300 กว่าคนที่สนใจปลูกกัญชาเพื่อการแพทย์ เรามีเป้าหมายในการผลิตกัญชาให้ได้ประสิทธิภาพ เพื่อสกัดยาที่มีคุณภาพ ไร้สารปนเปื้อน ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนปรึกษากับสมาชิกถึงกระบวนการผลิตอย่างไรให้ปลอดสาร โดยการนำดินมาหาเชื้อปนเปื้อน แต่ต้องศึกษากันอีกพอสมควร อย่างไรก็ตาม เรามีสมาชิกที่ปลูกกล้วยหอมทองส่งออกญี่ปุ่นมากว่า 25 ปี ดังนั้น การพัฒนาศักยภาพเกษตรกรน่าจะเป็นไปได้ไม่ยากที่จะทำกัญชาออแกนิค”

“จากการคำนวณคร่าวๆ คาดว่าพื้นที่การปลูกจะอยู่ที่ราวๆ 3,000 ไร่ ทั่ว อ.ละแม โดยให้สมาชิกปลูกในพื้นที่ของตนเอง และคาดว่าสมาชิกจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตอนนี้หลายคนเริ่มเข้าใจถึงระบบกัญชา เพราะกัญชาเป็นยาชนิดหนึ่งที่สามารถรักษาโรคได้ ล่าสุด ทางบริษัท เจเอสพี ได้เมล็ดพันธุ์มาจากสุราษฎ์ธานีเพื่อทดลองปลูก ซึ่งปัญหาตอนนี้ คือ ต้องทดสอบว่าแต่ละสายพันธุ์สามารถปลูกข้ามภูมิภาคได้หรือไม่ เช่น จากสกลนคร ปลูกภาคใต้ได้หรือไม่ เพราะเมล็ดหายาก จากที่ทดลองปลูกพบว่า พันธุ์หางกระรอกของไทย ดีกว่าพันธุ์อื่น ในส่วนนี้ต้องศึกษาทดลองกันต่อไป” นายประเสริฐ กล่าวทิ้งท้าย