โรลส์ รอยซ์แนะร่วมมือสิงคโปร์ เสริมจุดแข็งเอ็มอาร์โอ

โรลส์ รอยซ์แนะร่วมมือสิงคโปร์ เสริมจุดแข็งเอ็มอาร์โอ

การผลักดันเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ถูกกำหนดให้มีการลงทุนศูนย์ซ่อมอากาศยานอู่ตะเภา โดยเป็นการพัฒนาควบคู่ไปกับเมืองการบินภาคตะวันออก ซึ่งจะรองรับอุตสาหกรรมการบินในเอเชียแปซิฟิคที่มีแนวโน้มขยายตัวมาก

 โดยปี 2561 มีการคาดการณ์การใช้จ่ายในอุตสาหกรรมการซ่อมบำรุงอากาศยานอยู่ 22,000 ล้านดอลลาร์ และปี 2571 จะเพิ่มเป็น 42,000 ล้านดอลลาร์ หรือเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 6.5% สูงกว่าภูมิภาคอื่น

ฮิวจ์ วนิชประภา กรรมการผู้จัดการ บริษัท โรลส์ รอยซ์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า จากนโยบายส่งเสริมให้ไทยเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมซ่อมบำรุงอากาศยาน(เอ็มอาร์โอ) ในภูมิภาคนี้ถือได้ว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้อง เนื่องจากไทยมีจุดแข็งหลายประการในอุตสาหกรรมนี้ ได้แก่ 1. ประเทศไทยมีนักท่องเที่ยวเข้ามาใช้บริการสนามบินเป็นจำนวนมาก มีนักท่องเที่ยวเข้ามาในไทยเกือบ 40 ล้านคนต่อปี สูงที่สุดในอาเซียน ทำให้มีเครื่องบินเข้ามาเยอะทำให้มีการซ่อมบำรุงมากตามไปด้วย ทำให้ไทยมีฐานลูกค้าใหญ่มาก
2. ไทยมีสายการบินที่เชี่ยวชาญในการซ่อมบำรุงมานาน เช่น การบินไทย บางกอกแอร์เวย์ เป็นต้น โดยเฉพาะการบินไทยมีประสบการด้านนี้ถึง 60 ปี ทำให้มีความเชี่ยวชาญบำรุงรักษาดูแลเครื่องบินที่หลากหลายทั้งขนาดใหญ่และเล็ก สามารถซ่อมได้ทั้งระดับเล็กและใหญ่ ในเครื่องบินของการบินไทย แต่ไม่ครบทุกรุ่น โดยเครื่องบินที่ในเอเชียใช้ส่วนใหญ่การบินไทยซ่อมบำรุงได้

โรลส์ รอยซ์แนะร่วมมือสิงคโปร์ เสริมจุดแข็งเอ็มอาร์โอ

“การบินไทยมีมาตรฐานการซ่อมบำรุงสูงทุกประเทศยอมรับ และยังเป็นสายการบิน 1 ใน 2 ของอาเซียนที่มีห้องทดสอบเครื่องยนต์ ซึ่งในอาเซียนมีเพียงที่ไทยและสิงคโปร์ ภายหลังการซ่อมแล้วสามารถทดสอบประสิทธิภาพเครื่องยนต์ได้ทันที ไม่ต้องส่งไปทดสอบต่างประเทศ ”

ส่วนจุดอ่อนของไทย จะเป็นเรื่องของภาษาอังกฤษ เพราะช่างซ่อมบำรุงเครื่องบินจะต้องสื่อสารพูดและเขียนภาษาอังกฤษที่ดี เพราะในธุรกิจการบินจะมีมาตรฐานความปลอดภัยสูง ดังนั้นการสื่อสารภาษาอังกฤษไม่ใช่แค่รู้เรื่อง แต่ต้องเข้าใจในหลักการ สามารถนำมาพัฒนาทักษะฝีมือเพิ่มขึ้น โดยในช่วง 3-5 ปี จะมีปัญหาในเรื่องนี้มาก แต่คาดว่าในอีก 5-10 ปี ปัญหาด้านภาษาจะดีขึ้น

นอกจากนี้ สถาบันการศึกษาของไทยในด้านอากาศยานทั้งระดับอาชีวะ และมหาวิทยาลัย ยังขาดแคลนเครื่องไม้เครื่องมือในการศึกษา เนื่องจากเครื่องยนต์เครื่องบินมีราคาแพงมากนับพันล้านบาท อุปกรณ์ซ่อมบำรุงต่างๆ ก็มีราคาแพง ทำให้สถาบันการศึกษาเข้าถึงลำบาก ทำให้การเรียนการสอนขาดประสิทธิภาพ เพราะไม่ได้สัมผัสกับของจริง

ส่วนประเทศที่มีศักยภาพด้านการซ่อมบำรุงอากาศยานสูงอีกประเทศก็คือสิงคโปร์ ที่มีจุดแข็งในเรื่องของการศึกษาด้านวิศวกรการบิน และด้านภาษาที่สูงกว่า บุคลากรมีระเบียบวินัย มีจิตวิญญาณในเรื่องความปลอดภัยสูง ซึ่งสิ่งนี้เป็นเรื่องสำคัญในอุตสาหกรรมการบิน แต่ยังมีจุดอ่อนในเรื่องของการขาดแคลนบุคลากรระดับช่างเทคนิค มีแต่บุคลากรด้านวิศวกร ในขณะที่ไทยมีพร้อมทั้ง 2 ด้านนี้ และยังผลิตเพิ่มเติมได้อีกในอนาคต

นอกจากนี้ รัฐบาลสิงคโปร์ยังได้ให้การสนับสนุนในอุตสาหกรรมการบินมาก ให้การยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสูงสุดถึง 15 ปี ในขณะที่ไทยให้สูงสุดเพียง 13 ปี รวมทั้งยังมีการอุดหนุนด้านการเงินหลายด้าน

“แม้ว่าสิงคโปร์จะมีจุดแข็งในเรื่องคุณภาพของบุคลากร แต่มองว่าไทยมีความเหนือกว่าในเรื่องของนวัตกรรม สิงคโปร์มีความเด่นในเรื่องระบบระเบียบ แต่ไทยเด่นด้านความคิดสร้างสรรค์ แต่ไทยจะต้องนำระบบมาครอบการทำงาน เพื่อให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ที่ถูกต้อง นำไปใช้ได้จริง ซึ่งเด็กไทยที่จบการศึกษาในขณะนี้มีศักยภาพสูงไม่น่าเป็นห่วง แต่จะต้องส่งเสริมให้เด็กเหล่านี้เข้าถึงโอกาส”

ฮิวจ์ กล่าวว่า ในขณะนี้มีหลายประเทศรวมทั้งไทยประกาศที่จะเป็นศูนย์กลางด้านซ่อมบำรุงอากาศยานในภูมิภาคนี้ แต่ส่วนตัวมองว่าไม่มีประเทศใดสามารถเป็นศูนย์กลางทุกอย่างที่แท้จริงได้ จะเป็นแต่เพียงศูนย์กลางในอุตสาหกรรมนี้เฉพาะด้าน โดยไทยและสิงคโปร์ก็มีจุดแข็งและจุดอ่อนที่ต่างกัน แต่สามารถเกื้อหนุนกันได้ เช่น ในเรื่องของอากาศยาน การบินไทยเด่นที่สุดในภูมิภาคนี้
ในภูมิภาคนี้ไทยเทียบเท่าสิงคโปร์ ทั้ง 2 ประเทศทำได้ดีเป็นสายการบินระหว่างทวีป และสนามบินสุวรรณภูมิ ดอนเมือง และสิงคโปร์ เป็นสนามบินระดับโลก สามารถเป็นศูนย์กลางการซ่อมบำรุงอากาศยานได้ เพราะมีลูกค้าอยู่แล้ว มีเครื่องบินแอร์บัส 380 ที่ใหญ่ที่สุดในโลกมาลงเป็นอันดับต้นๆ ของโลก

โดยไทยควรจะเน้นการเป็นศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานเครื่องบินลำตัวใหญ่ที่บินระหว่างประเทศ และระหว่างทวีป เพราะเครื่องบินแบบนี้บินเข้ามาลงที่ไทยมาก ซึ่งหากไปเน้นเครื่องบินขนาดเล็กที่เน้นเส้นทางบินที่ไม่ไกลมากก็จะแพ้จีน เพราะมีเครื่องบินแบบนี้เป็นพันลำ แต่ถ้าเป็นเครื่องบินลำตัวใหญ่หากซ่อมบำรุงก็จะมาที่ไทย และสิงคโปร์ ซึ่งไทยสู้สิงคโปร์ในเรื่องนี้ได้

“มองว่าไทยกับสิงคโปร์ควรร่วมมือกันในธุรกิจนี้ จะทำให้มีความแข็งแกร่งเอาชนะทุกประเทศในเอเชียได้ เพราะทั้ง 2 ประเทศมีจุดแข็งและจุดอ่อนมาเสริมซึ่งกันและกันได้ดี ดังนั้นรัฐบาลควรจะหารือร่วมมือกับสิงคโปร์ ซึ่งไทยมีจุดเด่นในเรื่องของพื้นที่ ที่สิงคโปร์ไม่สามารถขยายได้อีกแล้ว”

รัฐบาลสามารถส่งเสริมอุตสาหกรรมนี้ได้ด้วยการออกไปดึงบริษัทผลิตชิ้นส่วนเครื่องบินระดับโลกให้เข้ามาตั้งในไทย เพราะจะทำให้ไทยได้เทคโนโลยีเร็วที่สุด, สนับสนุนบริษัทผลิตชิ้นส่วนอากาศยานที่อยู่ภายในประเทศ และรัฐบาลควรจะเข้าไปเจรจากับบริษัทเจ้าของเทคโนโลยีเข้าไปร่วมลงทุนประมาณ 50% ของโครงการลงทุน เพื่อจูงใจ