สงครามการค้าฉุดดาวโจนส์ดิ่งกว่า200จุด

สงครามการค้าฉุดดาวโจนส์ดิ่งกว่า200จุด

ดัชนีดาวโจนส์ ปิดตลาดวันพฤหัสบดี (23พ.ค.)ปรับตัวลงกว่า 200 จุด ท่ามกลางความวิตกเกี่ยวกับข้อพิพาททางการค้าระหว่างสหรัฐและจีน นอกจากนี้ ตลาดยังถูกกดดันจากการเปิดเผยตัวเลขเศรษฐกิจที่ซบเซาของสหรัฐในวันนี้

ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ ร่วงลง 286.14 จุดหรือ 1.11% ปิดที่ 25,490.47 จุด ดัชนีเอสแอนด์พี 500  ร่วงลง 34.03 จุดหรือ 1.19% ปิดที่ 2,822.24  จุด และดัชนีแนสแด็ก ร่วง 122.56 จุดหรือ 1.58% ปิดที่ 7,628.28 จุด

นายเกา เฟิง โฆษกกระทรวงพาณิชย์จีน กล่าวว่า การดำเนินการทางด้านการค้าของสหรัฐในระยะนี้กำลังเป็นอุปสรรคขัดขวางการเจรจาการค้ากับจีน ซึ่งถ้าสหรัฐต้องการให้การเจรจาการค้าดำเนินต่อไป สหรัฐจะต้องมีความจริงใจในการแก้ไขการกระทำที่ผิดพลาด หลังจากนั้น การเจรจาจึงจะเกิดขึ้นได้

นายเกาไม่ได้ระบุรายละเอียดเกี่ยวกับการดำเนินการด้านการค้าดังกล่าวของสหรัฐ อย่างไรก็ดี คำกล่าวของนายเกามีขึ้น หลังจากที่สหรัฐขึ้นบัญชีดำบริษัทหัวเว่ย เทคโนโลยี ทำให้บริษัทไม่สามารถซื้อสินค้าจากสหรัฐ และสหรัฐยังได้เพิ่มการเรียกเก็บภาษีต่อสินค้านำเข้าจากจีนวงเงิน 2 แสนล้านดอลลาร์ สู่ระดับ 25% จากเดิมที่ระดับ 10%

นอกจากนี้ สหรัฐเตรียมพิจารณาเพิ่มบัญชีรายชื่อบริษัทจีนที่จะถูกขึ้นบัญชีดำ โดยประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์กำลังพิจารณาที่จะขึ้นบัญชีดำบริษัทจำหน่ายกล้องวงจรปิดรายใหญ่ 5 รายของจีน ซึ่งรวมถึงบริษัทฮิกวิชัน ดิจิทัล เทคโนโลยี และ บริษัทต้าหัว เทคโนโลยี ด้วยข้อหากระทำการละเมิดสิทธิมนุษยชน

นายไมค์ ปอมเปโอ รมว.ต่างประเทศสหรัฐ ยืนยันว่า บริษัทหัวเว่ย เทคโนโลยีทำงานให้รัฐบาลจีน แม้บริษัทจะปฏิเสธเรื่องนี้มาตลอดก็ตาม

นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์สหรัฐ รายงานว่า ยอดขายบ้านใหม่ร่วงลง 6.9% ในเดือนเม.ย. เมื่อเทียบรายเดือน สู่ระดับ 673,000 ยูนิต หลังจากพุ่งแตะระดับ 723,000 ยูนิตในเดือนมี.ค. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนต.ค.2550 โดยยอดขายบ้านลดลงในทุกภูมิภาค ยกเว้นภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งพุ่งขึ้น 11.5%

นักวิเคราะห์คาดการณ์ก่อนหน้านี้ว่ายอดขายบ้านใหม่จะลดลง 2.8% สู่ระดับ 675,000 ยูนิตในเดือนเม.ย.

ขณะที่ไอเอชเอส มาร์กิต ซึ่งเป็นบริษัทให้บริการข้อมูลทางการเงิน เปิดเผยว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (พีเอ็มไอ) รวมภาคการผลิต และภาคบริการเบื้องต้นของสหรัฐ ปรับตัวลงสู่ระดับ 50.9 ในเดือนพ.ค. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 36 เดือน หลังจากแตะระดับ 53.0 ในเดือนเม.ย.

การปรับตัวลงของดัชนีพีเอ็มไอในเดือนพ.ค.ได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของคำสั่งซื้อใหม่ และการจ้างงาน ขณะที่ความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจแตะระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนก.ค.2555